จัดโดย สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
Konrad-Adenauer-Stiftung (KAS)
และ Institute of Democratization Studies (IDS)
————————————————————————————–

เมื่อวันพุธที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ ณ ห้องประชุมประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า ทางด้านสถาบันพระปกเกล้า และด้วยความร่วมมือจาก สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา Konrad-Adenauer-Stiftung (KAS) และ Institute of Democratization Studies (IDS) ได้จัดกิจกรรมร่วมกันคือ เวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “รัฐธรรมนูญ และระบบเลือกตั้งในเยอรมนี” เพื่อเป็นการบรรยายให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสาธารณะในประเด็นของการออกแบบและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเยอรมันหรือที่เรียกว่า “basic law” (กฎหมายพื้นฐาน) วิทยากรในครั้งนี้ Dr. Celine-Agathe Caro, Dr. Katja Gelinsky และ Tobias Montag จะมาช่วยนำเสนอมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องของระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของเยอรมัน รวมถึงระบบเลือกตั้งของเยอรมันที่ถือเป็นต้นแบบให้แก่อีกหลายประเทศทั่วโลกด้วยเช่นกัน
เวทีสาธารณะครั้งนี้ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการด้วยการกล่าวต้อนรับโดย คุณพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ยินดีเนื่องในโอกาสของวันประชาธิปไตยสากล ประกอบกับการใกล้เข้ามาของวันเลือกตั้งของเยอรมันในวันที่ ๒๖ กันยายนที่จะมาถึง ซึ่งต้องขอยอมรับว่าระบบเลือกตั้งของเยอรมนีนั้นสร้างเสถียรภาพให้การเมืองเยอรมันได้เป็นอย่างดี และต้องขอขอบคุณวิททยาในวันนี้ทั้ง Dr. Katja Gelinsky และ Tobias Montag จาก Konrad-Adenauer-Stiftung (KAS) รวมถึงผู้ร่วมจัดงานในวันนี้และผู้เข้าร่วมรับฟังในวันนี้ด้วยเช่นกัน หลังจากนั้น คุณนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ได้กล่าวขอบคุณความร่วมมือผู้ร่วมจัดงานทั้งห้าหน่วยงานที่มีซึ่งมีพันธกิจในการให้ความรู้ด้านวิชาการ ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา Konrad-Adenauer-Stiftung (KAS) และ Institute of Democratization Studies (IDS) ที่ได้ร่วมมือกันเผยแพร่ความรู้เพื่อสนับสนุนด้านนิติบัญญัติ เพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องหลักรัฐธรรมนูญนิยม ทางวุฒิสภาเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งจากการได้รับประสบการณ์ตรงจากประเทศเยอรมันที่เป็นประเทศซึ่งได้มีพัฒนาการทางการเมืองจนมีความตั้งมั่น และความรู้ดังกล่าวจะได้นำมาเพื่อพัฒนารัฐธรรมนูญของไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศไทยต่อไป
ต่อเนื่องจากนั้นจึงเป็นบทกล่าวต้อนรับและเปิดสัมมนาโดย ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ประเด็นสำคัญอยู่ที่เรื่องของภารกิจของสถาบันพระปกเกล้าในการร่วมปฏิรูปประเทศผ่านโครงการออกแบบการจัดทำรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางคำถามใหญ่ของวันนี้คือ ระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ตัวแทนจะช่วยสะท้อนความต้องการของประชาชนทุกหมู่เหล่าได้มากเพียงใด ทั้งนี้ประเทศเยอรมันถือเป็นกรณีศึกษาที่ดี เนื่องจากมีประสบการณ์ทางการเมืองจนกระทั่งนำมาสู่โครงสร้างทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีระบบเลือกตั้งอันสะท้อนความต้องการของประชาชนจนกลายเป็นต้นแบบของการออกแบบรัฐธรรมนูญของไทยเช่นกันตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงฉบับล่าสุด ไทยเองก็มีพัฒนาการทางรัฐธรรมนูญมาตลอดอันได้รับอิทธิพลจากระบบเลือกตั้งของเยอรมัน ตั้งแต่ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่มีปัญหาเรื่องเสียงส่วนน้อยที่สูญหาย จนเกิดการออกแบบระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่สะท้อนสัดส่วนเสียงทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่นำระบบจัดสรรปันส่วนมาใช้แม้ว่าจะเป็นแบบบัตรใบเดียวซึ่งขณะนี้กำลังแก้ไขอยู่ก็ตาม ดังนั้นแล้วสำหรับงานสัมมนาในวันนี้ ท่านเลขาธิการจึงมองว่าบทเรียนในงานสัมมนาธารณะวันนี้จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจถึงวิธีการออกแบบระบบเลือกตั้งที่สะท้อนความหลากหลายของสังคม และสะท้อนผลประโยชน์ที่ประชาชนต้องการเป็นหลัก
งานสัมมนาครั้งนี้มีการเปิดสัมมนาโดย Dr. Celine-Agathe Caro ผู้แทนจากมูลนิธิ Konrad-Adenauer-Stiftung (KAS) สำนักงานประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักในการจัดงานครั้งนี้คือ การสนับสนุนประชาธิปไตยให้เติบโตไปควบคู่กับหลักเสรีภาพทางด้านการเมือง อัตลักษณ์ส่วนบุคคล ตลอดจนวัฒนธรรม และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เผยแพร่ความรู้ในเรื่องของการออกแบบรัฐธรรมนูญอันสอดคล้องกับความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ เช่นเดียวกับที่มีกระแสของการแก้ไขระบบเลือกตั้งของไทยเป็นระบบบัตรสองใบ โดยหวังว่าประสบการณ์ออกแบบระบบเลือกตั้งเยอรมันจะช่วยให้ผู้ฟัง รวมถึงทางรัฐสภาได้ต่อยอดนำความรู้ในวันนี้ไปประยุกต์ใช้ในลำดับต่อไป นอกจากนี้ยังมีประเด็นของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันมิอาจละเมิดโดยรัฐ ส่งผลให้รัฐธรรมนูญเยอรมันมีความคุ้มครองด้านเสรีภาพของปัจเจกจากรัฐสูงมาก อาทิ กฎหมายห้ามรัฐในการแอบติดตามตัวบุคคล หรือกฎหมายการป้องกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ เป็นต้น เช่นเดียวกับกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมที่สนับสนุนกว้างขวางตั้งแต่ประเด็นทางเพศสภาพ ดังเช่นการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของผู้หญิงในสภา หรือกฎหมายละเมิดที่มีความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในระดับต้นๆของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม เรากังวลเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้โดยจะเป็นหน้าที่ของคุณ Tobias ในการอภิปราย
ในส่วนถัดมาDr. Katja Gelinsky ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการเมือง มูลนิธิ Konrad-Adenauer-Stiftung (KAS) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เริ่มต้นจากประเด็นที่เยอรมันให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือ การธำรงรักษาความเป็นระบอบสหพันธรัฐเยอรมัน เพื่อป้องกันการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางดังเช่นในยุครัฐบาลนาซี รวมถึงการสนับสนุนสภาระดับมลรัฐให้มีความอิสระในตัวเองเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากประชาธิปไตยที่กระจายอำนาจสู่ระดับมลรัฐอันเป็นจุดเด่นของระบบสหพันธรัฐ ทว่าภายใต้สถานการณ์ COVID-๑๙ แพร่ระบาดเช่นนี้ก็ช่วยให้รัฐสภามองเห็นข้อปรับปรุงเรื่องกฎหมายของระบบสหพันธรัฐเช่นกันว่าควรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดจึงจะสามารถรับมือกับปัญหาโรคระบาดได้อย่างทันท่วงที ประกอบกับต้องเผชิญกับภาวะที่สังคมมีการแบ่งแยกและเหยียดสีผิวมากขึ้นอันเป็นเรื่องขัดกับกฎหมายพื้นฐาน และรัฐสภาต้องร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งในรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในห้วงเวลาเช่นนี้เยอรมันเองก็ต้องมองหาวิธีสร้างสมดุลทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการปกครองสองชั้นทั้งจากรัฐบาลเยอรมัน และภายใต้สหภาพยุโรป รวมถึงการเสริมสร้างข้อได้เปรียบของระบบสหพันธรัฐให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับการคุ้มครองเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเป็นสิ่งที่เยอรมันเรียนรู้ผ่านห้วงประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้
อีกประการหนึ่งคือ เรื่องของระบบเลือกตั้งของระบบสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นความกังวลเรื่องความไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชากรในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่เยอรมันมีสภาประจำแต่ละมลรัฐ กรณีนี้จึงช่วยให้แต่ละมลรัฐสามารถบริหารได้สอดคล้องกับความต้องการในระดับพื้นที่ ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับระบบเลือกตั้งแบบฝรั่งเศส แม้ทางฝรั่งเศสจะได้เปรียบในเรื่องของการรวมศูนย์อำนาจเพื่อเพิ่มอำนาจการตัดสินใจของประธานาธิบดี แต่อย่างไรก็ตามทางเยอรมันมั่นใจว่าการมีสภาประจำมลรัฐจะช่วยให้เกิดการรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งกว่า อันจะนำมาสู่การมองปัญหาในภาพรวมระดับประเทศเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาผ่านเสียงสะท้อนของประชาชนในพื้นที่ได้ในที่สุด
Dr. Katja ได้กล่าวอีกว่า ขณะที่เมื่อมองย้อนกลับมายังกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญในไทย อันดับแรกต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ต้องใช้เสียงจำนวนมากกว่ากฎหมายทั่วไป อีกทั้งยังมีผลกระทบอีกมาก รัฐธรรมนูญจึงต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้กระบวนการจึงต้องใช้เวลานานและมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง และต้องได้รับการแสดงความไว้ใจที่มีต่อรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับเสียงจากทั้ง ๒ ใน ๓ ของสภาจะจะสามารถได้รับการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตามในรัฐธรรมนูญเยอรมันจะมีสิ่งที่พิทักษ์ไม่ให้มีการแก้ไขนั่นก็คือ การพิทักษ์เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับรูปแบบการปกครองแบบมลรัฐเพื่อพิทักษ์การปกครองที่รับฟังเสียงของประชาชนระดับพื้นที่อย่างแท้จริง
ทั้งนี้สำหรับคำถามที่ว่า ผู้ที่ออกแบบรัฐธรรมนูญควรคำนึงถึงอะไรบ้าง แน่นอนว่าเป็นเรื่องของการที่รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญเยอรมันไม่เคยมีการแก้ไขมาก่อนเลย หากแต่มีการแก้ไขมากกว่า ๖๐ ครั้งแล้วเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทันยุคสมัย แต่เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อยเท่านั้นและไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งฉบับ ตัวอย่างสิ่งที่เคยเสนอให้มีการแก้ไขในภาพรวมเช่น ตัวภาษาของรัฐธรรมนูญนั้นก็มีความล้าสมัยไปบ้างจนต้องมีความเปลี่ยนแปลง แต่ทว่าการขอแก้ไขทั้งฉบับก็เป็นเรื่องที่ยากมาก เป็นต้น และบางกรณีเองก็ไม่สามารถแก้ไขได้เช่นกันเนื่องจากถูกยับยั้งโดยการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
วิทยากรท่านถัดมา Tobias Montag ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมและพรรคการเมืองมูลนิธิ Konrad-Adenauer-Stiftung (KAS) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เริ่มต้นด้วยประเด็นความสำคัญของระบบสหพันธรัฐ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญในเยอรมันช่วงเวลานี้ เนื่องจากระบบการปกครองของเยอรมันจะค่อย ๆ มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ ตามห้วงเวลาประวัติศาสตร์เพื่อไตร่ตรองอย่างแน่ใจในทุกแง่มุม ในประเทศไทยเองก็มีการถกเถียงเรื่องระบบเลือกตั้งซึ่งถือเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสนใจจากสังคมอย่างมากในช่วงนี้ สอดคล้องไปกับประสบการณ์ของเยอรมันจะช่วยได้ในเรื่องของกระแสการปฏิรูปกฎหมายในเยอรมันในปัจจุบัน ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งกลายเป็นข้อถกเถียงที่สังคมเยอรมันให้ความสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องเพดานขั้นต่ำ (threshold) ของคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองต้องได้รับเพื่อคำนวณที่นั่งในสภา โดยเยอรมันกำหนดเพดานขั้นต่ำไว้ที่ ๕% เพื่อแก้ไขความผิดพลาดในช่วงรัฐบาลไวมาร์ที่ไม่กำหนดเพดาขั้นต่ำที่พรรคการเมืองพึงได้รับ และส่งผลให้มีพรรคการเมืองมากเกินไปจนรัฐสภาขาดเสถียรภาพ ขณะเดียวกันในเยอรมันยุคปัจจุบันกลับมาคิดปัญหาข้อนี้กันอีกครั้งเนื่องจากความพหุนิยมทางวัฒนธรรมของเยอรมันที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสะท้อนความเป็นสัดส่วนของประชากรก็มีมากขึ้นเช่นกันจากเดิมที่มีพรรคการเมืองในสภาเพียง ๖-๗ พรรคเท่านั้น และเกิดเป็นคำถามว่าจำนวนพรรคการเมืองที่มีในสภานั้นสะท้อนเสียงของพลเมืองครอบคลุมจริงหรือไม่
ขณะนี้ส่วนที่สองคือ การเลือกตั้งระบบสัดส่วน การเลือกตั้งของเยอรมันเป็นระบบบัตร ๒ ใบ ใบแรกนับคะแนนโดยผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะประจำแต่ละเขตเป็นเสียงแรก และบัตรที่สองจะคิดคะแนนเป็นสัดส่วนของพรรคที่พึงได้รับในรัฐสภา กล่าวคือ ไม่ได้มีการแบ่งตามพรรคที่ได้รับคะแนน หากแต่ยังคำนึงถึงสัดส่วนของแต่ละพื้นที่ซึ่งสะท้อนผ่านคะแนนเสียงด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การหาสมดุลระว่าง ส.ส. ที่มาจากแต่ละพื้นที่ กับ ส.ส. ที่สะท้อนอุดมการณ์ของพรรคด้วย ทั้งนี้ปัญหาที่ต้องคำนึงคือ เรื่องของที่นั่งส่วนเกิน อันมาจากคะแนนเสียงที่พรรคได้รับในพื้นที่มีมากจนเกินไป ขณะที่คะแนนที่ได้รับในภาพรวมนั้นมีน้อยกว่าคะแนนในระดับพื้นที่ นอกจากนั้นการจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นต้องมีเสียงส่วนใหญ่ในสภา การที่พรรคได้ที่นั่งส่วนเกินมาจะถูกนำไปคำนวณใหม่ และปัญหาดังกล่าวได้ถูกนำมาแก้ไขปัญหาให้สมดุลกลายเป็นระบบที่นั่งสมดุล ทว่ายังคงเป็นเรื่องที่ยากที่สามารถสร้างเสถียรภาพให้แก่การคำนวณที่นั่งในสภา ดังนั้นผู้ที่ชนะในระดับเขตยังคงได้รับสิทธิ์ที่นั่งในสภา ขณะที่ส่วนเกินของคะแนนจากพรรคจะถูกนำกลับมาคำนวณใหม่ให้มีความสมดุลกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้คงความเชื่อมโยงระหว่างเสียงของประชาชนกับที่นั่งในสภา
ในช่วงท้ายของการบรรยาย Dr. Katjaได้กล่าวเสริมในเรื่องของประเด็นศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อการเลือกตั้ง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเองก็ไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงผ่านการตีความเรื่องเล็กน้อยที่จะส่งผลต่อรัฐธรรมนูญเยอรมันทั้งฉบับ และในทางกลับกัน ดังที่คุณ Tobias ได้กล่าวไว้ถึงเรื่องของเพดานขั้นต่ำ ๕% ของพรรคการเมืองพึงได้รับ เรื่องนี้เองก็ส่งผลให้ชาวเยอรมนีวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันถึงเรื่องของการไม่รับผิดชอบในการเข้าตีความในเรื่องของความเหมาะสมในการมีเพดานขั้นต่ำ ๕% เพราะพรรคขนาดใหญ่จะครอบงำการเมืองในสภาได้ง่าย
เมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดโอกาสให้มีการถาม-ตอบ คำถามแรกโดยคุณวิเชียร ถามว่าจะสามารถออกแบบกกฎหมายเลือกตั้งให้การหาเสียงของพรรคการเมืองเป็นไปอย่างยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง สำหรับคำตอบของคำถามนี้ คุณ Tobias ได้ให้คำตอบว่า การตั้งเพดานขั้นต่ำ ๕% จะช่วยให้พรรคการเมืองมีความตื่นตัวเพียงพอในการปรับปรุงพรรคการเมืองให้รับความสนใจจากประชาชนอยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นการปิดโอกาสของพรรคการเมืองขนาดเล็กในการเข้าทำงานในสภาด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างการกำหนดกฎหมายห้ามซื้อเสียง กฎหมายเลือกตั้งของเยอรมันได้ตั้งข้อจำกัดในการรับบริจาคเงินจากต่างประทศ เช่นเดียวกับการเปิดเผยยอดเงินบริจาคที่พรรคได้รับให้รัฐสภารับทราบ รวมถึงห้ามพรรคกระทำการที่ขัดกับสิทธิมนุษยชนเช่นกัน
ในช่วงสนทนาร่วมกัน ทางพิธีกรได้เชิญให้ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการประจำสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และ ดร. ประเสริฐ พัฒนไพบูลย์ ผู้อำนวยการ สถาบัน IDS มาร่วมสนทนา โดย ดร. สติธร ได้เริ่มต้นว่าประเทศไทยให้ความสนใจกฎหมายเลือกตั้งของเยอรมันมาโดยเสมอ รวมถึงตั้งคำถามว่าระบบเลือกตั้งของเยอรมันแท้จริงแล้วเป็นเช่นไร เนื่องจากประเทศไทยใช้ระบบเลือกตั้งแบบ MMP แม้กำลังเลียนแบบระบบของเยอรมัน แล้วอะไรที่ทำให้ระบบเลือกตั้งของเยอรมันมีความเฉพาะเจาะจงอันเป็นจุดเด่นที่โดดเด่นแตกต่างจากระบบเลือกตั้งของประเทศอื่น ในทางกลับกัน จะทำอย่างไรให้ไทยสามารถปรับสูตรการคำนวณระบบเลือกตั้งให้เข้ากับรูปแบบการเมืองไทยมากกว่าจะทำตามระบบ MMP ของเยอรมันแบบ ๑๐๐% ทางด้านคุณ Tobias มองว่าไทยไม่ได้ใช้ระบบสหพันธรัฐ เพราะฉะนั้นไทยก็ควรปรับสูตรการคำนวณคะแนนเสียงเลือกตั้งให้เข้ากับไทยเองเช่นกัน สำหรับการมีบัตร ๒ ใบ ต้องไม่ทำให้สับสนระหว่างเสียงของคะแนนในเขตและเสียงของปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อให้เกิดการสะท้อนเสียงของประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับอุดมการณ์ภาพรวมทั้งประเทศเช่นกัน
ส่วนคำถามจากคุณประเสริฐ คือ ประเด็นเอกสิทธิ์ของพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญเยอรมันรับรองไว้ เนื่องจากโอกาสเข้าไปทำงานในสภาของพรรคการเมืองเกิดใหม่ในเยอรมันเป็นไปได้น้อยมาก ขณะที่กฎหมายเลือกตั้งเยอรมันในปัจจุบันกลับที่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมมากกว่า กรณีนี้ทางผู้เชี่ยวชาญระบบเลือกตั้งเยอรมันมีความคิดเห็นเช่นไร คุณ Tobias ให้คำตอบว่า ขณะที่มีเพดาน ๕% แต่โอกาสในการเกิดใหม่ของพรรคนั้นเป็นไปได้ง่ายมาก เนื่องจากกฎหมายมีข้อจำกัดน้อย นอกจากนั้นแม้ว่าจะมีเพดาน๕% แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสของพรรคเล็กที่เป็นม้ามืดก็มีอยู่บ้างเช่นกันที่ได้รับคะแนนเพียงพอจนสามารถเข้ามาในสภาได้ เพียงแต่เรื่องลักษณี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยเท่าใดนัก
คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราจะสามารถเชื่อโพลผลสำรวจคะแนนนิยมพรรคการเมืองได้แค่ไหนกรณีเช่น พรรค SPD ที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่งแต่คะแนนเสียงที่ได้รับจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น กรณีนี้คุณ Tobias ให้คำตอบว่า ให้ตั้งคำถามจากการสำรวจโพลว่าครอบคลุมคะแนนเสียงที่เป็นจริงหรือไม่ เนื่องจากหากมีการสุ่มประชากรอย่างกระจายทั่วถึงเพียงพอ อาจทำให้คะแนนเสียงที่โพลนั้นสะท้อนออกมามีความสมกับสัดส่วนที่เป็นจริงมากกว่า
หรือคำถามน่าสนใจต่อมาที่ถามว่า กฎหมายเลือกตั้งเพดาน๕%ถือว่าขัดกับกฎหมายพื้นฐานหรือไม่ คำตอบจากคุณ Tobias คือ แน่นอนว่าไม่ เนื่องจากรัฐสภาต้องการเสถียรภาพในการบริหารประเทศ ดังนั้นการมีพรรคการเมืองมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อการทำงานของสภาเสียมากกว่า นอกจากนั้นเพดาน ๕%ยังถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งทุกระดับของเยอรมันอย่างเท่าเทียม
บางคำถามให้ความสนใจกับเรื่องการเงินของพรรคการเมือง เช่น พรรคการเมืองเยอรมันมีกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่มีกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ส่วนใหญ่จะใช้จากเงินที่รับริจาคกับเงินส่วนตัวของผู้สมัคร ควบคู่กับเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ ซึ่งวิธีใช้จ่ายแบบนี้จะเป็นการสะท้อนว่าพรรคได้รับความนิยมจากภาคประชาชนมากแค่ไหน ข้อห้ามเพียงประการเดียวคือ การรับเงินจากต่างชาติในการใช้หาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากเคยมีแล้วในกรณีปี 2017 ที่มีพรรคการเมืองที่เคยขายทองคำให้ประเทศรัสเซียจนทำให้พรรคมีเงินสูงมากพอจะใช้หาเสียง กรณีนี้จึงนำมาสู่กฎหมายห้ามรับเงินจากต่างประเทศ
สำหรับในช่วงส่งท้ายงานสัมมนาสาธารณะครั้งนี้ คุณ Caro ขอขอบคุณสำหรับการได้มาบรรยายครั้งนี้ แล้วได้ขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับคำถามที่ได้แลกเปลี่ยนกันเข้ามาอย่างท่วมท้นซึ่งแสดงถึงความสนใจที่ผู้ฟังมีให้เป็นอย่างดีแก่การบรรยายในครั้งนี้ ก่อนที่จะมีการถ่ายรูปรวมผู้บรรยาย ผู้จัดงานสัมมนา และผู้เข้าฟังงานสัมมนาครั้งนี้ก่อนจะปิดงานสัมมนาอย่างเป็นทางการในที่สุด
—————————————————–
นายศิปภน อรรคศรี สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
ผู้สรุปสาระสำคัญของงานสัมมนา
5 ก.ย. 2564