Articles Book Review

Book review: การมีส่วนร่วมของประชาชนในการยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต

นายสมเกียรติ นากระโทก

Zero Tolerance and Clean Thailand เป็นวิสัยทัศน์ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและปราบปราม        การทุจริต ระยะที่ 3 (2560-2564) มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วน ปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลผ่านกลไก “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต”

หนังสือเริ่มต้นจากการบอกเล่าถึงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนเพื่อต่อต้านการทุจริตว่า “เจตจำนง” นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อฐานคิดที่ประชาชนจะมุ่งมั่นตั้งใจ สร้างสรรค์ ตัดสินใจแก้ปัญหาร่วมกับรัฐและสนับสนุนติดตามผลการทำงานขององค์กรรวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นเรื่อง “การสื่อสาร” ในสองประเด็นคือ 1) เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและกระบวนการดำเนินงาน 2) ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องได้รับการแจ้งรายละเอียดของนโยบาย-โครงการที่จะดำเนินการและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ เอกสารสิ่งพิมพ์, website, application รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล เสนอความเห็นในกระบวนการตัดสินใจนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ เช่น opinion survey, focus group หรือ public consultation เป็นต้น รวมทั้งนำเสนอผลการสำรวจและประมวลความคิดเห็นเกี่ยวกับระดับของเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้าน       การทุจริตจากประชาชนใน 5 คำถาม มีใจความโดยสรุปว่าการรณรงค์ไม่ให้คนขายเสียงนั้นเป็นสิ่งจำเป็นในการปลูกฝังค่านิยมต่อต้านการทุจริตคอรับชั่นที่ใกล้ตัวที่สุด ที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพราะการซื้อขายเสียงจะส่งผลร้ายกับสังคมและกระทบเป็นลูกโซ่ไปทุกมิติ การเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันเสมอเนื่องจากเป็นผลประโยชน์ที่ประชาชนพึงจะได้รับจากรัฐในการจัดสรรทรัพยากร ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนทุกคนต้องให้ความสนใจรวมทั้งสิทธิ เสรีภาพและความยุติธรรม นอกจากนี้การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบนักการเมือง งบประมาณและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ของประชาชนเพื่อพัฒนาให้เกิดความเข้าใจในระบบการเมือง เสริมเจตนำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต           ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบการเมือง ระบบราชการที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไปในอนาคต

บทถัดมาเป็นนำเสนอนานาทัศนะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริตของผู้ทรง คุณวุฒิที่เผยแพร่ผ่าน DOPA Channel ของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 4 คน ซึ่งให้มุมมองและแง่คิดที่หลากหลายต่อการแสดงเจตจำนงทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น เจตจำนงคือการแสดงเจตนา การแสดงความตั้งใจแต่การเขียนหรือการพูดเป็นสิ่งที่ทำง่ายแต่ในทางปฏิบัติยาก การใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นผลพวงมาจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงส่งผลกระทบเป็น “วงจรอุบาทว์” ในระยะยาวจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการแก้ไขปัญหานี้และท้าทายหน่วยงานที่รับผิดชอบพอสมควร หรือกรณีผลการศึกษาที่ชี้ชัดว่าเราจะยอมรับได้หรือไม่ว่าถ้ามีการทุจริตคอรัปชันแต่ว่าทำงานได้สำเร็จลุล่วง “สิ่งเหล่านี้หรือประเด็นนี้ไม่ควรเป็นเรื่องที่สังคมไทยจะต้องยอมรับได้ และผลการศึกษาจะต้องไม่สะท้อนตามแบบสอบถามนั้นๆ ถึงแม้จะเป็นบริบทแบบสังคมไทยก็ตาม”

ในบทสุดท้ายของหนังสือนำเสนอนโยบายด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตของพรรคการเมือง 25 พรรคโดยก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคการเมืองได้ประกาศนโยบายการบริหารประเทศ รวมทั้งนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่างๆ เช่น ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ทำงานด้วยความโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงและทุจริตคอรัปชัน สร้างมาตรฐานการเมืองใหม่บนหลักจริยธรรม เปิดเผยข้อมูล การพัฒนาสถาบันทางการเมือง การส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้มีกระบวนการทำงานที่รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นการรวบรวมนโยบายของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกผู้แทนราษฎรหลังจากการเลือกตั้งแล้ว เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลและติดตามตรวจสอบว่าพรรคการเมืองนั้นๆ ได้ดำเนินการตามที่ประกาศไว้มากน้อยแค่ไหน อันจะแสดงออกถึงการมีเจตจำนงทางการเมืองของพรรคการเมือง และการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตของประชาชน 

สรุปส่งท้าย หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอผลงานของ ป.ป.ช. ที่จะส่งสารให้ผู้อ่านได้เข้าใจ 3 ประเด็น คือ ความสำคัญของเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต และการนำเสนอนโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของพรรคการเมือง ซึ่งหนังสือนำเสนอเนื้อหาสาระอย่างครบถ้วนที่ประชาชนพึงรู้ การมีส่วนร่วมในเจตจำนงทางการเมือง รวมทั้งข้อมูลและนโยบายของพรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้ง            ได้ทิ้งประเด็นไว้อย่างน่าสนใจและย้ำว่าการกระตุ้นเตือนและเสริมสร้างให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในทางการเมือง                  และยกระดับเจตจำนงทางการเมืองนั้นจะช่วย “จุดพลัง” ในการต่อต้านการทุจริตให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น  

บรรณานุกรม

การมีส่วนร่วมในการยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต. (2564). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: