ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์[1]
1 พฤศจิกายน 2564
ความล้นเกินของวัฒนธรรมสมัยนิยมในปัจจุบัน
โดยรวมแล้ว GTA V ก็ไม่ได้มีเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายเดียวที่จะมุ้งเน้นนำเสนอว่า สังคมควรจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด ในแง่นี้ก็ไม่ต่างกับหลักการของวัฒนธรรมต่อต้านทั่ว ๆ ไป แน่ในแง่หนึ่ง การวิพากษ์วัฒนธรรมโดยการสร้างวัฒนธรรมรอง หรือการใช้การล้อเลียนนั้น เป็นการแสดงออกแบบปลายเปิด ซึ่งแน่นอนว่าอาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นของวัฒนธรรมสมัยนิยม และก็ยังเปิดพื้นที่ให้ตีความไปได้อีกหลายอย่าง ในแง่นี้ การตีความต่อ GTA V จึงไม่อาจสามารถตีความเป็นในทางเดียว หรือใช้ตัวแบบแบบคู่ตรงข้ามได้ เช่น เหตุการณ์บางอย่าง ก็ไม่ได้ถูกตัดสินว่าผิดหรือถูก ควรทำหรือไม่ควรทำ หรือบางครั้งก็ไม่ทราบว่าจะนำเสนอทำไม หรือเกิดคำถามว่าการนำเสนอนั้นต้องการอะไร การสื่อสารในลักษณะนี้ จึงต้องการการตีความจากผู้รับสารอยู่เสมอ กล่าวคือ เมื่อมีผู้พูด แต่ผู้พูดไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าต้องการจะสื่อสารอะไร ก็เป็นหน้าที่ของผู้ฟัง ที่จะต้องไปตีความเอง แต่สิ่งที่สำคัญคือ คำพูดนั้น ได้สื่อสารออกไปแล้ว ในกรณีของกระแสวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน ก็มีลักษณะที่เป็นกระแสความนิยมที่ล้นเกิน คล้ายกับการเป็นอุปทานหมู่ กล่าวคือ เป็นการใช้ความนิยมเป็นเกณฑ์ในการตัดสินความถูกต้อง เนื้อหาที่ถูกซ่อนอยู่ในหลากหลายส่วนของเกมจึงพยายามสอดแทรกการวิพากษ์โดยการล้อเลียนความล้นเกินนั้นในรูปแบบของสถานการณ์
เช่น เหตุการณ์ทีเป็นเหตุการณ์สุ่ม เจอดาราอยู่ในย่าน Vinewood ดาราคนนั้นขอความช่วยเหลือ เนื่องจากถูก paparazzi ดักรอแอบถ่าย จึงขอให้ไปขัยรถของเธอและพาเธอหนี แต่ paparazzi เหล่านั้น ก็ยังขับรถตามมาถ่าย แต่แทนที่เธอจะหลบ กลับกลายเป็นว่าเธอพยายามโพสท่าให้ภาพออกมาดูดี ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างสถานการณ์ให้ดูเหมือนไม่อยากถ่าย แต่ก็อยากให้มีรูปในพื้นที่สื่อ หรือจะเป็นในภารกิจที่ Franklin จะต้องเข้าไปแอบถ่ายดาราในโรงแรม แต่ดันไปเจอว่าดาราสองคนกำลังมีเพศสัมพันธ์กันอยู่ ในบทสนทนาได้มีการพูดคุยกันว่า “เราเป็นคู่รักวัยรุ่นที่ดังที่สุดใน Vinewood แล้ว” ก่อนที่ผู้หญิงจะตอบว่า “เธออายุ 21 ส่วนฉันก็ 24 แล้ว เราเป็นวัยรุ่นเฉพาะเหตุผลทางการตลาดเท่านั้นแหละ” และ “ฉันไม่ปล่อย sex tape หาก agent ของฉันไม่บอกให้ปล่อย” เรื่องฉาวของดาราฮอลลีวูดเหล่านี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีชื่อเสียง และยังคงได้รับพื้นที่ในสื่อ ดังนั้น การมีข่าวไม่ดี ก็อาจจะดีกว่าไม่มีข่าวเลย สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาให้เห็นในเกม เช่น ในข่าวของวิทยุของสำนักข่าว Weazel News ที่น่าจะเป็นการล้อเลียน Fox News ที่เป็นสำนักข่าวที่ชอบเสียดสี มักจะมี spot หรือข้อความรายงานข่าวสั้น ๆ ในกรณีนี้ที่พูดว่า “ทำไมดาราที่มีเงินมากมายอยู่แล้ว มีบ้านมีรถ แต่ก็ยังต้องมาอาศัยอยู่ในโรงแรมแพง ๆ ก็เพราะว่า มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จโดยการใช้เงินของคนอื่นน่ะสิ”
หรือในกรณีของ Michael ที่เลือกมาใช้ชีวิตอยู่ใน Los Santos ก็เพราะเขาเป็นคนชอบภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ในแนวบู๊ sci-fi ที่มีมนุษย์ต่างดาวออกมา ครั้งหนึ่ง Lester เคยถามเขาว่า ทำไมถึงเลือกเมืองนี้ Michael บอกว่าชอบภาพยนตร์ Lester จึงสวนว่า นี่มันไม่ใช่ยุค 80s แล้วนะ ที่หนัง ‘Vinewood’ จะมีหนังบู้ sci-fi ยุคนี้มันเป็นยุคของหนัง Remakes, Superheroes และ Post-Apocalypse ซึ่งเราอาจจะเพิ่มแนว Romantic-Comedy และ feel-good เข้าไปด้วยก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่าคำพูดของ Lester แสดงถึงการบ่งบอกว่ายุคสมัยปัจจุบันนั้น วงการภาพยนตร์มีแต่การทำซ้ำของเก่า ไม่ก็เป็นการสร้างภาพยนตร์ Superhero ที่ต้องมีการวางโครงเรื่องว่าจะต้องเกิดวิกฤตขึ้นจากวายร้ายมากอำนาจ ที่คนธรรมดาไม่สามารถต่อกรได้ จึงต้องพึ่งพาผู้ที่มีพลังพิเศษให้มาช่วงปกป้องและกอบกู้โลก ความคิดแบบนี้จึงเป็นความคิดที่ทำให้เราวนเวียนและหมกมุ่นอยู่กับวิธีคิดแบบ พระเอก/ผู้ร้าย ธรรมะต้องชนะอธรรม นอกจากจะเป็นการผลิตซ้ำความคิดแบบคู่ตรงข้ามแล้ว ก็ยังเป็นการผลิตความคิดที่มนุษย์นั้นต้องพึ่งพาอภิมนุษย์ หรือผู้ที่มีพลังพิเศษ ไปจนถึงผู้วิเศษ ที่มีศักยภาพเหนือมนุษย์อีกด้วย ภาพยนตร์ในสมัยปัจจุบัน จึงตอกย้ำความไร้น้ำยาและศักยภาพของมนุษย์ ที่เรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่ามาจัดการกับปัญหาของตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม้ว่า The Dark Knight Rises (2012) จะมีประโยคเด็ด “ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้” แต่นั่นก็หมายความว่าเรายังต้องการฮีโร่อยู่นั่นเอง เช่นเดียวกับภาพยนตร์ในแนวของ Post-Apocalypse ที่มักจะฉายให้เห็นภาพของโลกที่ผ่านวันสิ้นโลกไปแล้ว โดยจะวางโครงเรื่องให้มีกลุ่มของผู้ที่เป็นความหวังของโลก ซึ่งก็หนีไม่พ้นความเป็นฮีโร่/ผู้กอบกู้ ที่จะนำพาให้โลกกลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งภาพยนตร์แนวนี้เป็นการจินตนาการถึงวันสิ้นโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น และให้ความหวังว่าเราจะเป็นหนึ่งในผู้ที่รอดชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าวันสิ้นโลกในจินตนาการของ Post-Apocalypse นั้น เป็นวันสิ้นโลกที่ไม่ได้สิ้นโลกจริง ๆ เพราะหากสิ้นไปแล้ว เหตุใดยังจะเหลือเหล่าฮีโร่มากู้โลกได้อีก มันจึงเป็นจินตนาการที่ไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย เช่น หากผู้เล่นได้เข้าไปในโรงภาพยนตร์ในเกม ก็จะพบกับตัวอย่างภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้กับของเผ่าพันธุ์มนุษย์กับสัตว์ในกลุ่มไพรเมต ที่มีลักษณะคล้ายลิง ทำสงครามเพื่อล้างเผ่าพันธุ์กัน ซึ่งในท้ายของตัวอย่างภาพยนตร์ ก็มีการฉายภาพของมีการจัดเรตของภาพยนตร์เป็น “PA – Post-Apocalypse Nonsense” หรือภาพยนตร์แนวหลังวันสิ้นโลกเหลวไหล เพราะมันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย จะเห็นได้ว่า ในเนื้อหาที่เป็นส่วนรายละเอียดของเกม ได้สอดแทรกส่วนนี้ไว้อยู่ค่อนข้างมาก
ดังนั้น ภาพยนตร์ในปัจจุบัน รวมทั้งภาพยนตร์แนว Rom-Com ก็คือภาพยนตร์ที่วนเวียนอยู่กับเรื่องราวในอดีต ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ ทำให้เราวนเวียนกับการมีวิถีชีวิตแบบเดิม กับเรื่องแฟนตาซีที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง เช่น ในภาพยนตร์ Rom-Com อย่าง There’s Something About Mary (1998), Notting Hill (1999), Love Actually (2003), Click (2006) หรือแม้แต่ Crazy Rich Asians (2018) นั้นแสดงให้เห็นความฝันที่จะออกไปจากชีวิตที่แสนธรรมดาในการต้องรีบเร่งไปทำงาน แล้วก็เหนื่อยเพราะงาน แต่ก็จำเป็นต้องทำงาน เพราะ ต้องหาเงิน จึงไม่มีความสมดุลของชีวิตและงาน (work-life balance) จึงพบกับความสัมพันธ์ ความรัก บางอย่างที่เป็นความหวังที่จะทำให้หลุดพ้นจากชีวิตธรรมดาที่น่าเบื่อเหล่านั้นได้ แต่สุดท้ายก็จะพบ “สัจธรรม” ว่าไม่สามารถเป็นไปได้ และควรพอใจกับชีวิตที่น่าเบื่อเหล่านั้นไป โดยมีความรักเป็นเครื่องประดับก็พอ ภาพยนตร์ในปัจจุบัน จึงเป็นดังที่ Lester บอก คือมันน่าเบื่อ วนเวียน และซ้ำซาก แต่ดันขายได้ แต่นี่แหละ คือวันสิ้นโลกของจริง วันที่โลกไม่มัศักยภาพที่จะสามารถคิดค้นสิ่งใหม่ได้แล้ว ได้แต่หากินกับของเก่า หนำซ้ำ ก็ยังขายดีอีกด้วย เช่น การโปรโมตภาพยนตร์เก่า ยกขึ้นหิ้งให้เป็น masterpiece หรือการขนานนามให้เป็น all-time classsic ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการปักหมุดหมายของการหยุดคิดถึงสิ่งใหม่ทั้งสิ้น ซึ่งเชื้อไฟของความเฉื่อยชาทางวัฒนธรรมนี้ มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แล้ว ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
สุดท้าย ก็คือการให้มีเรื่องราวของของสถาบันฝึกจิตวิญญาณ ที่ชื่อว่า Epsilon Program ซึ่งเป็นคล้ายกับลัทธิที่มีความเชื่อและมีปณิธานในการค้นหาความจริง คล้ายกับสถาบันที่มีอยู่จริง ที่มีชื่อว่า Esalen ที่บังเอิญชื่อคล้ายกันและตั้งอยู่ในรัฐ California เหมือนกัน[2] และยังมีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองและต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในลัทธิ ซึ่ง Epsilon Program นี้จะเปิดให้ตัวละครเข้าไปสมัครและเล่นตามคำสั่งที่ตัวแทนของสถาบันสั่ง เช่น ต้องบริจาคเงินจำนวนมาก ในเกมต้องให้บริจาคถึง $50,000 และให้ซื้อชุดของสถาบันมาใส่ หากไม่ทำตาม ก็จะถูกกล่าวหาว่า เป็น antithesis หรือเป็นผู้ขัดขวางความรู้ ซึ่งการที่จะเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องและเป็นจริงได้นั้นจะต้องเชื่อและทำตาม นอกจากนี้ยังมีคำทักทายและบอกลา โดยให้พูดคำว่า ‘Kifflom’ เป็นดั่งรหัสที่พูดกันในลัทธิ การให้ทำภารกิจต่าง ๆ ที่ดูจะไร้เหตุผลอย่างให้ใส่ชุดของสถาบันเป็นเวลา 10 วันติดต่อกัน หรือให้เดินในทะเลทรายด้วยเท้าเปล่า 5 ไมล์ และยังต้องบริจาคเงินเป็นจำนวนมากอีก หากเกิดคำถาม ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต่อต้านทันที คำพูดที่มักจะพูดกันในลัทธิคือ “I know nothing” ก็จะมีคนตอบว่า “Then you know everything” ซึ่งเป็นการย้อนปรัชญาของ Socrates นักปราชญ์ชาวกรีก ที่กล่าวว่าฉันรู้ว่าฉันไม่รู้อะไรเลย แต่ลัทธิ Epsilon กล่าวว่า การไม่รู้อะไรเลยนั้นแหละคือการรู้ทุกอย่างแล้ว ซึ่งนั่นคือความจริง! สิ่งเหล่านี้เป็นการฝึกจิตวิญญาณและเป็นที่มาของ ‘life coach’ ในปัจจุบัน ที่เป็นการสร้างลัทธิและฐานความจริงขึ้นมาให้คนในลัทธิเชื่อ จนกลายเป็นความจริงของพวกเขาในที่สุด ในเกม GTA V ก็ได้มีการล้อเลียนลัทธินี้โดยให้เห็นว่ามีการจ่ายเงินในราคาที่แพงมาก แลกกับคำพูดที่ไร้เหตุผล สุดท้ายเจ้าลัทธิก็จะให้ Michael นำเงินจำนวนมากไปส่งให้กับเฮลิคอปเตอร์ของเขา เพื่อจะนำไปเป็นทุนในการช่วยให้คนใน ‘Cayman Islands’ ได้มีความเข้าใจ ซึ่งในแง่นี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ลัทธิจิตวิญญาณในลักษณะนี้ ก็ทำไปเพื่อหาเงินทั้งสิ้น การฝึกจิตที่เป็นศาสตร์ตะวันออก นำมาผสมกับหลักคิดในแบบตะวันตกเพื่อสร้างเป็นโฆษณา ทั้งที่เป็นสิ่งที่ดูจะไม่สมเหตุสมผล แต่คนก็ยังเชื่อ ซึ่งในปัจจุบันลัทธิเหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย ทั้งยังขยายตัวและมีอิทธิพลมากกว่าศาสนาเสียอีก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมสมัยนิยมที่ถูกทำให้ล้นเกิน และเกิดการชักนำให้เกิดการสถาปนาความถูกต้องทางวัฒนธรรม ซึ่งบางครั้งก็ควรได้รับการวิพากษ์ และ GTA V ก็เป็นเกมที่ทำหน้าที่นั้นได้ดี
บทสรุปที่มาของการต่อต้านและกระตุ้นวัฒนธรรมที่เฉื่อยชา
มีคำกล่าวว่า “คนไม่บ้า โลกไม่หมุน” ก็คงจะเป็นความจริงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะ ในยุคสมัยที่วัฒนธรรมสมัยนิยมยังต้องไปยืมความนิยมมาจากยุคสมัยอื่น เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมในยุคสมัยของตนเองจึงไม่มี จึงเป็นเหตุให้เกิดความหยุดนิ่ง และเฉื่อยชา จึงเป็นที่มาของคำว่าโลกไม่หมุน ดังนั้น โลกจึงต้องการ “คนบ้า” ซึ่งคนบ้าในที่นี้จึงไม่ใช่คนที่มีลักษณะเป็นวิกลจริต แต่หมายถึงคนที่ไม่ตามกระแสสมัยนิยมหรือกระแสร่วมสมัย จึงอาจทำให้เป็นคนที่ดูแปลกจากสังคมโดยรวมทั่วไป
สิ่งที่ GTA V เสนอ จะถือว่าเป็นการต่อต้านได้หรือไม่ ก็คงจะถกเถียงกันได้อีกยาว ตั้งแต่มีองค์ประกอบเพียงพอหรือไม่ หรือทำแล้ว จะได้ผลจริงหรือไม่ แต่นั่นก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะการต่อต้านทางวัฒนธรรมก็ไม่ได้ต้องการเห็นผลอย่างทันทีทันใด การต่อต้านแบบนี้จึงไม่ใช่การต่อสู้ที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการนำเสนอในแง่มุมที่แตกต่างจากกระแสหลัก หรือการก่อร่างสร้างตัว (establishment) ของสถานบันทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งในที่นี้คือ วัฒนธรรมสมัยนิยม ที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้มีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่เป็นตัวแทนของยุคสมัยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ทำให้วัฒนธรรมนั้นมีความเฉื่อยชา แม้แต่การเรียกร้องอย่างเรื่องสีผิว หรือความเท่าเทียมทางเพศต่าง ๆ ยังต้องยกประเด็นในอดีตขึ้นมาอธิปรายกัน โดยไม่ได้มองถึงบริบทในปัจจุบัน เมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ ที่นำปัญหาที่เคยมีในอดีตมา remake หรือทำให้เกิดเป็นปัญหาใหม่ในสังคมปัจจุบัน ก็ย่อมทำให้เกิดกระแสของการตอบรับปัญหานั้นอย่างล้นเกิน เช่น เกิดกรณีกลุ่ม Black Lives Matter, ANTIFA, การเรียกร้องความเท่าเทียมที่มากกว่าทางเพศ หรือการต้องการแสดงออกของเสรีภาพของตนเองอย่างล้นเกินโดยไม่ได้ใส่ใจเสรีภาพของคนอื่น ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของตนเอง และทำให้รู้ว่าการเข้าใจตนเองและการนิยามตนเองมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เป็นการมามีความสำคัญของการเมืองอัตลักษณ์อีกครั้ง ซึ่งทำให้อะไรดูจะล้นเกินไปหมด ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิว ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศนั้นหมดไปจากโลกนี้แล้ว แต่ปัญหานั้นได้ถูกนำมาหยิบฉวยเป็นเครื่องมือทางการเมืองของความขาดวัฒนธรรมในยุคสมัยของตนเอง หรือจะพูดในภาษาง่าย ๆ ก็คือ เป็นการกล่าวเกินจริง (exaggeration) ของปัญหา เพื่อนำมาปิดบังปมของการขาดวัฒนธรรมในยุคสมัยของตัวเอง กล่าวคือ ในเมื่อไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นแปลกใหม่ จึงต้องนำของเก่ามาย้อมใหม่ แล้วทำให้ดูเป็นเรื่องใหญ่โต เพื่อปิดบังความไม่มีแก่นสารของตัวเอง จึงเป็นที่มาของการที่ต้องการจะแสดงออกถึงตัวเองอย่างล้นเกิน นำมาสู่การแข่งขันกันนิยามตัวเองให้ไม่ซ้ำใคร เช่น การเกิดขึ้นของ Me Culture หรือ Me Generation[3] ที่เน้นความเป็นปัจเจกชนนิยมในตัวเอง เป็นต้น
ดังนั้น ความเฉื่อยชาที่ไม่มีอะไรใหม่ จึงเป็นที่มาของการสะท้อนกลับ (rebound) ของการที่ปัจเจกต้องการแสดงออกอย่างล้นเกิน สิ่งที่ GTA V พยายามนำเสนอ คือการพยายามจะบอกว่า สิ่งที่ถูกนำเสนอในกระแสหลักอย่างล้นเกิน จนกลายเป็นดั่งอุปทานหมู่ของสังคมนั้น มันมีมุมที่มีความย้อนแย้งอย่างไร และมันส่งผลร้ายในระยะยาวต่อสังคมอย่างไร ซึ่งเนื้อหาในเกม GTA V ก็ไม่ได้เป็นการบอกตรง ๆ แต่เป็นการวิพากษ์ผ่านการล้อเลียน เสียดสี ประชดประชัน ให้ยังมีความสนุก และตื่นเต้นไปกันมัน และไม่ได้วางอยู่บนฐานของความเฉื่ยชาทางวัฒนธรรมสมัยนิยม
[1] นักวิชาการ, สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย, สถาบันพระปกเกล้า
[3] การตั้งต้นด้วยตัวเอง “ฉัน” เท่านั้นที่ดีที่สุด นอกจากจะทำให้เกิดความคิดที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางแล้ว ยังนำไปสู่ความคิดแบบหลงตัวเอง.(narcissism) อีกด้วย ดู https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2016/mar/02/narcissism-epidemic-self-obsession-attention-seeking-oversharing หรือ https://medium.com/@faronsage/me-first-culture-870791f4b688 และ https://www.psychologytoday.com/us/blog/future-trends/201808/the-rise-me-culture