ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์

การขึ้นหัวข้อด้วยคำว่าเผด็จการ อาจจะดูรุนแรงไปหรือไม่ ? ก็อาจจะมีความรุนแรง เพราะโดยทั่วไปแล้ว คงจะไม่มีใครคิดว่าการใช้มาตรการในการควบคุมเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าโควิดนั้น จะเป็นการกระทำที่เป็นอำนาจนิยม แน่นอนว่า ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การระบาดนั้น มีสิทธิ์ที่จะคร่าชีวิตมนุษย์อย่างน้อย ๆ ก็ 0.4% ของผู้ที่ได้รับเชื้อ การที่รัฐใช้มาตรการที่หนักหน่วงเพื่อป้องกันการเสียชีวิตของประชากร ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เห็นพ้องต้องกันเป็นฉันทามติแล้วมิใช่หรือ ? การเสียสละความสะดวกสบาย หรือความสุขเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เพื่อนร่วมโลกต้องเสียชีวิต ก็จะเป็นสิ่งที่ควรทำไม่ใช่หรือ ? คำตอบจึงเป็นเสียงเดียวกันว่า “ใช่” แต่คำถามที่ยังถูกถาม และท้าทายวิธีคิดแบบนั้นก็คือ สิ่งที่รัฐทำนั้น มันเกิดกว่าเหตุหรือไม่ และรัฐนั้นพิจารณาจากฐานข้อมูลอะไร ? เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่ ประเมินจากข้อมูลทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จริงหรือไม่ หรือสถานการณ์การระบาดนั้น เป็นเพียงการฉกฉวยโอกาสของรัฐในการใช้อำนาจเกิดกว่าเหตุ เพื่อกระชับอำนาจของตนเองให้มากขึ้น ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน การใช้สื่อ หรือแม้กระทั่งความร่วมมือที่ผนึกกำลังกันอย่างหนาแน่นของบรรษัทข้ามชาติที่เราเรียกกันว่า Big Tech อันเป็นขบวนการที่เราอาจเรียกเป็น “เผด็จการโควิด”
ในปัจจุบันแน่นอนว่าการปกครองที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการปกครองที่มีความชอบธรรมในการใช้เป็นระบอบการปกครองก็คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีอำนาจในการปกครอง แม้ว่าประชาธิปไตยนั้นจะเป็นกรอบคิดที่กว้าง และมีรายละเอียดอยู่มาก กินความหมายได้หลายระบบการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หรือแบบประธานาธิบดี หรือหากจะจำแนกตามระบบเศรษฐกิจก็อาจมีเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือเสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democracy) ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นหลัก และให้คุณค่าเกี่ยวกับเสรีภาพของประชาชนและสิทธิของพลเมือง การที่รัฐต่าง ๆ ในโลกนี้ ใช้อำนาจในเชิงบังคับ (coercive power) ในการจัดการกับปัญหาโรคระบาด จึงเป็นการกระทำที่ดูจะเป็นเผด็จการ (autocratic) ในการบริหารรัฐโดยรวมสำหรับบรรยากาศ และแนวโน้มความนิยมของระบอบการปกครองในปัจจุบัน
ดังนั้น จึงเกิดข้อจำกัดในการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ ซึ่งบทความจะแบ่งข้อจำกัด ของออกเป็นสองส่วน คือ 1. ข้อจำกัดโดยธรรมชาติของโรคระบาดเอง และ 2. ข้อจำกัดโดยรัฐ ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ถึงการเปรียบเทียบว่าข้อจำกัดของโรคระบาดเองนั้น มีความหนักหนามากถึงขั้นที่จำเป็นต้องใช้ข้อจำกัดจากรัฐอย่างเป็นเผด็จการหรือไม่ และจะมีการนำระดับของการจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 ของรัฐที่มีลักษณะการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย กับลักษณะแบบเผด็จการมาเปรียบเทียบกัน ว่าการใช้อำนาจบังคับของรัฐสามารถจัดการกับโรคระบาดได้หรือไม่
- ข้อจำกัดโดยธรรมชาติของโรคระบาด
ในปัจจุบันเป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งแล้ว ที่โควิด-19 ได้เริ่มต้นระบาดขึ้นในโลกใบนี้ แต่ก็ใช่ว่าพันธุกรรมซึ่งเป็นเสมือนโครงสร้างทางชีววิทยาของไวรัสตัวนี้ จะเป็นเหมือนเดิม เพราะไวรัสโคโรน่าทุกชนิด ล้วนกลายพันธุ์ (mutation) (Cleveland Clinic 2021) ซึ่งเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว โควิด-19 ก็เช่นกัน ที่มีการกลายพันธุ์มาไม่น้อยกว่า 5 ครั้งแล้ว นอกจากสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือสายพันธุ์อู่ฮั่น เราอาจได้ยินการสายพันธุ์ของกลายพันธุ์ (variant) (CDC 2020a) ในชื่อของสายพันธุ์ G สายพันธุ์แอลฟ่าหรือสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์เบต้าหรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แกมม่า และล่าสุดเพิ่งค้นพบสายพันธุ์มิว แน่นอนว่าเรายังเรียกมันว่าเป็นโควิดอยู่ เพราะโดยโครงสร้างหลัก ไวรัสยังประกอบด้วยสารพันธุกรรมพื้นฐานเดิม เพียงแต่การกลายพันธุ์จะเปลี่ยนโปรตีนบางตำแหน่งของสายนิวคลีโอไทด์ จึงทำให้ฟังก์ชั่นบางอย่างของไวรัสนั้นต่างกัน และอาจทำให้การจับกันกับตัวรับ (receptor) ของตัว host ของมนุษย์ได้ลงตัวมากขึ้น และทำให้การแพร่เชื้อของไวรัสนั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วย (Singh et al. 2021)
และในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการใช้วัคซีนหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดเชื้อตาย (unactivated virus) ชนิดไวรัลเว็กเตอร์ (viral vector) หรือเชื้อฝาก ชนิด mRNA ซึ่งเป็นการสร้างสายพันธุกรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา หรือใหม่ล่าสุดซึ่งเป็นชนิด protein subunit (Gavi n.d.) ซึ่งให้ผลในทางปฏิบัติแตกต่างกันไป แจกจ่ายและใช้ฉีดกันไปทั่วโลก แม้ว่าจะเป็นวัคซีนที่กล่าวอ้างว่ามีคุณภาพสูงก็ตาม แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ เพราะเชื้อที่กลายพันธุ์เหล่านั้น สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเชื้อดั้งเดิม (Doctrow 2021) วัคซีนซึ่งอาจผลิตมาเพื่อป้องกันเชื้อดั้งเดิม หรือเชื้อที่เคยระบาดมา จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากเท่าที่เคยทำได้ จากที่เคยสำรวจหรือทดลองมาก่อน เพราะการทดสอบวัคซีนนั้น จะต้องทำให้หลายเฟส และใช้การทดลองในคนที่หลากหลาย จึงจะได้มาซึ่งผลทดสอบก่อนนำมาใช้จริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในเวลาที่ทดลองนั้น ไวรัสก็อาจกลายพันธุ์ก้าวหน้าวัคซีนที่ถูกพัฒนามาแล้ว วัคซีนที่มีอยู่ จึงเป็นเพียงการตั้งรับเท่านั้น เพราะอย่างที่ทราบว่าการกลายพันธุ์นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลง spike protein ของตัวไวรัส ซึ่ง spike protein นี้จะมีลักษณะเป็นขายื่นออกมาจากเซลล์เพื่อมาจับกับตัวรับของ host ซึ่งก็คือมนุษย์ การกลายพันธุ์จึงทำให้เกิด spike ในรูปแบบใหม่ ทำให้เกิดเป็นไวรัสในรูปแบบใหม่ ซึ่งทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสนั้นไม่เหมือนเดิม (Harvey et al. 2021) ภูมิต้านทานที่ร่างกายมี หรือภูมิต้านทานที่ถูกกระตุ้นหรือสร้างขึ้นจากวัคซีนจึงทำงานต้านไวรัสได้น้อยลง
แต่แม้ว่าภูมิต้านทานเหล่านั้นในร่างกายจะทำงานได้น้อยลง ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะใช้ไม่ได้ เพราะการมีภูมิต้านทานอยู่ ก็สามารถลดระดับความรุนแรงของโรคได้เมื่อติดเชื้อ การติดเชื้อแล้วหายจากอาการ ก็จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเองตามธรรมชาติเช่นกัน การดำเนินไปของการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงเพิ่มตัวเลขของการติดเชื้อเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น การจะสังเกตระดับความวิกฤตของการระบาดของโควิด จะสังเกตจากจำนวนการติดเชื้ออย่างเดียวคงจะไม่ได้ แต่อาจต้องมองที่อัตราการเสียชีวิตด้วย จึงต้องรวมไปถึงลักษณะทางประชากรศาสตร์และสถิติของผู้เสียชีวิตเหล่านั้น เช่น การมีโรคแทรกซ้อน อายุ รวมไปถึงการเข้าถึงการได้รับการรักษา
อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันไม่ว่าจะได้จากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ หรือภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีน ก็จะมีการลดลงตามเวลาอยู่ดี ปัจจัยจึงอยู่ที่ความช้าเร็วในการลดลงของภูมิต้านทานนั้น ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว จึงสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำอีกได้ (Cromer et al. 2021) ระยะเวลาของการคงอยู่ของภูมิคุ้มกันจึงกลายมาเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่นั่นก็คงจะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของไวรัส เพราะไวรัสนั้นต้องการ host เพราะไวรัสไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง การที่ไวรัสลอยอยู่ในอากาศหรือติดอยู่ตามสิ่งของต่าง ๆ ที่ไม่มีตัวรับให้จับอยู่ก็จะทำให้ไวรัสตายไปในที่สุด ไวรัสจึงต้องการที่จะแพร่กระจายออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อหา host จับ และมีชีวิตอยู่ได้นานที่สุด ดังนั้น การลดลงของอัตราการเสียชีวิต ซึ่งมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2020 (Hasan et al. 2021) จึงอาจเป็นการปรับตัวของไวรัส เพื่อให้แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น โดยกลายพันธุ์ให้ spike protein นั้น สามารถจับกับตัวรับได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ทำให้ host ตายได้โดยง่าย เพราะก็ต้องการยืดอายุของตัวไวรัสเอง แนวโน้มของการติดเชื้อโดยรวมจึงเพิ่มมากขึ้น แต่แนวโน้มของอัตราการตายนั้นน้อยลง
ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของศาสตราจารย์ซาร่า กิลเบิร์ต จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ผู้พัฒนาวัคซีน AstraZeneca ซึ่งกล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 จะแพร่จาก spike protein และจับกับร่างกายมนุษย์ได้ผ่าน ACE2 receptor ซึ่งเป็นตัวรับที่พื้นผิวเซลล์ของมนุษย์ได้เท่านั้น ดังนั้น ซาร่าจึงไม่คิดว่าโควิดจะสามารถกลายพันธุ์ไปในแบบที่พิสดารกว่านี้ไปได้อีก เพราะหากกลายพันธุ์แล้วไม่สามารถจับกับตัวรับของมนุษย์ได้—เสมือนกับจิ๊กซอว์ที่ต้องการชิ้นที่เข้ากันได้ในการต่อกันอย่างสมบูรณ์—มนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะเป็น host และรับเชื้อได้ (Walker 2021) หากเป็นไปตามหลักการที่ว่านี้ เชื้อของไวรัสโควิด ก็มีแต่ที่จะอ่อนแอลง เพราะหากสายพันธุ์เก่าที่มนุษย์เคยรู้จักแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะหลบภูมิคุ้มกันที่มนุษย์มีได้อีก และสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นก็อาจไม่สามารถเข้ากับตัวรับของมนุษย์ได้ ขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา หรือ Centers for Disease Control and Prevention: CDC ก็ได้จัดให้สายพันธุ์เดลต้าเท่านั้นที่เป็นสายพันธุ์ที่ต้องกังวล (variant of concern: VOC) และสายพันธุ์อื่น ๆ เป็นเพียงสายพันธุ์ที่ต้องจับตาดู (Varaint Being Monitored: VBM) เท่านั้น (CDC 2020b) จะเห็นได้ว่า มุมมองของผู้เชี่ยวชาญต่อไวรัสโควิดเริ่มเปลี่ยนไป จากที่คิดว่าเป็นโรคระบาดที่ควบคุมไม่ได้ มาเป็นโรคที่มนุษย์สามารถสู้และอยู่ร่วมกันกับมันได้
อย่างไรก็ตาม เราก็ยังไม่สามารถวางใจได้ว่าไวรัสโควิดจะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่าน ACE2 receptor เท่านั้น เพราะอาจมีทางอื่นที่ไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายในอนาคตหากเกิดการกลายพันธุ์ในลักษณะอื่น ๆ อีกก็เป็นไปได้ และหากเป็นเช่นนั้นไปได้ มาตรการที่ใช้ในการป้องกันโรคที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้อาจไม่มีผลเลยก็ได้ ดังนั้น สถานการณ์โรคระบาดที่เราเผชิญกันอยู่ในทุกวันนี้ ก็อาจไม่ใช่สถานการณ์ตายตัว ซึ่งอาจมองในแง่ดี ว่าการเผชิญกับโรคระบาดนี้มีมา 1 – 2 ปี แล้ว มนุษย์ก็อาจมีการปรับตัวเช่นเดียวกับไวรัส ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น หรือไวรัสอาจมีพัฒนาการที่พยายามจะล้ำหน้ามนุษย์ และเอาชนะมนุษย์ในที่สุด ซึ่งตรงนี้ก็ไม่แน่ว่า นี่จะเป็นสงครามระหว่างธรรมชาติอย่างที่จินตนาการหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ การพยายามปฏิเสธการอยู่ร่วมกันกับโควิด และใช้มาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมโรคตลอดไปจนเชื้อจะหยุดระบาดนั้น คงเป็นไปไม่ได้
- ข้อจำกัดจากรัฐ
รัฐนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างปฏิเสธไม่ได้ในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐประชาธิปไตย หรือรัฐเผด็จการ ความเป็นรัฐสมัยใหม่ย่อมมีผู้ปกครองหรือรัฏฐาธิปัตย์ ที่ถืออำนาจอธิปไตยอยู่ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และมีข้อผูกพันในการเป็นผู้รักษาอำนาจอำนาจอธิปไตยนั้น ซึ่งก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ ว่าการเกิดขึ้นของโรคระบาดแบบโควิด-19 นี้ เป็นภัยต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐอย่างหนึ่ง ซึ่งก็อาจเป็นภัยต่อชีวิตของสมาชิกของรัฐ หรือไม่ก็เป็นภัยของตัวผู้ปกครองเอง แม้ว่าผู้ปกครองจะสามารถเอาตัวรอดจากโรคระบาดนั้นได้ก็ตาม แต่การดำเนินไปของกิจการของรัฐสมัยใหม่ ก็ต้องอาศัยกลไกที่เป็นเสมือนแขนขาของรัฐในการควบคุมดูแลกิจการต่าง ๆ และแน่นอนว่าบุคคลที่มีหน้าที่เป็นกลไกของรัฐนั้นก็เป็นสมาชิกของรัฐ ฉะนั้นรัฐจึงไม่สามารถที่จะอยู่ได้โดยปราศจากสมาชิกของรัฐซึ่งมีส่วนในการค้ำจุนกลไกของรัฐเอง ผู้ปกครองที่เป็นตัวแทนของรัฐเองจึงต้องมีมาตรการเพื่อทำให้กิจการของรัฐนั้นดำเนินต่อไปได้อย่างเสียหายน้อยที่สุด แต่วิธีการที่รัฐแต่ละรัฐเลือกนั้น จะมีประสิทธิภาพ และได้ผลหรือไม่นั้น จึงต้องมาพิจารณาและดูจากข้อมูลทั้งเชิงประจักษ์และการคาดการด้วยหลักการจากข้อมูลที่มีอยู่ และทั้งจากการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงทั้งในมุมมองทางการเมืองและเศรษฐกิจ
คำถามจึงตกมาอยู่ที่ว่า แม้ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อปกป้องและรักษาชีวิตของสมาชิกของรัฐไว้นั้น แต่วิธีการที่รัฐใช้นั้นเหมาะสมหรือไม่ เป็นการใช้วิธีการที่เกินกว่าเหตุ และไม่จำเป็นหรือไม่ การออกมาตรการ และข้อจำกัดในการใช้ชีวิต รวมถึงสิทธิและเสรีภาพของสมาชิกในรัฐ จะสามารถทำให้โรคระบาดนั้นลดลงได้จริงหรือไม่ หรือการใช้มาตรการเหล่านั้น เป็นการกระชับอำนาจเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับรัฐ โดยอ้างโรคระบาดเป็นเงื่อนไขกันแน่ เราจึงต้องไปสำรวจว่า การใช้มาตรการที่เป็นข้อจำกัดต่อสิทธิและเสรีภาพอันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของเสรีประชาธิปไตยนั้น มีประสิทธิภาพในการจัดการโรคระบาดจริงหรือไม่ และในทางกลับกัน การไม่พยายามใช้มาตรการในรูปแบบการบังคับหรือการมีข้อจำกัดสามารถจัดการกับโรคระบาดได้หรือไม่
Thananithichot and Kongdecha (2021) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 ระหว่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตย โดยใช้มาตรการที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพ (illiberal practice) ที่รัฐใช้ในการบังคับใช้ในการจัดการกับโรคระบาดเป็นเกณฑ์ และได้เป็นกลุ่ม 3 ประเทศในระหว่างประเทศที่ 1. เป็นประชาธิปไตยและต่อสู้กับโรคระบาดโดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ (The maintenance of democracy) 2. ประเทศที่ประชาธิปไตยถดถอย (fallen democracy) ที่ใช้มาตรการที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งแบ่งเป็นสองระดับ: tier 1 รัฐที่เริ่มตกไปอยู่ในอำนาจนิยม; tier 2 รัฐที่ตกอยู่ในภวังค์ของอำนาจนิยมแล้ว และ 3. ประเทศที่เป็นอำนาจนิยม (หรือเผด็จการ – the autocrat) (Thananithichot and Kongdecha 2021, 7–8) ซึ่งการศึกษานี้เป็นการศึกษาที่ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณใน 142 ประเทศ โดยใช้ข้อมูลที่เป็น open data จากหลายแหล่ง เช่น The Economist, Freedom House และ V-Dem Institute โดยสำรวจว่า การมีโรคระบาด ทำให้ประชาธิปไตยนั้นถดถอยหรือไม่ แล้วการใช้มาตรการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาเป็นข้อจำกัดในการดำรงชีวิตของประชาชน ทำให้โรคระบาดลดลงจริงหรือ จึงสอดคล้องกับประเด็นที่ว่า การเป็นเผด็จการในช่วงโควิด จะสามารถลดการระบาดของโรคได้จริงหรือ
จากนั้นงานชิ้นนี้ยังได้แบ่งประเภทของการแสดงออกของระดับของความเป็นประชาธิปไตย โดยมีระดับของการเป็น 1. ประชาธิปไตยเต็มใบ (full democracy) 2. ประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง (flawed democracy) 3. ระบอบผสม (hybrid regime) 4. ระบอบอำนาจนิยม ซึ่งได้ใช้พิจารณาควบคู่ไปกับประเภทกลุ่มประเทศดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งระดับของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพมักจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ หรือประเทศที่มีประชาธิปไตยถดถอย ก็มักจะเป็นประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่องหรือเป็นระบอบผสม ซึ่งทั้งสองจะมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่ลดหลั่นกันไปตามระดับของความเป็นประชาธิปไตย ตามตาราง ที่ 1

ตารางที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศ และระดับของความเป็นประชาธิปไตย (Thananithichot and Kongdecha 2021, 22)
จะเห็นได้ว่า ประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 นั้นสามารถคงระดับของความเป็นประชาธิปไตยอยู่ได้ โดยคะแนนอ้างอิงจาก democracy index หรือดัชนีความเป็นประชาธิปไตยเมื่อเปรียบเทียบจากปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเกิดโรคระบาดโควิด-19 กับปี 2020 ที่เกิดโรคระบาดแล้ว ประเทศอย่างออสเตรีย แคนนาดา หรือฟินแลนด์ ยังสามารถรักษาความเป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบอยู่ได้ อีกทั้งยังมีค่าดัชนี PanDem และ PanBack ที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงในมาตรการที่รัฐใช้ ว่าอาจทำให้ความเป็นประชาธิปไตยนั้นถดถอยลงหลังจากที่รัฐใช้มาตรการในการควบคุมโรคนั้นต่ำอีกด้วย แต่ประเทศโปรตุเกสได้มีการตกไปอยู่ในระดับประชาธิปไตยที่มีข้อบกพร่อง เนื่องจากมีมาตรการบางอย่างที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยแสดงออกจากค่าความเสี่ยง (Thananithichot and Kongdecha 2021, 12–13)
ขณะที่กลุ่มประเทศที่ 2 ประชาธิปไตยถดถอย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มักใช้นโยบายและมาตรการที่เป็นไปในทางอำนาจนิยมอยู่บ้างในช่วงมีโรคระบาด ซึ่งทำให้มาตรการมีการรุกล้ำสิทธิเสรีภาพ และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นอำนาจนิยมได้ ประเทศเช่น ฮ่องกง หรือเอลซาวาดอร์ มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นระบอบผสม และประเทศทีเป็นระบอบผสมอยู่แล้วเช่น มาลี ถูกจัดให้เป็นอำนาจนิยม หลังมีมาตรการในการจัดการกับโควิด-19 (Thananithichot and Kongdecha 2021, 15–17)
กลุ่มประเทศที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นอำนาจนิยมอยู่แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะมีโรคระบาดหรือไม่ ก็มักใช้มาตรการที่มีลักษณะละเมิดสิทธิและเสรีภาพอยู่ดี ประเทศเช่น เมียนมาร์ กัมพูชา หรือจีน ซึ่งมีการใช้มาตรการแบบอำนาจนิยมขั้นสูงสุด เช่น มีการล็อคดาวน์ มีการใช้เทคโนโลยีกับจับใบหน้าโดย AI หรือการใช้โดรนตรวจสอบจับตามองประชาชน (Thananithichot and Kongdecha 2021, 20–21) ทำให้ประเทศเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในระดับอำนาจนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย
เมื่อมาพิจารณาผลของการติดเชื้อของโรคระบาดแล้ว พบว่าเมื่อไม่มีมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น การบังคับให้ต้องอยู่ในบ้าน หรือปิดสถานที่ ประเทศที่คงรักษาความเป็นประชาธิปไตยนั้นมีอัตราการติดเชื้อเฉลี่ยสูงกว่าประเทศประชาธิปไตยถดถอย แต่อัตราการตายนั้นกลับน้อยกว่า ขณะที่เมื่อนำค่า GDP มาเทียบเพื่อสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยยังมีระดับ GDP ที่สูงกว่า— หรือติดลบน้อยกว่า— ประเทศที่ประชาธิปไตยถดถอย (ข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020) ดังนั้น การจัดการกับโควิด-19 นั้น จึงไม่สามารถพิจารณาได้จากอัตราการติดเชื้ออย่างเดียว หากแต่ต้องดูที่อัตราการตายด้วย เพราะโรคโควิด-19 นั้น อย่างที่ได้กล่าวไปว่ามีอัตราการตายที่ต่ำ เมื่อเทียบกับโรคระบาดอื่น ๆ ที่เคยระบาดในโลกมนุษย์นี้ (LePan 2020) และด้วยธรรมชาติของไวรัสที่กลายพันธุ์เพื่อจะทำให้อยู่ในโลกได้นานที่สุด อัตราการติดเชื้อจึงสูงขึ้น แต่ที่สำคัญคือ การรักษาที่ต้องหายจากอาการป่วยจากโรค ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องอาศัยการแพทย์ที่ดี และอีกส่วนหนึ่งก็คือภูมิคุ้มกันที่ดีด้วย ซึ่งการมีภูมิคุ้มกันที่ดีมาจากสุขภาพที่ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนนั้นจะมีสุขภาพที่ดีได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งหลัก ๆ ก็มาจากเศรษฐกิจ ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ จึงมักมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีและมีสุขภาพที่ดีจากสภาพแวดล้อม เช่น ประเทศสวีเดน (BrandThink x สิ่งมีชีวิต 2021) ซึ่งก็สอดคล้องกับที่สวีเดนเป็นประเทศในกลุ่มที่ 1 การพิจารณาจึงต้องนำเอาปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย เรื่องการเมืองแยกไม่ออกจากเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้เหตุการณ์ได้แสดงให้เราเห็นว่า เรื่องสุขภาพก็ไม่ได้แยกออกจากการเมืองและเศรษฐกิจเช่นกัน แม้ว่า GDP จะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงระดับความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงการประคับประคองรัฐให้ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งประเทศที่คงความเป็นประชาธิปไตยนั้นทำได้ดีกว่าประเทศกลุ่มประชาธิปไตยถดถอย ดังที่แสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 แสดงอัตราการติดเชื้อ การเสียชีวิต และ GDP ของประเทศในกลุ่มต่าง ๆ (Thananithichot and Kongdecha 2021, 26)
ข้อสรุปจากงานศึกษาชิ้นนี้ นอกจากแสดงให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง หรือกระแสของประเทศในรูปแบบการปกครองต่าง ๆ ต่องการจัดการกับโรคระบาดอย่างโควิด-19 แล้ว ยังชี้ให้เราเห็นได้ว่า ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาด ประเทศต่าง ๆ มีแต่แนวโน้มที่จะเป็นไปในทางที่เป็นเผด็จการหรืออำนาจนิยมมากขึ้น สังเกตได้ว่า ในข้อมูลไม่มีประเทศใดเลย ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจนถึงการเปลี่ยนระดับของการเป็นประชาธิปไตย หลังจากมีโรคระบาด อาจมีคะแนนในดัชนีเพิ่มบ้าง แต่ก็ไม่เป็นนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่ารัฐนั้นต้องการใช้อำนาจมากขึ้นหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ดังนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาในทิศทางใด ไม่ว่าการใช้อำนาจจะทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน รัฐก็พร้อมที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจได้เสมอ
- การจัดการกับโรคระดับจำเป็นต้องใช้วิธีการแบบเผด็จการ ?
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ว่าจากการพิจารณาจากข้อจำกัดจากธรรมชาติของโรคระบาดโควิด-19 เอง ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นแน่นอน จาการกลายพันธุ์ของไวรัสเอง ที่มีการปรับตัวให้ตัวของไวรัสนั้นสามารถอยู่ในโลกนี้ได้นานขึ้น ขณะเดียวกัน มนุษย์เองก็มีการปรับตัวเช่นกันในการอยู่ร่วมกับไวรัส ไม่ว่าจะเป็นภูมิธรรมชาติ เมื่อได้รับเชื้อไวรัสแล้วหายเป็นปกติ หรือจะเป็นการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิ สุดท้ายแล้ว การจัดการกับโรคระบาดก็จะกลายเป็นการอยู่กับไวรัส ไม่ว่าจะเป็นไปตามคำกล่าว “survival of the fittest” หรือ “ผู้อยู่รอดคือผู้ที่เหมาะสมที่สุด” ของชาร์ลส์ ดาร์วิน และเฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ หรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเราจะต้องสู้กับไวรัสจนตายกันไปข้างหนึ่ง หรือ เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันไป การใช้มาตรการที่เป็นข้อจำกัดจากรัฐดังที่กล่าวมา ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจาก ระดับความเข้มข้นของมาตรการที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพ และไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการควบคุมโรคได้ดีกว่าการไม่มีมาตรการเหล่านั้นได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงไม่สามารถบอกได้ว่า มาตรการเช่นการล็อคดาวด์ ปิดสถานที่ต่าง ๆ หรือการห้ามออกนอกเคหะสถานเป็นเวลานั้น สามารถควบคุมโรคระบาดได้จริง
มิหนำซ้ำ การพยายามจนล้นเกินและมากเกินไปของหลายรัฐในเวลาต่อมา เช่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น มากไปกว่านั้นยังมีผู้ติดเชื้อน้อยเกินว่าจะต้องใช้มาตรการยาแรง ล่าสุดนิวซีแลนด์จึงต้องยกเลิกมาตรการเพื่อให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์แล้ว เพราะแน่นอนว่าธรรมชาติของสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์โดยเฉพาะเดลต้า ไม่สามารถกดยอดผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ได้ (Frost 2021) ต่างกับสหราชอณาจักรที่ประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบให้ทำกิจกรรมได้ทั้งหมด แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะไม่ได้ลดลงมาก แต่ยอดผู้เสียชีวิตก็ยังต่ำ และแน่นอนว่าในไม่ช้า ทั้งโลกก็ต้องออกมายอมรับว่าการตีโพยตีพายว่าสถานการ์ไม่ปกติและต้องใช้มาตรการพิเศษ หรือมาตรการฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องที่เกินกว่าเหตุ และไม่ยุติธรรม ที่สำคัญที่สุดยังขัดต่อหลักการสำคัญของระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยที่นิยมชมชอบกันอีกด้วย
ณ เวลานี้กระแสของโลกไปในทิศทางที่จะต้องเปิดเมืองให้เป็นปกติ ไม่ต้องกลัวกับโควิดอีกต่อไป เพราะคนเบื่อเต็มทนกับการต้องถูกขังอยู่ในบ้านแล้ว รัฐก็ต้องทำตามกระแสของประชาชน มิเช่นนั้นประชาชนอาจหันหน้ามาต่อต้านรัฐ จะมีแต่ก็แต่สื่อกระแสหลักและเหล่าผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากการล็อคดาวน์และหยุดอยู่บ้าน work from home ทั้งหลาย เช่น ธุรกิจซื้อขายปลีกออนไลน์ ธุรกิจแพลตฟอร์ม เทคโนโลยี ทั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ เช่น การประชุมออนไลน์ หรือสื่อออนไลน์โซเชียลมีเดียต่าง ๆ บริษัทเหล่านี้มีมูลค่าหุ้นขึ้นไปไม่รู้กี่เท่า (Bangkok Post 2021; Bloomberg 2021; Thorbecke 2020) และยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อการควบคุมข่าวสารในโลก ดังนั้น บริษัท Big Tech ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสูงสุดในการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนรัฐบาลใหม่ (Fernandez et al. 2021) ที่จะเข้าควบคุมความรู้และสำนึกต่อโรคระบาดต่อไป ในระหว่างที่รัฐบาลระดับชาติค่อนข้างที่จะหมดความนิยมลงไป เป็นอำนาจอ่อน (soft power) แบบใหม่ ที่จะใช้ในการควบคุมแทนอำนาจรัฐแบบดั้งเดิม
อ้างอิง
Bangkok Post. 2021. ‘Big Tech Booms Even as Lockdown Living Wanes’. Bangkok Post. https://www.bangkokpost.com/business/2157231/big-tech-booms-even-as-lockdown-living-wanes (October 6, 2021).
Bloomberg. 2021. ‘Big Tech’s Stock Market Leadership Is Threatened By Rising Rates’. Bloomberg.com. https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-10-02/big-tech-s-stock-market-leadership-is-threatened-by-rising-rates (October 6, 2021).
BrandThink x สิ่งมีชีวิต. 2021. ‘“โควิดไม่ได้ฆ่าคุณ ความเหลื่อมล้ำต่างหากที่ฆ่าคุณ” กรณีศึกษาจากสวีเดน ในวันที่ยอดผู้เสียชีวิตเหลือ 0 โดยไม่เคยล็อคดาวน์และบังคับใส่หน้ากาก – BrandThink’. https://brandthink.me//content/covid-sweden-case-study (October 6, 2021).
CDC. 2020a. ‘Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)’. Centers for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/variants/variant.html (September 26, 2021).
———. 2020b. ‘Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)’. Centers for Disease Control and Prevention. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/variants/variant-info.html (September 27, 2021).
Cleveland Clinic. 2021. ‘Covid Variants: What You Should Know’. Cleveland Clinic. https://health.clevelandclinic.org/what-does-it-mean-that-the-coronavirus-is-mutating/ (September 26, 2021).
Cromer, Deborah et al. 2021. ‘Prospects for Durable Immune Control of SARS-CoV-2 and Prevention of Reinfection’. Nature Reviews Immunology 21(6): 395–404.
Doctrow, Brian. 2021. ‘How COVID-19 Variants Evade Immune Response’. National Institutes of Health (NIH). https://www.nih.gov/news-events/nih-research-matters/how-covid-19-variants-evade-immune-response (September 27, 2021).
Fernandez, Rodrigo, Tobias J. Klinge, Reijer Hendrikse, and Ilke Adriaans. 2021. ‘How Big Tech Is Becoming the Government’. https://tribunemag.co.uk/2021/02/how-big-tech-became-the-government (October 6, 2021).
Frost, Natasha. 2021. ‘Battling Delta, New Zealand Abandons Its Zero-Covid Ambitions’. The New York Times. https://www.nytimes.com/2021/10/04/world/australia/new-zealand-covid-zero.html (October 6, 2021).
Gavi. ‘What Are Protein Subunit Vaccines and How Could They Be Used against COVID-19?’ https://www.gavi.org/vaccineswork/what-are-protein-subunit-vaccines-and-how-could-they-be-used-against-covid-19 (September 27, 2021).
Harvey, William T. et al. 2021. ‘SARS-CoV-2 Variants, Spike Mutations and Immune Escape’. Nature Reviews Microbiology 19(7): 409–24.
Hasan, Mohammad Nayeem et al. 2021. ‘The Global Case-Fatality Rate of COVID-19 Has Been Declining Since May 2020’. The American Journal of Tropical Medicine and Hygiene 104(6): 2176–84.
LePan, Nicholas. 2020. ‘Visualizing the History of Pandemics’. Visual Capitalist. https://www.visualcapitalist.com/history-of-pandemics-deadliest/ (October 6, 2021).
Singh, Jasdeep et al. 2021. ‘Structure-Function Analyses of New SARS-CoV-2 Variants B.1.1.7, B.1.351 and B.1.1.28.1: Clinical, Diagnostic, Therapeutic and Public Health Implications’. Viruses 13(3): 439.
Thananithichot, Stithorn, and Kwankaow Kongdecha. 2021. Pandemic Backsliding? A Comparative Study of Democracy under the Virus Threat. Rochester, NY: Social Science Research Network. SSRN Scholarly Paper. https://papers.ssrn.com/abstract=3849952 (September 28, 2021).
Thorbecke, Catherine. 2020. ‘The Winners in a Pandemic Economy: Big Tech and Lockdown Essentials Soar’. ABC News. https://abcnews.go.com/Business/winners-pandemic-economy-big-tech-lockdown-essentials-soar/story?id=72495436 (October 6, 2021).
Walker, Amy. 2021. ‘Covid Variants That Can Resist Vaccine “Unlikely”, Says Oxford Jab Scientist Sarah Gilbert’. inews.co.uk. https://inews.co.uk/news/covid-variant-vaccine-resist-immunity-more-severe-oxford-jab-sarah-gilbert-1212744 (September 27, 2021).