ขวัญข้าว คงเดชา
*เขียนจากมุมมองของผู้ที่ยังไม่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือตัวเต็ม
เพียงแต่รับชมภาพยนต์ภาคแรกเท่านั้น

หนังสือหรือภาพยนตร์ไม่ได้ถูกสร้างเพื่อวัตถุประสงค์ทางความบันเทิงแต่เพียงอย่างเดียว หลายครั้ง ภาพยนตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพคู่ขนาน อดีตที่ผ่านมา และความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุดในอนาคต การสร้างหนังคล้ายกับการสร้างสัญลักษณ์บางอย่างที่มีนัยยะให้ตีความได้หลากหลายและอาจจะมีความหมายไปไกลยิ่งกว่าที่ผู้สร้างตั้งใจไว้แต่แรก ภาพยนต์หรือนวนิยายจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การสะท้อนหรือการตีความถึงลักษณะของสังคม คุณค่า ค่านิยม ประเพณี ความเชื่อ หรือแม้แต่เหตุการณ์ทางสังคมการเมืองทีเกิดขึ้น แต่ยังเป็นการศึกษาถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นโดยพื้นฐานของกรอบความคิดที่มี ดังคำโปรยในหนังภาพยนต์ล้อเลียน ‘สร้างจากเหตุการณ์จริงที่ไม่เคยเกิดขึ้น’ เป็นประโยค irony (ประชดประชัน-เหน็บแนม) ที่อธิบายรูปแบบของภาพยนต์และนวนิยายได้ดี
Science Fiction หรือบันเทิงคดีวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในประเภทของภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มคนดูที่หลากหลาย โดยบอกเล่าถึงผลกระทบของเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือการพัฒนาที่เกิดขึ้น— ส่วนมากมักจะเป็นในภาพของ— ในอนาคตต่อสังคมหรือปัจเจกบุคคล ในส่วนใหญ่มักจะฉายภาพความกลัวต่อเทคโนโลยีและความพยายามจะก้าวข้ามผ่านความท้าทายจากนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านั้น และในหลายครั้งที่ประเภทของเนื้อเรื่องถูกออกแบบให้มีความเป็นการเมืองปะปนอยู่สูง ภาพยนต์ที่พัฒนามาจากหนังสือนิยายที่ชื่อ Dune (2021) เองก็เช่นเดียวกัน
DUNE (2021)
ภาพยนต์ sci-fi ความยาวกว่า 140 นาที กลายเป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่หลายคนให้ความสนใจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุเพราะนักแสดงนำดาวรุ่งหลายท่าน คุณภาพของการถ่ายทำ หรือชื่อเสียงของเนื้อเรื่องที่มีการกล่าวขานถึงมานานหลายสิบปี DUNE คือหนังสือนวนิยายโดย Frank Herbert ตีพิมพ์ในปี 1965 ที่แม้จะมีการดำเนินเรื่องเกี่ยวกับอวกาศ เทคโนโลยี และสงครามอนาคตอันไกล แต่กลับไม่ได้ยึดโยงกับเนื้อเรื่องเชิงวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ในทางกลับกลันสะท้อนเนื้อหาที่มีความเป็นการเมืองมากกว่า จนมีการกล่าวขานว่าเป็นนิยายที่ไม่สามารถสร้างเป็นภาพยนต์ได้เพราะความซับซ้อนของเนื้อหาและเส้นเรื่อง งานชิ้นนี้ถือเป็นรากฐานให้แก่ผลงานเชิง sci-fi อีกมากมายในภายหลัง
โดยย่อ Dune เล่าถึงโลกในอนาคตที่เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีจนมนุษย์สามารถเดินทางในอวกาศและอาศัยตามดวงดาวอื่น ๆ บนจักรวาล ทว่าการปกครองกลับตกอยู่ภายใต้รูปแบบของจักรวรรดิ ตัวเอก หรือ พอลอาทรีเดส บุตรชายแห่งตระกูลอาทรีเดสที่เริ่มเรื่องอำนาจจนจักรพรรดิพาร์ดิชามีคำสั่งให้ตระกูลอาทรีเดสเดินทางไปปกครองและรวบรวม สไปช์ หรือทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดในจักรวาล ณ ดาวอาร์ราคิสที่เต็มไปด้วยทะเลทรายและความร้อน เขาต้องเผชิญกับสงครามเมื่อตระกูลฮาร์คอนเนนซึ่งเป็นผู้ที่เคยครอบคลองธุรกิจการเก็บเกี่ยว สไปช์ บนดาวอาร์ราคิสแต่เพียงผู้เดียวนั้นหมายจะแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ดังเดิมกลับมา จึงเกิดเป็นการผจญถัยและความพยายามเอาตัวรอดของพอล
เนื้อหาของ Dune สามารถแบ่งออกเป็นการเมืองภายใน และการเมืองภายนอกอย่างไม่ต้องสงสัย สำหรับการเมืองภายใน มีดังต่อไปนี้
ปัจจัยหลักที่เริ่มเรื่องราวทุกอย่างคือการค้านอำนาจของการเมืองภายในอาณาจักรกาแลคซีที่ชื่อว่า Galactic Padishah Empire สภาพการปกครองของจักรวรรดิที่เรียกกันว่า imperium นั้นประกอบไปด้วย 3 สถาบันสำคัญ The Landsraad หรือกลุ่มตระกูลขุนนางที่มีความสัมพันธ์กับจักรพรรดิในลักษณะของระบบกึ่งฟิวดัล The Bene Gesserit หรือฝ่ายศาสนจักรควบคุมด้วยสตรี และ The Spacing Guild หรือกลุ่มขนส่งที่ผูกขาดอำนาจทางการตลาดควบคู่ไปกับ CHOAM (Combine Honnete Ober Advancer Mercatniles) หรือสมาคมที่ดูแลและควบคุมเศรษฐกิจการค้าของทั้งจักรวาล
The Landsraad
ถ่วงดุลภายในกลุ่มตระกูลขุนนางและจักรพรรดิมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์ในโลกของความเป็นจริง แม้ว่าหากทุกตระกูลร่วมมือกันอำนาจทางการทหารนั้นย่อมมีมากพอที่จะโค่นล้มจักรพรรดิ ทว่าแต่ละตระกูลกลับเลือกที่จะกอบโกยและเสาะหาผลประโยชน์ให้ตระกูลของตนเองเป็นสำคัญ ตระกูลอาทรีเดสเองก็ไม่ต่างกัน และใต้การปกครองของจักรพรรดิ (Padishah Emperor Shaddam IV) เติบโตและมีอิทธิพลต่อตระกูลอื่น ๆ มากเกินกว่าที่จักพรรดิจะยอมรับได้ ความหวาดระแวงและความหวั่นเกรงส่งผลให้มีคำสั่งส่งตระกูลอาทรีเดสเข้าไปปกครองและเก็บสไปช์ที่อาร์ราคิส ในฉากหน้า การได้รับคำสั่งย้ายไปอาร์ราคิสนั้นจะดูเหมือนเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ตระกูลอาทรีเดสที่ได้รับการยอมรับและพึ่งพาจากหลากหลายตระกูลใน the Landsraad ทว่าในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นคำสั่งที่ส่งให้ตระกูล
อาทรีเดสต้องพบกับจุดจบ
‘จักรพรรดิคือชายผู้ช่างอิจฉา’ คำกล่าวของผู้นำตระกูลฮาร์คอนแนนอธิบายถึงสภาวะทางการเมืองในเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี กล่าวได้ว่าการขึ้นมามีอิทธิพลมากเกินไป (ในสายตาของจักรดิพรรดิ) ทำให้การค้านอำนาจใน The landsraad นั้นสั่นคลอน การค้านอำนาจกันเองของแต่ละตระกูลที่ทำให้จักรพรรดิอยู่บนจุดยอดสูงสุดของการปกครองนั้นเผชิญกับความท้าทายหากตระกูลทั้งหลายหันมาร่วมมือกัน ส่งผลต่อความเปราะบางของจักรดิพรรดิเป็นอย่างมาก ฉะนั้นแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นตัวอย่างไม่ให้ตระกูลใดคิดกระทำคล้ายคลึงในภายภาคหน้า ตระกูลอาทรีเดสจึงต้องสิ้นสุด เป็นที่มาของการเปิดเรื่อง Dune ดังที่เห็น
The Bene Gesserit
ความเป็นสตรีที่ไม่ได้ถูกกดขี่ภายในเรื่องของ Dune ภายในเรื่องนี้ สตรีไม่ได้ถูกจำกัดไว้ที่งานบ้านหรือการเป็นช้างเท้าหลัง กลับกัน นอกจากบทบาทของตัวละครสำคัญที่มีความเด็ดเดี่ยวเข้มแข้ง ยังพบว่าองค์กรฝ่ายศาสนาในจักรวาลนั้นถูกควบคุมด้วยภาคีนางชี ทั้งยังเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สร้างฐานอำนาจและเพิ่มอิทธิพลของกลุ่มตนเอง นอกจากนี้ The Bene Gesserit ยังไม่ได้มีอิทธิพลเพียงแต่ในความเชื่อและความศรัทธา แต่สถาบันหลักนี้ยังเน้นไปยังการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่มีสตรีเป็นผู้นำหลัก มีความทะเยอทะยานที่จะศึกษาเข้าถึงแหล่งความรู้ทุกชนิด ลักษณะคล้ายกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่กระแสหนังร่วมสมัยมักนิยมฉายให้เห็น เพราะก็เป็นกลุ่ม The Bene Gesserit ที่พยายมตัดแต่งพันธุกรรมและให้กำเนิดบุคคลที่มีคุณลักษณะตรงตามความเชื่อของตนเพื่อที่จะเป็นผู้นำมวลมนุษย์ได้
ในภูมิทัศน์ทางสังคมและการเมืองของโลกในความเป็นจริง ศาสนานั้นถูกจำกัดไว้ที่เพศชายเป็นสำคัญ สถานะของผู้หญิงในทางศาสนานั้นถูกกำหนดไว้ที่บทบาทรองหรือการเป็นผู้ตามและผู้สนับสนุน เช่นเดียวกันกับในสาขาแขนงอื่นที่ผู้หญิงจำต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและการยอมรับ การทำลายพนังกระจก (the glass ceiling) ในสาขาที่ผู้ชายเป้นใหญ่อาทิ วิทยาศาสตร์ นั้นทำได้อย่างยากลำบาก ทว่าในเรื่อง Dune กลับกลายเป็นสถาบันของสตรีหรือที่เรียกกันว่า matriarchy order แม้แต่ในบทยังมีคำพูดกล่าวโดยผู้นำของ The Bene Gesserit ที่แสดงความไม่พอใจต่อการให้กำเนิดลูกผู้ชาย (พอล อะทรีเดส) แทนการให้กำเนิดลูกผู้หญิง โดยมองว่าพลังต่าง ๆ จะไม่สามารถแสดงผลหรือนำมาใช้ได้เต็มที่เหมือนเด็กผู้หญิง
The Spacing Guild และ CHOAM
การผูกขาดทางเส้นทางคมนาคมและวิธีการขนส่งไว้ที่กลุ่มเดียว ทำให้ The Space Guild ซึ่งเป็นกลุ่มที่มียานอวกาศและผู้นำทาง (navigator) ขึ้นมามีอำนาจทางเศรษฐกิจและกลายเป็นสถาบันหลักควบคู่ไปกับ CHOAM ทั้งสองกลุ่มพึ่งพาซึ่งกันและกัน กล่าวได้ว่าในณะที่ CHOAM นั้นกำกับสินค้า The Spacing Guild ก็เป็นผู้ขนส่งสินค้าทั้งหมดนั้นข้ามจักรวาลแต่เพียงผู้เดียว
ทว่า The Spacing Guild นั้นจะเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรอย่างสไปช์เป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า ผู้นำทางอวกาศนั้นจำเป็นจะต้องใช้สารสไปช์เพื่อที่ตนเองจะมีพลังในการมองเห็นเส้นทางและขับเคลื่อนยานไปส่งที่จุดหมายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย หากเปรียบเทียบกันแล้วก็คงคล้ายกับนำมันที่มูลค่ามหาศาล เพียงแต่สไปช์นั้นหายากกว่าและไม่มีอะไรมาทดแทนได้ ความสำคัญของสไปช์ต่อกลุ่มดังกล่าวจึงก่อให้เกิดการแทรกแซงทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง โดยที่เพื่อจะคงไว้ซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
จากเนื้อเรื่องพบเห็นการผูกขาดทางการตลาดและอำนาจเศรษฐกิจไว้ที่กลุ่มเดียว โดยที่มีการพึ่งพาทางทรัพยากรล้ำค่าหนึ่งอย่างที่กลายเป็นทั้งเครื่องมือในการต่อรองทางอำนาจและทางการเมือง คำสั่งของจักรพรรดิที่ให้ตระกูลอาร์ทรีเดสเข้าไปแทนทีตระกูลฮาร์คอนเนนซึ่งมีสิทธิผูกขาดต่อทรัพยากรดังกล่าวอยู่แต่เดิม นำมาซึ่งสงครามของการแย่งชิงทรัพยากร การผูกขาดผลประโยชน์ทางทรัพยากรนำมาซึ่งสงครามไม่ใช่เรื่องใหม่ ในความเป็นจริงแล้ว ความขัดแย้ง (ที่อาจกลายร่างเป็นสงคราม) มีต้นตอมาจากที่ฝ่ายหนึ่งขัดขวางไม่ให้อีกฝ่ายได้ในสิ่งที่ต้องการ The Spacing Guild แม้จะไม่ได้ร่วมมือทางตรงกับตระกูลฮาร์คอนเนนเพื่อที่จะล้มตระกูลอาร์ทรีเดส แต่พวกเขาเลือกที่จะเข้ากับตระกูลฮาร์คอนเนนที่ให้ทรัพยากรสไปช์และผลประโยชน์ได้มากกว่า เป็นเรื่องของธุรกิจ นจริ
จาก 3 กลุ่มหลักภายในเรื่องเห็นได้ถึงการวางรากฐานทางการเมืองของจักรวรรดิภายในเรื่อง Dune โดยมีทั้ง 3 ขาใกล้เคียงกับในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง (ที่รวมเรื่องของกฎหมายและการปกครอง) เรื่องของความเชื่อศาสนาที่มาควบคู่กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเรื่องของการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการคมนาคม ซึ่งหากมองย้อนกลับไปยังปีที่ Dune ตีพิมพ์ หรือปี 1965 สภาพทางการเมืองหรือสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวมีอิทธิลพเป็นอย่างมากต่อเนื้อเรื่องของ Dune ไม่ว่าจะเป็นความพัวพันกับการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะการแข่งขันทางอวกาศ (space race) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต การเมืองภายในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับอิทธิพลมาจากสงครามเวียดนาม การต่อสู้ของขบวนการสิทธิพลเมือง (civil rights movement) และกระแสสิทธิสตรีที่เริ่มเพิ่มมากขึ้นดังที่ปรากฏในกลุ่มตัวละครของ The Bene Gesserit ประเด็นทรัพยากรอย่างน้ำมันจากกลุ่ม OPEC ที่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ในตลาดน้ำมันแทนสหรัฐฯ จนเกิดการปรับเปลี่ยนทางการพึ่งพาน้ำมันมาที่ประเทศตะวันออกกลางแทน และอื่น ๆ
นอกจากองค์ประกอบทางการเมืองในยุคสมัยนั้นที่ส่งผลต่อเนื้อเรื่องของ Dune แล้ว ผู้เขียนยังได้รับอิทธิพลจากตะวันออกกลางและศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก ดังที่ปรากฏในกลุ่มตัวละครของพวก Fremen ซึ่งแม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองโลกอย่างเหตุการณ์ 9/11 ที่นำไปสู่ war on terror จะยังไม่เกิดขึ้น ทว่าเนื้อเรื่องของ Dune กลับสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตรลักษณะและพฤติกรรมของประเทศมหาอำนาจต่อประเทศรอบข้างที่เป็นมาตั้งแต่ในอดีตได้เป็นอย่างดี จนนำมาซึ่งการสะท้อนการเมืองภายนอกของเนื้อเรื่อง
The colonizer หรือ Messiah ผู้มาโปรด
อย่างไม่ต้องสงสัย เนื้อเรื่องของ Dune ดำเนินในมุมมองของประเทศมหาอำนาจที่มีทรัพยากรและสมรรถนะเพียงพอที่จะเดินทางไปครอบครองดินแดน อาณาเขต และทรัพยากรของดาวดวงอื่น ดังคำสั่งของจักรพรรดิที่บัญชาให้ตระกูลอะทรีเดสเดินทางไป ปกครอง ดาวอาร์ราคิสและดึงทรัพยากรสไปช์กลับมาเกื้อหนุนโครงสร้างของจักรวรรดิต่อ แม้จะมีเรื่องของการเมืองภายในซึ่งเป็นการแข่งขันทางอำนาจ ทว่าในภาพกว้าง รูปแบบดังกล่าวนั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของการเป็นเจ้าอาณานิคมในการเมืองที่ผ่านมา สมัยที่ยังเกิดการแบ่ง orientalism (ความคิดแบบตะวันออกในสายตาของคนตะวันตก) และ occidentalism (ความคิดแบบตะวันตกในสายตาของคนตะวันออก)
ความเข้าใจต่ออีกฝ่ายที่แตกต่าง ในขณะที่ฝ่ายตะวันตกมองฝ่ายตะวันออกด้วยชุดความคิดแบบหนึ่ง เป็นดังผู้ที่ไม่มีอารยะ ไร้ซึ่งการพัฒนา สมควรจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ฝ่ายตะวันออกก็มองฝ่ายตะวันตกด้วยสายตาอีกแบบ ส่วนมากมักจะเป็นความหวาดกลังหรือเกลียดชังของประเทศอาณานิคมที่เดินทางเข้ามาบุกยึดดินแดน ความขัดแย้งในระดับนี้พบเห็นได้ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่ารูปแบบนั้นจะแปลงเปลี่ยนทว่านัยยะของความแตกต่างและความคิดเห็นต่ออีกฝ่ายยังคงอยู่ เช่น ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่ได้มีประเด็นเรื่องของการยึดครองอาณานิคม ทว่าในประเด็นเรื่องของทางเศรษฐกิจก็ยังพบเห็นถึงการผูกขาดและความได้เปรียบของประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือ Global North Countries
กระนั้น ในเนื้อเรื่องก็ยังดำเนินการชูความเป็นฮีโร่ หรือผู้ที่จะมาโปรดละนำทางกลุ่มผู้ถูกกดขี่ไปสู่ความสุขในอนาคต และผู้นั้นก็คือ เด็กหนุ่มผิวขาวต่างแดนที่ถูกย้ายตามครอบครัวมาเพื่อปกครองแผ่นดิน เห็นได้ชัดจากฉากที่ พอลมองเห็นภาพอนาคตที่เกิดสงครามในนามของตนเอง ใบหน้าและน้ำเสียงดูตื่นตกใจและหวาดกลัว ไม่ได้มีความต้องการที่จะเห็นมันเกิดขึ้น แต่มันคือชะตาที่ฟ้าลิขิตไว้แล้ว หรือเปล่า?
คำตอบคือไม่ และมันคือการเมือง จากคำกล่าวของผู้นำ The Bene Gesserit ที่พูดกับแม่ของพอลไว้ว่าทุกอย่างถูกเตรียมพร้อมไว้ก่อนที่ตระกูลอะทรีเดสจะลงไป กล่าวได้ว่าความเชื่อได้ถูกฝั่งลงไปในสังคมเป็นเวลาเนิ่นนานเพิ่อเตรียมการเป็นที่เรียบร้อย และความเชื่อนั้นก็คือแนวคิดในเชิงศาสนาที่ทางผู้เขียนได้มีการผสมผสานกันระหว่างศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามของตะวันออกกลาง
เมื่อความเชื่อถูกปลูกฝังมาจนเกิดการฟักตัว ยามที่เด็กหนุ่มที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ก่อนเกิดว่าจะต้องมีกรรมพันธเช่นนี้ เลี้ยงดูมาแบบนี้ ได้รับการสั่งสอนวิชาทางพลังจิตมาแบบนี้ จึงได้รับผลประโยชน์และได้รับการยอมรับในทันที่ในฐานะของผู้ที่ถูกส่งมา ทุกอย่างถูกเตรียมการมาเพื่อเขา แต่ก็ไม่ใช่เพื่อเขา เพราะหากพอลไม่สามารถเป็นในตามลักษณะความเชื่อที่ถูกปลูกฝังในสังคมได้ การเตรียมการทุกอย่างนั้นก็จะเฝ้าคอยเวลาของปัจเจกคนอื่นที่ถูกทดลองสร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งนี้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นนี้จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องของพอลแต่เพียงอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของโครงสร้างที่สรรหาปัจเจกบุคคลที่จะมาทำหน้าทีที่ได้มีการกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นในเชิงลักษณะของการเป็นประเทศเจ้าอาณานิคม และศาสนาที่ปูพื้นให้เกิดการยอมรับและความเชื่อภายในสังคมแล้ว การต่อต้านและการโค่นล้มอำนาจดังเดิมภายในเนื้อเรื่องก็ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยกลุ่มฝ่ายช้ายที่ตีความจากหนังสือและภาพยนต์เรื่องนี้ โดยมองว่าการที่ตัวละครเอกหรือพอลได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมและกลายเป็นผู้นำของกลุ่ม Fremen นั้นนำไปสู่การลุกฮือและการปฏิวัติจากการกดขี่ของผู้ที่มารุกรานพื้นที่ เป็นการโค่นล้มอำนาจเก่าของจักรพรรดิองค์เดิม (ในภาคต่อ ๆ ไป) สังเกตได้ว่าแม้กระทั่งชื่อของกลุ่ม Fremen ก็มาจากคำว่า Free men หรือกลุ่มคนอิสระไม่อยู่ภายใต้การบงการหรือปกครองของใคร
ทว่าผู้เขียนได้ลองค้นหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาคต่อของภาพยนต์และหนังสือ Dune พบว่าการโค่นล้มอำนาจเก่าแลกมาด้วยการขึ้นครองราชย์ของพอลที่กลายเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวปัจเจกบุคคลคนเดียวมากกว่าเดิม เนื่องด้วยการเข้าถึงทรัพยากรล้ำค่าที่ใครก็ต่างพยายามจะแย่งชิงและเป็นผู้ครอบครองอย่างสไปช์ และการมีคำทำนายทางความเชื่อของศาสนาว่าเขานั้นคือ Muad’dib ที่ส่งผลทำให้เขานั้นกลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาใหม่ เรียกได้ว่าในท้ายที่สุดพอลสามารถครอบครองอำนาจจากทั้ง 3 สถาบันได้ แต่ถึงกระนั้นในเนื้อเรื่องของ Dune จุดหมายปลายทางก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าสนใจเท่ากับความเข้มข้นของเนื้อเรื่องทางการเมือง การแข่งขันทางอำนาจ เครื่องมือทางศาสนาและความเชื่อ และปัจจัยทางทรัพยากร ตัวหนังสือดังเดิมจึงได้มีความยาวถึง 6 เล่มด้วยกัน
ท้ายที่สุดนี้ แม้เส้นเรื่องหลักจะเป็นการพยายามเอาชีวิตรอดท่ามกลางอันตรายของเด็กผู้ชายผิวขาว หากแต่รายละเอียดกลับมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ไม่แปลกใจที่ Dune จะกลายเป็นหนังสือและภาพยนต์ sci-fi ขึ้นหิ้งที่วาดภาพฝันถึงอนาคตที่มีความพัฒนาก้าวไกลแต่ยังเต็มไปด้วยการเมืองที่เข้มข้นและวนเวียนอยู่กับสภาพการแก่งแย่งทางอำนาจดังที่โลกคุ้นเคยทั้งในอดีตและปัจจุบัน สุดท้ายนี้จึงเกิดเป็นคำถามว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ภูมิทัศน์ทางการเมืองของโลกจะเปลี่ยนไปในเชิงรายละเอียดมากแค่ไหน แต่การแข่งขันกันทางอำนาจที่มีลักษณะสืบทอดมาจากในอดีตก็อาจจะยังคงเป็นมรดกตกทอดไปสู่อนาคตหรือไม่ ?
อ้างอิง:
- Allen, M.A., & Vaughn, J.S. (Eds.). (2016). Poli Sci Fi: An Introduction to Political Science through Science Fiction (1st ed.). Routledge. https://doi.org/10.4324/9781315637013
- David, A. (2020). Dube: Why the spacing Guild Matters. CBR. https://www.cbr.com/why-dune-spacing-guild-matters/
- Goslin, A. (2021). Who are the Bene Gesserit of Dune?. Polygon. https://www.polygon.com/22738416/dune-voice-witch-nun-box-jessica-powers-bene-gesserit.
- Gross, S. (2017). The 1967 War and the “oil weapon”. Brookings. https://www.brookings.edu/blog/markaz/2017/06/05/the-1967-war-and-the-oil-weapon/
- Harris, J. (2003). The Future we love to Hate: Technology in Sci-fi – A Review Article. Race and Class, Vol. 44 Issue 4 (April 2003). https://doi.org/10.1177/03063968030444007
- Kunzru, H. (2015). Dune, 50 years on: How a science fiction novel changed the world. The Guardian. https://www.theguardian.com/books/2015/jul/03/dune-50-years-on-science-fiction-novel-world