Articles Book Review

ประชานิยมแบบซ้ายของ Chantal Mouffe สู่ประชาธิปไตยแบบไต่เส้น (?) : บทสำรวจและข้อวิจารณ์ต่องาน “For a Left Populism” (2019) [I]

ศิปภน  อรรคศรี[1]

Chantal Mouffe กับการต่อต้านอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่

          ทุกวันนี้ขณะที่คนรุ่นใหม่หรือผู้นำกระแสด้านเทคโนโลยีโลกกำลังครุ่นคิดกันในเรื่องเปิดโลกใหม่เข้าสู่ Metaverse แต่ในขณะเดียวกัน ผู้คนอีกมากมายทั่วโลกยังคำนึงถึงปัญหาที่ต้องเผชิญจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เรื่องความปากท้องหรือความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจในยุคการแพร่ระบาดของโควิดเช่นนี้ ในสภาวะที่ผู้คนในสังคมเดียวกันแต่มีวิธีคิดเรื่องสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ-สังคมต่างกันเหมือนอยู่คนละมุมของโลก ตลอดจนความแตกต่างในเรื่องของกรอบคิดในการใช้สถาบันการเมืองเป็นกลไกในการแก้ปัญหาก็แตกต่างกัน อุดมการณ์แบบใดเล่าที่กำลังครอบงำผู้คนทั่วโลกให้เขามีมุมมองต่อเศรษฐกิจการเมืองแบบนั้นโดยไม่รู้ตัว เช่นนั้นแล้ว หนังสือของ Chantal Mouffe[2] ที่มีชื่อว่า For a Left Populism” (2019) จึงมีบทบาทสำคัญในการร่วมวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกที่ถูกครอบงำด้วยกรอบคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ดังนั้นแล้วงานเขียนชิ้นนี้จึงต้องการสำรวจงานของ Mouffe ในสามส่วน ได้แก่ ส่วนแรกว่าด้วยอำนาจนำของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ส่วนที่สองเป็นเรื่องของ “populist moment” และส่วนสุดท้ายจึงชวนถกเถียงผ่านข้อวิจารณ์ที่มีต่องาน “For a Left Populism”         

จุดเริ่มต้นคือ การก่อตัวอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่

          จุดเริ่มต้นของ Mouffe ในงาน “For a Left Populism” เธอได้เริ่มตั้งต้นจากวิกฤตทางเศรษฐกิจการเมืองร่วมสมัย นั่นก็คือ วิกฤตจากการก่อตัวอำนาจนำของแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism hegemonic formation) ซึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่มีอย่างน้อยสองส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1. ส่วนของที่มาของแนวคิดอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ และ 2. ส่วนของความเป็นการเมืองภายใต้การครอบงำของอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่

ว่าด้วยส่วนแรกก็คือ ส่วนของที่มาของแนวคิดอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ โดยที่มานั้นมีหมุดหมายสำคัญจากชัยชนะของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Margaret Thatcher นำมาสู่กระแส Thatcherism ในอังกฤษ หรืออธิบายอย่างรวบรัดผ่านคำอธิบายของ Stuart Hall ที่มองเรื่อง Thatcherism ว่า ประชานิยมแบบแธตเชอร์ (Thatcherite populism) นั้นถือเป็นส่วนประกอบระหว่างความเป็นทอรี่โดยธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเรื่องชาติ, ครอบครัว, หน้าที่, อำนาจ, มาตรฐาน และความเป็นประเพณีนิยม เข้ากับส่วนประกอบการฟื้นฟูวิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องผลประโยชน์ส่วนตน, การแข่งขันของปัจเจก และการต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจรัฐ (Stuart Hall, 1988, p. 271) ทั้งนี้ความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ผ่านประกาศใช้นโยบายในยุคของ Thatcher จึงนำมาสู่การถดถอยของแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการลง ทั้งในเรื่องวิธีคิดการรวมหมู่ (collectivist) หรือการบริหารที่นำโดยระบบราชการ หรือกล่าวได้ว่า Thatcher ได้พยายามต่อสู้กับอำนาจนำของแนวคิดเรื่องสังคมนิยมประชาธิปไตย ด้วยการสืบสานแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมอย่าง Friedich Hayek เพื่อลดอำนาจรัฐและขยายเสรีภาพของปัจเจก (Chantal Mouffe, 2019, p. 30-31) จนกระทั่งแนวคิดเรื่องเสรีนิยมใหม่ของเธอได้ประกอบสร้างเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ครอบงำทั้งพลังทางเศรษฐกิจและสังคม (Ibid, p. 32)

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการประกาศของ Thatcher เพื่อลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 1990 เหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนต่ออำนาจนำของแนวคิดเสรีนิยมใหม่แต่อย่างใด สังเกตได้จากการเข้าสู่อำนาจนายกรัฐมนตรีของ Tony Blair จากพรรค Labour ในปี ค.ศ. 1997 ในช่วงเวลานั้นผู้คนกลับมีกรอบความคิดเรื่องความเป็นปัจเจกสูงมากเสียจนไม่คิดพึ่งพาบริการสาธารณะจากรัฐ (Stuart Hall, 2015, p.25) แนวคิดเสรีนิยมใหม่จึงไม่ได้มีเพียงการปรับใช้นโยบายสาธารณะในยุคของ Thatcher หากแต่ยังทรงพลังพอที่จะแสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งในยุคของพรรคขั้วตรงข้ามอย่าง Labour ที่ชูธงความคิดเรื่องสังคมนิยมประชาธิปไตยแล้วก็ยังไม่สามารถปฏิเสธการปรับตัวอยู่ภายใต้อำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ได้เลย ทว่าประเด็นสำคัญนั้นไม่ได้มีเพียงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะให้สอดคล้องกับแนวทางเสรีนิยมใหม่แต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังสัมพันธ์ไปถึงความเป็นการเมืองและบรรยายกาศความเป็นประชาธิปไตย       

เสรีนิยม VS. ประชาธิปไตย: แก่นแท้ของประชาธิปไตยที่สั่นคลอน (?)

          ทั้งนี้ในส่วนที่สอง กระแสการรุกคืบของเสรีนิยมใหม่นี้เองจึงส่งผลให้ Mouffe เชิญชวนให้กลับมาทบทวนแนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตย” เพราะกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วโลกช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง ตลอดจนหลังสงครามเย็นนั้น มิได้หมายความว่าประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลกจะมีลักษณะเดียวกันในเชิงบวกที่เป็นบรรยากาศของฟ้าสีทองผ่องอำไพ เสียงของประชาชนจึงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทว่าในทางกลับกัน ระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกต่างกลับค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแปลงร่างจนเข้าสู่สภาวะที่ Mouffe เรียกว่า สภาวะ “หลังการเมือง” (post-political) เนื่องจากการขยายตัวของเสรีนิยมใหม่ได้ก่อร่างอำนาจนำให้ประชาชนถูกจำกัดกรอบความคิดในฐานะ “ปัจเจก” ที่ออกห่างจาก “ความเป็นการเมือง” มากยิ่งขึ้น จนกระทั่งปัจเจกรู้สึกแปลกแยกออกจากสถาบันทางการเมืองประชาธิปไตย (Chantal Mouffe, 2019, p. 4) ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านเป็นสภาวะหลังการเมืองแล้ว หลังจากนี้ระบอบประชาธิปไตยจึงเข้าสู่ “ยุคหลังประชาธิปไตย” (post-democracy)

          การเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยสู่ “หลังประชาธิปไตย” ในทัศนะของ Mouffe ที่มองว่าเกิดจากการที่แนวคิดเสรีนิยมใหม่ทำให้ระบอบการเมืองประชาธิปไตยหลงทางจากความหมายดั้งเดิมในภาษากรีก demos  กับ kratos หรือแปลรวมกันได้ว่า “อำนาจแห่งประชาชน” (Ibid, p. 14) แต่ทว่าระบอบการเมืองในปัจจุบันกลับแตกออกเป็นสองประเพณีใหญ่ ได้แก่ ประเพณีแบบเสรีนิยมทางการเมือง (political liberalism) อันยึดโยงกับหลักนิติรัฐ, หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการพิทักษ์เสรีภาพของปัจเจก ขณะที่อีกประเพณีหนึ่งที่ทรงอิทธิพลในห้วงเวลาเดียวกันคือ ประเพณีการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งให้ความสำคัญกับวิธีคิดเรื่องความเท่าเทียมกัน และอำนาจอันเป็นของประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งสองจะมีคุณลักษณะบางประการต่างกัน แต่ในห้วงเวลาหนึ่งทั้งสองประเพณีได้ประกบเข้าด้วยกันในที่สุดเพื่อเอาชนะระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์  (CB Macpherson, 1977)

          ทว่าในเมื่อการประกบเข้ากันระหว่างได้แก่ ประเพณีแบบเสรีนิยมทางการเมือง กับประเพณีการเมืองแบบประชาธิปไตย ทั้งสองร่วมกันเพื่อพิชิตระบอบการเมืองที่เป็นดั่งคู่ต่อสู้ร่วมกันของทั้งสองประเพณี คำถามที่ตามมาคือ แล้วช่วงเวลาหลังจากนั้นทั้งสองประเพณีจะเป็นอย่างไร จะรวมเป็นเนื้อเดียวกันต่อไปได้อีกนานเพียงใด ซึ่งเกษียร เตชะพีระ เสนอข้อถกเถียงในประเด็นนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ สภาวะตึงเครียดระหว่างการเมืองแบบเสรีนิยมกับประชาธิปไตย ทั้งสองแม้จะสามารถประกบกันจนเป็นระบอบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ทว่าภายใต้การประกบกันนั้นซ่อนความขัดแย้งเอาไว้ (เกษียร เตชะพีระ, 2562) โดยเกษียรได้ต่อยอดคำตอบอย่างน้อยสองประการจากนักวิชาการรัฐศาสตร์ที่พยายามนำเสนอว่าเหตุใด “เสรีนิยม” กับ “ประชาธิปไตย” เกิดการแปรเปลี่ยนอย่างไรหลังจากทั้งสองเกิดความไม่ลงรอยต่อกัน

ประการแรก ข้อเสนอของ Fareed Zakaria เสนอปรากฎการณ์ “ประชาธิปไตยไม่เสรี” (illiberal democracy) โดยสรุปอย่างรวบรัดว่า แม้บางประเทศจะนำกลไกของระบอบประชาธิปไตยมาปรับใช้ แต่ก็อาจเป็นเพียงการใช้แค่กลไกการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเพื่ออ้างความชอบธรรมอันมีที่มาจากประชาชนเท่านั้น หากแต่การใช้อำนาจของรัฐอย่างรวมศูนย์ผูกขาดอำนาจและการตรวจสอบ หรือขาดความระแวดระวังไม่ให้รุกล้ำขอบเขตเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด ตัวอย่างคือ ประธานาธิบดี Alexander Lukashenko แห่งเบลารุส หรือประธานาธิบดี  Alberto Fujimori  แห่งเปรู เป็นต้น (Fareed Zakaria, 1997, p. 30)

ขณะที่นักวิชาการอย่าง Peter Mair นำเสนอปรากฎการณ์มุมกลับคือ “ประชาธิปไตยไส้กลวง” (hollowed-out democracy) ที่เป็นมุมมองต่อปรากฎการณ์ “ระบอบการเมืองที่ปลอดการเมือง” อันเป็นการลดทอนอำนาจการเมืองของตัวแทนประชาชน แล้วยกยอดอำนาจดังกล่าวให้แก่สถาบันที่ไม่ใช่เสียงข้างมาก เช่นเหล่าผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นต้น ซึ่งชัดเจนว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นเสียงข้างน้อยซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแทน ระบอบการเมืองในลักษณะนี้จึงขาดแหล่งที่มาอันยึดโยงกับประชาชนเสียงข้างมาก หากแต่ได้รับความชอบธรรมจากเสียงข้างน้อยผู้แสดงตนเป็นผู้ทรงสิทธิ์ทางการเมืองที่ผูกขาดอำนาจในการตีความและตัดสินใจทางการเมืองใด ซึ่งตัวอย่างหนึ่งที่ Mair ยกเป็นกรณีศึกษาคือ สหภาพยุโรป อำนาจการตัดสินใจอันมีผลประโยชน์และผลกระทบข้ามรัฐจากการตัดสินใจของชนชั้นนำทางการเมือง ทว่าขาดระบบการวางตัวแทนของประชาชนเสียงข้างมากให้มีประสิทธิผลตามหลักประชาธิปไตย (Peter Mair, 2013, p. 104)

สู่จุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นแก่นแท้ของประชาธิปไตย (radicalising democracy)

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ระบอบประชาธิปไตยจึงค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแปลงร่างไป จากการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อแสวงหาผู้นำทางการเมืองในอุดมคติที่จะมากำหนดอนาคตทางการเมืองของสังคมการเมืองหนึ่ง ๆ ให้เป็นไปตามที่เสียงส่วนใหญ่ต้องการ ความเคยชินในการร่วมออกเสียงกำหนดอนาคตการเมืองโดยประชาชนได้แปรผันไปตามอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ อำนาจรัฐถูกลดลงเพื่อขยายขอบเขตความรับผิดชอบตนเองของปัจเจกทั้งในด้านเศรษฐกิจแนวทางเสรีนิยมใหม่ และประชาธิปไตยที่ถูกอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ครอบงำกรอบคิดทางการเมืองให้พึ่งพาตนเองไปพร้อมกับความรู้สึกเหินห่างจากสวัสดิการหรือความคุ้มครองโดยรัฐ สู่การที่ปัจเจกภายใต้อำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ออกแสวงหาเพียงตัวผู้นำทางการเมืองที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางการเมืองของฐานเสียงทางการเมืองของพวกเขา/พวกเธอเหล่านั้น เพื่อให้ปัจเจกรู้สึกมีสิ่งให้ยึดโยงยึดมั่นท่ามกลางสภาวะแปลกแยกจากทั้งระบบเศรษฐกิจและระบอบการเมืองที่ความเป็นประชาธิปไตยถดถอยลงทุกขณะ ด้วยเหตุนี้เอง Mouffe จึงมองว่าต้องนำเอา “แก่นแท้” ของประชาธิปไตยกลับคืนมา นั่นก็คือ แนวคิดเรื่องดึงอำนาจอธิปไตยของประชาชน (popular soveriegnty) กลับคืนมา ผ่านแนวคิดที่ชื่อว่า “ห้วงโอกาสประชานิยม” (populist moment)

บรรณานุกรม

  • เกษียร เตชะพีระ. (24 ก.พ. 2562). “เกษียร เตชะพีระ : สถานการณ์ของเสรีประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน”. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564, จาก: https://www.matichonweekly.com/column/article_399937.
  • Hall, S. (1988). “Learning from Thatcherism” in The Hard Road to Renewal. New York and London: Verso.
  • Macpherson, CB. (1977). The Life and Times of Liberal Democracy. Oxford: Oxford University Press.
  • Mouffe, C. (2019). For a Left Populism. Brooklyn and London: Verso.
  • Zakaria, F. (1997). The Rise of Illiberal Democracy. Foreign Affairs, 76(6), 22–43.

[1] สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย

[2] Mouffe ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของผลงานชิ้นสำคัญ ที่เธอได้เขียนขึ้นร่วมกับ Ernesto Laclau ในปี 1985 ชื่อว่า “Hegemony and the Socialist Strategy” ซึ่งเป็นหนังสือที่มีใจความสำคัญถึงการเห็นคุณค่าและความสำคัญของความต้องการ (demand) ที่หลากหลายของประชาชน และ “ยุทธศาสตร์” สำคัญของฝ่ายซ้ายคือต้องรวบรวมความต้องการที่หลากหลายนั้น ให้กลายเป็นอัตลักษณ์ร่วมหนึ่ง ๆ ของประชาชน เพื่อที่จะสามารถเอาชนะความต้องการอื่น ๆ ของฝ่ายขวา และครองอำนาจนำ (hegemony) ให้ได้ ซึ่ง Laclau เองก็ได้เขียนหนังสือ “On Populist Reason” (2005) ในการกล่าวถึงเหตุผลที่ว่า เหตุใด “การเมืองแบบประชานิยม” จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเอาชนะและได้ครองอำนาจนำของประชาชน แม้ว่าจะมีวิวาทะในการอภิปรายผ่านตัวหนังสือร่วมกับ Judith Butler และ Slavoj Žižek ในปี 2000 ที่ทั้งสองดูจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการและยุทธศาสตร์ดังกล่าวของ Laclau โดยเฉพาะการใช้การเมืองของอัตลักษณ์ ก็ตาม ติดตามวิวาทะดังกล่าวได้ใน Ernesto Laclau, Judith Butler, and Slavoj Žižek. “Contingency, Hegemony, Universality(2000). Verso: London.


Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: