Articles

พลวัตของอำนาจ: ดัชนีวัดอำนาจของประเทศในเอเชียประจำปี 2564

                                                                                                             ขวัญข้าว คงเดชา
19 มกราคม 2564

สถาบันวิจัยของประเทศออสเตรเลียที่มีชื่อว่า Lowy Institute ให้ความสนใจยังประเด็นในพื้นที่ของเอเชียแปซิฟิกเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนโยบายการต่างประเทศ การเมือง ความมั่นคง การพัฒนา หรือแม้แต่การป้องกันประเทศ โดยทุก ๆ ปี นับตั้งแต่ค.ศ. 2018 ทางสถาบัน Lowy ได้ทำการศึกษาพร้อมจัดลำดับอำนาจและอิทธิพลของประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกจำนวน 26 ประเทศ[1] โดยแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มประเทศที่มีอำนาจสูง (super powers) ซึ่งมีคะแนนรวมมากกว่าหรือเท่ากับ 70 คะแนน 2.กลุ่มประเทศที่มีอำนาจปานกลาง (middle powers) มีคะแนนรวมมากกว่าหรือเท่ากับ 10 คะแนน และ 3. กลุ่มประเทศที่มีอำนาจเล็กน้อย (minor powers) มีคะแนนน้อยกว่า 10 คะแนน ซึ่งมีความแตกต่างจากการจัดลำดับในปี 2020 ที่ได้มีการจัดกลุ่มอำนาจไว้ถึง 4 กลุ่มด้วยกัน

            ดัชนีชี้วัดอำนาจของประเทศในเอเชีย หรือ Asia Power Index ให้นิยาม ‘อำนาจ’ ว่าเป็นสมรรถนะของรัฐที่จะส่งอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการกระทำใด ๆ ของรัฐอื่นหรือตัวแสดงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐ โดยศึกษาบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Leng, Bosworth, & Lemahieu, 2021: 4) ในการนี้ สถาบัน Lowy จึงทำการวัดระดับอำนาจของแต่ละประเทศผ่าน 2 มิติหลัก ได้แก่

1. Resource-based Determinants of Power หรืออำนาจที่อิงบนฐานของทรัพยากร โดยจะตรวจสอบว่ารัฐนั้นมีทรัพยากรอะไร มากน้อยเท่าไร มี 4 ตัวชี้วัดได้แก่

1.1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (17.5%)

1.2. สมรรถนะทางการทหาร (17.5%)

1.3. ความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาพปกติ (resilience) (10.0%)

และ 1.4. ทรัพยากรในอนาคต (10.0%)

2. Influence-based Determinants of Power หรืออำนาจที่อิงบนฐานของอิทธิพล โดยจะตรวจสอบว่ารัฐนั้นกระทำสิ่งใดกับสิ่งที่ตนเองนั้นมี โดยมีตัวชี้วัดทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่

1. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ (15%)

2. เครือข่ายทางการป้องกันประเทศ (10.0%)

3. อิทธิพลทางการทูต (10.0%)

และ 4. อิทธิพลทางวัฒนธรรม (10.0%)

            กล่าวได้ว่ามีทั้งหมด 8 ตัวชี้วัดสำหรับการจัดลำดับอำนาจของ 26 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ข้อมูลดัชนีวัดอำนาจของสภาบัน Lowy ได้รับการตรวจสอบถึง 3 ขั้นตอน ได้แก่ การพิจารณาโดยคณะผู้เชี่ยวชาญ (peer review) คณะผู้ตรวจสอบข้อมูล (fact checkers) และการทบทวนจาก PwC ทั้งนี้เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 จึงทำให้การสำรวจของสถาบัน Lowy ภายในปีนี้เพิ่มเกณฑ์การติดตาม 3 ตัว อันได้แก่ จำนวนการฉีดวัคซีนภายในประเทศ ความพยายามของวัคซีนการทูตภายในภูมิภาค และการบริจาควัคซีนต่อ GDP ภายในตัวชี้วัดของความยืดหยุ่น และอิทธิพลทางการทูต

ปี 2021 ถือเป็นปีที่ 4 ที่สถาบัน Lowy ได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูล กล่าวได้ว่าเป็นปีที่มีข้อมูลครบถ้วนจนสามารถเห็นถึงกระแสพลวัตของอำนาจภายใน 26 ประเทศได้อย่างเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด ในการนี้จึงเห็นถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจและอิทธิพลภายในภูมิภาค โดยสาระสำคัญจากการสำรวจภายในปี 2021 สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลักดังต่อไปนี้

1. การแข่งขันระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน

หลายปีที่ผ่านมา สังคมนานาชาติเห็นถึงการแข่งขันระหว่างสองประเทศในมิติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือแม้แต่ทางด้านการทหาร

จากรายงานสรุป พลวัตการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนกลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในภูมิภาค ซึ่งความมั่นคงดังกล่าวไม่ได้จำกัดแต่เพียงความมั่นคงทางการทหารหรือการป้องกันระหว่างประเทศแต่ยังรวมไปถึงความมั่นคงในด้านอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง

กระแสหลักในหลายปีที่ผ่านมาพยายามจะบอกว่าสหรัฐฯ เผชิญหน้ากับความถดถอยในหลาย ๆ มิติจนเป็นโอกาสให้จีนสามารถขยายอิทธิพลทางอำนาจของตนเองได้อย่างก้าวกระโดด หากแต่ในรายงานฉบับดังกล่าวของสถาบัน Lowy กลับโต้แย้งอย่างเห็นต่าง โดยชี้ให้เห็นว่าอำนาจของสหรัฐฯ ในปี 2021 นี้มีคะแนนขึ้นนำจีน และกลับกันทางสถาบันเสนอว่า แม้จีนจะเติบโตและสามารถแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาอย่างสู้สี ทว่าจีนจะไม่มีทางก้าวไปสู่จุดที่เติบโตมากที่สุดอย่างที่สหรัฐอเมริกาเคยเป็นมาก่อน (ไม่ว่าจะชนะหรือไม่ชนะสหรัฐฯ ในการดำรงตำแหน่งมหาอำนาจของโลก)  

การก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ในการจัดลำดับของสถาบัน Lowy ประจำปี 2021 มีผลสำคัญมาจากการสับเปลี่ยนนโยบายภายในประเทศและการสร้างสมดุลทางนานาชาติใหม่อีกครั้งภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน หรือที่ทางสถาบันเรียกว่า ‘Biden effect’ สหรัฐฯ สามารถกลับมามีอิทธิพลทางการทูตได้ในระดับสูงอีกครั้งหลัง แตกต่างจากการนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เช่นเดียวกันในแง่ของความมั่นคงก็ได้มีการหันกลับมาดำเนินนโยบายในเชิงรุกเพื่อเพิ่มอิทธิพลของสหรัฐฯ ในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ความพยายามดังกล่าวนี้สะท้อนออกมาในผลของดัชนีชี้วัดที่มีเติบโตแซงจีนในปี 2021 ได้แก่ ความมีอิทธิพลทางวัฒนธรรม ทรัพยากรในอนาคต อิทธิพลทางการทูต และ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ

โดยสาระทางประเด็นทางการทูตที่สำคัญได้แก่ บทบาทการเป็นผู้นำในประเด็นของสิ่งแวดล้อมและวัคซีนการทูต ซึ่ง ประเด็นของวัคซีนนั้นเป็นประตูแห่งโอกาสที่มีนัยยะสำคัญเป็นอย่างมากต่อสหรัฐในการกลับเข้ามามีบทบาทของที่พึ่งภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยจะเห็นได้ว่าจำนวนของยอดบริจาควัคซีนของสหรัฐฯ นั้นสูงกว่าจีนเป็น 2 เท่า กล่าวได้ว่าภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ต้องการกลับมามีบทบาทและสานต่อความเกี่ยวข้อง (to stay relevant) กับภูมิภาคนั้น ได้นำวิกฤตของโรคระบาดพลิกให้เกิดเป็นโอกาสที่สหรัฐฯ จะกลับมามีฐานของความเชื่อใจภายในภูมิภาคอีกครั้ง และเพื่อค้านอำนาจกับอิทธิพลของจีนที่ก่อตัวภายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง  

ทั้งนี้สหรัฐฯ ยังเผชิญหน้ากับความท้าทาย 2 ประการจากข้อมูลในรายงานดัชนีชี้วัดของสถาบัน Lowy ได้แก่

1. ความท้าทายทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าในปี 2021 เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 25 ประเทศ แต่ว่าฐานเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคนั้นมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่สหรัฐฯ จะสามารถเข้าไปแย่งชิงได้อย่างสิ้นเชิง กล่าวได้ว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนภายในภูมิภาคนั้นเป็นจุดอ่อนที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองและสถานะภาพของสหรัฐได้เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อหลายประเทศมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระดับที่ดีถึงดีมากกับจีน ความใกล้ชิดและการพึ่งพาจีนที่มายิ่งขึ้นยิ่งมีผลต่อการตัดสินใจและภูมิรัฐศาสตร์ภายในภูมิภาค ทำให้อิทธิพลของจีนที่เป็นเหมือนความเสี่ยงของสหรัฐฯ นั้นเติบโตมากกว่าเดิม

ถึงแม้ว่าสหรัฐจะมีการริเริ่มก่อตั้ง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) เพื่อกระซับความสัมพันธ์และสนับสนุนการค้าขายและการลงทุนระหว่างประเทศ ทว่าการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีนยังคงเป็นความท้าทายที่สหรัฐจำต้องเผชิญเมื่อมีการปรับนโยบายหันกลับมาก่อรากฐานในบทบาทของสหรัฐภายในภูมิภาคอีกครั้ง เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีตัวตนของสหรัฐฯ ในมิติของเศรษฐกิจการเมืองนั้นค่อย ๆ ถอยห่างจากภูมิภาค

และ 2. ความท้าทายทางความมั่นคงภายในภูมิภาคเอเชีย เนื่องด้วยบทบาทของสหรัฐฯ ที่ห่างหายไปในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าจากรายงานของสถาบัน Lowy ฉบับนี้จะยังแสดงให้เห็นถึงค่าอำนาจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง (สมรรถนะทางการทหาร และเครือข่ายทางการป้องกันประเทศ) ที่เหนือกว่าจีน และความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะไม่ถูกแซงด้วยจีน ทว่าในประเด็นของความมั่นคงกลับพบถึงกระแสของการถอดถอยซึ่งกลายมาเป็นความท้าทายที่สหรัฐควรจะต้องพึ่งระวังต่อไปในอนาคต

ในรายงานอธิบายยังกล่าวการดำเนินนโยบายความมั่นคงผ่านเครือข่ายของสหรัฐฯ ที่มีความพยายามที่จะผลักดันพันธมิตรของตนเพื่อสนับสนุนทางด้านความมั่นคง ผู้เขียนมองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้แตกต่างจากนโยบายในอดีต ดังที่ปรากฏผ่านการให้ความสำคัญกับบทบาทของ The Quad (The Quadrilateral Security Dialogue) หรือการร่วมกลุ่มกันของ 4 ประเทศอันได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น เพื่อเป็นกลไกในการค้านอำนาจกับจีน และ AUKUS หรือข้อตกลงด้านความมั่นคงแบบไตรภาคีระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ นี้อาจจะเป็นการเปลี่ยนนโยบายที่มุ่งหันมาใช้ประเทศพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเพื่อที่จะกรอบและจำกัดอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยหวังว่าการมี The Quad หรือ AUKUS ที่อาจจะเรียกได้ว่าประเทศหัวเมืองสำคัญสำหรับเครือข่ายการต้านอำนาจจีนเช่นนี้จะก่อให้การความกดดันต่อจีน จนมีความยำเกรงและไตร่ตรองนโยบายทางความมั่นคงระหว่างประเทศของจีนได้มากยิ่งขึ้น อาทิเช่น อินเดีย สหรัฐฯ เล็งเห็นถึงการเติบโตของอินเดียภายในภูมิภาคในฐานะที่เป็น the rising power หรือประเทศที่กำลังเติบโตทางอำนาจอย่างมีนัยยะสำคัญ ฉะนั้นสหรัฐฯ จึงวางนโยบายที่จะใช้สถานะของรัฐที่กำลังเติบโตทางอำนาจเพื่อที่จะเป็นคู่ค้านกับจีนที่เช่นเดียวกันเป็น the rising power ที่เริ่มมีฐานปักหลักอย่างแน่นหนาภายในภูมิภาค

เมื่อพิจารณาจากฐานนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสงครามเย็น สหรัฐฯ มีนโยบายที่ชัดเจนว่าต้องการจะใกล้ชิดกับภูมิภาคฝั่งเอเชียแปซิฟิกเป็นสำคัญ จนเป็นที่กล่าวขานกันถึง ‘America’s Pacific Century’ เนื่องด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความร่วมมืออื่น ๆ จนกระทั่งในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้มีการเปลี่ยนจากเอเชียแปซิฟิกมาสู่อินโดแปซิฟิกมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลของการแข่งขันทางอำนาจที่กำลังท้าทายสถานะของสหรัฐฯ ภายในภูมิภาค การขยายตัวทางอิทธิพลของจีนไปสู่มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และการก้าวขึ้นมามีบทบาทของอินเดียทำให้นโยบายของสหรัฐฯ นั้นขยายกว้างยิ่งขึ้น

Asia-Pacific ในนัยหนึ่งอาจจะกล่าวถึงภูมิศาสตร์ที่ร่วมประเทศเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย (Oceania) และในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ มุ่งความสนใจของกลุ่มประเทศดังกล่าวไปยังการร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญมากกว่าความร่วมมือทางความมั่นคง เรียกว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ทั้งนี้จะจะเห็นได้ว่าไม่มีการร่วมอินเดียอยู่เป็นหนึ่งในประเทศของเอเชียแปซิฟิก ในเวลาต่อมาสหรัฐฯ เล็งเห็นถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ความท้าทายที่มาพร้อมกับความเติบโตของจีนไปยัง 2 มหาสมุทร และโอกาสจากการพัฒนาของอินเดีย ทำให้เกิดเป็นนโยบาย Indo-Pacific ที่ครอบคลุมทางด้านความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงทางทะเล (maritime security)  

            ขณะเดียวกัน สาธารณรัฐประชาชนจีนเร่งขยายเขตอิทธิพลของตนเองภายในภูมิภาค แม้ว่าในรายงานของสถาบัน Lowy จะแสดงว่าค่าชี้วัดทางอำนาจในหลาย ๆ ด้านของจีนนั้นจะลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีหลังจากการจัดทำดัชนีชี้วัดทางอำนาจนี้ แต่สถานะของจีนก็ยังไม่ได้เผชิญหน้ากับความถดถอย กลับกัน สถานะทางเศรษฐกิจนั้นมีความสู้สีกับสหรัฐฯ และมีความสำคัญเป็นตัวแปรหลักภายในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นในฐานะของ foreign investor และหรือการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทางสถาบันได้เปรียบการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อจีนในภูมิภาคกับความเป็นเครือข่ายทางความมั่นคงกับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ว่าดำเนินไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้จีนก็ไม่ได้ละเลยประเด็นด้านความมั่นคงและมุ่งแต่ประเด็นการมีข้อได้เปรียบ (leverage) ทางเศรษฐกิจ ในปีที่ผ่านมาจีนได้เพิ่มงบประมาณในเรื่องของความมั่นคงและให้ความสนใจยังประเด็นอ่อนไหว เช่นความขัดแย้งกับไต้หวัน ความขัดแย้งกับอินเดีย และข้อพิพาททะเลจีนใต้ ความพยายามในการพัฒนาศักยภาพทางความมั่นคงของจีน อาทิเช่น การศึกษาและขยายขีดความสามารถทางการป้องปรามนิวเคลียร์ (nuclear deterrence) และอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย ทำให้ความมั่นคงของสหรัฐนั้นถูกท้าทายดังที่ได้กล่าวไป

            การแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ประเด็นหลักอย่างเศรษฐกิจและความมั่นคง แต่ยังรวมไปถึงอิทธิพลในเชิงการทูตและสังคมอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ดังที่ปรากฏในการแข่งขันของการเป็นผู้นำทางด้านวัคซีนการทูตในปีที่ผ่านมา และเนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 การสร้างอิทธิพลทางการทูตและสังคมของจีนนั้นเผชิญหน้ากับอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการปิดประเทศและมีมาตราที่เข้มงวด ส่งผลให้การส่งต่อทางวัฒนธรรมและค่านิยมไม่สามารถกระทำได้เหมือนแต่ก่อน บทบาททางการทูตเองก็ลดลง การประชุม การจัดงาน การเดินทางเยือนประเทศของผู้นำลดหายไป

            ในการนี้ สถาบัน Lowy เล็งเห็นว่าจีนยังไม่สามารถที่จะเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ได้ดังที่หลายคนคาดคิด ในปัจจุบันยังคงเป็นความท้าทายที่ส่งผลต่อในอนาคต และมีเพียงประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ หรือ economic independency ในพื้นที่ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขยายอิทธิพลของจีนเท่านั้น

ซึ่งเมื่อพิจารณาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่านโยบายการขยายอิทธิพลที่สำคัญของจีนนั้นดำเนินผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โครงการอย่าง One belt one road หรือเส้นทางสายไหมใหม่เป็นหนึ่งในนโยบายของจีนที่เบื้องหน้านั้นทำเพื่อการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจเชิงมหภาค แต่ในเบื้องหลังย่อมเป็นการสถาปนาสถานะทางอำนาจของจีนให้เป็นศูนย์กลางของโลกตามความฝันของจีน (Chinese’s Dream) และยังเป็นการขยายเขตอิทธิพลของตัวเองไปยังหลากหลายพื้นที่ จนเกิดเป็นข้อวิเคราะห์ว่าจีนกำลังจะทำการล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่หรือไหม โดยที่รูปแบบนั้นคือการนำประเด็นทางเศรษฐกิจเข้ามาเพื่อสร้างความพึงพอต่อจีนกับประเทศที่อยู่ในโครงการ ส่งผลให้เกิดเป็น debt trap diplomacy หรือการทูตแบบติดกับดักหนี้ ซึ่งนอกจากจะผูกเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีการพึงพาต่อจีน ยังสร้างความเป็นบุญคุณหรือความสัมพันธ์อันดีเชิงการทูตกับจีนด้วยเช่นเดียวกัน (อาทิในกรณีประเทศแอฟริกาที่ได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจกับจีนแลกมาด้วยการถอนการรับรองสถานะการเป็นรัฐของไต้หวัน) หลายประเทศที่ต้องการพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงต้องตอบแทนหรือแลกด้วยการเป็นพันธมิตรหรือการเข้าตามแนวทางของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

2. ความพยายามจะคงสมดุลของประเทศอำนาจป่านกลางและอำนาจเล็กน้อยภายในภูมิภาค

            เมื่อพิจารณาจากดัชนีวัดอำนาจของสถาบัน Lowy แล้ว ตัวแปรสำคัญภายในภูมิภาคคือความสัมพันธ์ของสองประเทศดังที่ได้กล่าวไป โดยพบว่าในการจัดลำดับนั้น กลุ่มประเทศที่มีอำนาจสูง มีเพียงสหรัฐอเมริกา (82.2 คะแนน) และสาธารณรัฐประชาชนจีน (74.6 คะแนน) เท่านั้น ในขณะที่อีก 15 ประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอำนาจป่านกลาง และอีก 9 ประเทศถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของประเทศที่มีอำนาจน้อย ฉะนั้นแล้วการกระทำเดี่ยว ๆ ของรัฐทั้งสองก็ดี หรือการปฏิสัมพันธ์ (ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ) ของรัฐทั้งสองก็ดี ย่อมส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและต่อสังคมโลกไม่มากก็น้อย ฉะนั้นแล้วอีก 24 ประเทศภายในภูมิภาคที่เหลือจึงตกอยู่ในสถานะของรัฐผู้ตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            เบื้องต้น แม้ว่า 15 ประเทศจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศอำนาจป่านกลาง ทว่าสถานะ ผลกระทบ และบทบาทของประเทศแต่ละประเทศในหมวดหมู่เดียวกันนั้นกลับแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ ผู้เขียนจะขอแบ่งประเทศภายในกลุ่มอำนาจป่านกลางออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทที่มีบทบาทในเชิงกลยุทธ์ของการค้านอำนาจ และ 2. ประเภทที่เผชิญผลกระทบจากการค้านอำนาจและดำเนินการหาวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

            ประเภทที่ 1 ได้แก่กลุ่มประเทศพันธมิตรเครือข่ายทางความมั่นคงของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ หรือเกาหลีใต้ เป็นต้น พลวัตรทางการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจทำให้เกิดภาวะหวาดระแวงด้านความมั่นคงหรือ Security Dilemma ภายในภูมิภาคเอเชีย กล่าวได้ในนัยหนึ่งว่าการขยายอิทธิพลที่มากยิ่งขึ้นของจีนส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงต่อสหรัฐฯ และประเทศรอบข้างที่เผชิญหน้ากับอิทธิพลของจีนโดยตรง ฉะนั้นแล้วจึงนำมาสู่การร่วมกลุ่มกันเพื่อค้านอำนาจกับจีน

สถาบัน Lowy กล่าวถึงลักษณะของภูมิภาคว่ากำลังเผชิญกับภาวะสองขั้วอำนาจ หรือ bipolarity โดยการรวมกลุ่มกันของประเทศเครือพันธมิตรจะเป็นทางออกสำหรับการคงสมดุลภายในภูมิภาคยามที่อิทธิพลทางความมั่นคงของสหรัฐฯ เผชิญหน้ากับความถดถอย

 ผู้เขียนเห็นว่ารายงานของสถาบัน Lowy อธิบายลักษณะการรวมกลุ่มนี้ผ่านทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบดั้งเดิม แนวคิดของ Balance of Power (BoP) และ Balance of Threat (BoT) อาจจะเป็นลักษณะคำอธิบายที่ทางสถาบันกำลังสื่อ ความแตกต่างระหว่างทั้งสองแนวคิดนี้คือ Balance of Power หมายถึงการรวมกลุ่มเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐใดมีอำนาจมากจนเกินไป แนวคิดนี้ให้ความสำคัญกับอำนาจ ในขณะที่ Balance of Threat หมายถึงการรวมกลุ่มกันเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากรัฐใดรัฐหนึ่ง ถือว่าเป็นความแตกต่างเมื่อ BoT นั้นให้ความสำคัญกับภัยคุกคามมากกว่าการขึ้นมามีอำนาจของรัฐหนึ่งดังใน BoP กล่าวในอีกนัย การขึ้นมามีอำนาจของรัฐหนึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดภัยคุกคามขึ้นจึงทำให้รัฐมุ่งรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองและพวก และเพื่อต่อรองกับภัยคุกคามโดยรัฐที่เริ่มมีอำนาจ

            ประเภทที่ 2 ได้แก่กลุ่มประเทศที่เผชิญกับผลกระทบและต้องหาทางตั้งรับ ประเทศกลุ่มอาเซียน ได้แก่ สิงค์โปร เวียดนาม อินโดนีเซชีย บรูไน มาเลเชีย ประเทศไทย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ลาว และเมียรมาร์ กำลังเผชิญหน้ากับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเมื่อ ในฐานะที่เป็นประเทศอำนาจป่านกลางย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอำนาจของประเทศมหาอำนาจได้ โดยพลวัตทางความสัมพันธ์ระหว่างในช่วงระยะหลังนี้พบว่าอิทธิพลของสหรัฐฯ ถูกแทนทีด้วยจีน โดยเฉพาะในประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรอย่างประเทศไทยและฟิลิปปินส์ต่างเริ่มหันมามีข้องเกี่ยวในทิศทางบวกกับจีนมากยิ่งขึ้น 

ในรายงานยังทำนายถึงทิศทางในอนาคตของงบประมาณการสนับสนุนทางความมั่นคงและการทหารภายในภูมิภาค ซึ่งหากพิจารณาจากฐานที่ทางสถาบันว่าภายในภูมิภาคมีการแบ่งเป็นสองขั้วอำนาจ จะเห็นได้ถึงทิศทางต่อไปนี้ สหรัฐฯและกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรที่ภายในปี 2030 จะมีการใช้จ่ายทางด้านการทหารสูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และจีนกับกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรที่จะมีงบประมาณใช้จ่าย 744.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การทำนายดังกล่าวเห็นว่าสหรัฐฯ และเครือข่ายพันธมิตรจะยังคงนำหน้าจีนและพันธมิตรในด้านของการทหาร

ปัจจัยสำคัญต่อทิศทางของการแข่งขันในอนาคตคือประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังอยู่ในภาวะของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากจีนเองก็ต้องการป้องกันไม่ให้ประเทศเหล่านั้นหันไปเข้าพวกกับทางสหรัฐฯ เมื่อดูจากรายงานจะพบว่างบประมาณการใช้จ่ายทางการทหารของประเทศในกลุ่ม ASEAN ในปี 2030 จะมีสูงถึง 136.2 พันล้าน ถึงแม้ว่าในรายงานจะเขียนว่า จีนและเครือข่ายพันธมิตรอย่างรัสเชียและปากีสถานจะพยายามไล่ตามความมั่นคงและการทหารของสหรัฐฯ ให้ทันด้วยการเสนอความร่วมมือทางความมั่นคงกับประเทศใน ASEAN แต่ความร่วมมือเหล่านั้นก็ยังไม่อาจจะเทียบเท่าความใกล้ชิดและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหรัฐฯ และเครือข่ายพันธมิตรได้

ทั้งนี้ ภายในรายงานเองยังพูดถึงกลุ่มประเทศอาเซียนในประเด็นทั้งเชิงความมั่นคงและอิทธิพลภายใต้ภาวะสองขั้วว่าอาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและกลายเป็นผู้สังเกตการณ์ (bystander) มากกว่า เนื่องจากประเทศในอาเซียนนั้นขาดสมรรถนะทางการทหารที่มากพอจะค้านกับจีนทั้งนอกเขตแดนของตนและภายในดินแดนของตน ร่วมไปถึงการเมืองภายในประเทศและปัญหาภายในที่ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนความเป็นระเบียบของภูมิภาค (regional order) ในประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้เขียนมีความรู้สึกเห็นต่าง แน่นอนว่าสมรรถนะและบทบาทของประเทศกลุ่มอาเซียนจะถูกบดบังด้วยการรวมกลุ่มของ AUKUS และ the Quad ทว่าความสำคัญของประเทศกลุ่มนี้ต่อการแข่งขันทางอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐฯ ย่อมมีอยู่ ผู้เขียนคิดว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีความสำคัญในฐานะของตัวแปรของความมั่นคงภายในภูมิภาคไม่มากก็น้อย

ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศมหาอำนาจนั้นเกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ก่อนจะที่ขยายไปสู่พื้นที่รอบข้าง เป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจนสำหรับจีนที่ให้ความสำคัญกับบริเวณดังกล่าวนี้ในฐานะที่จะเป็นเขตอิทธิพลหลักของจีน ไม่ว่าจะด้วยทรัพยากรต่าง ๆ หรือสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของแต่ละรัฐใน ASEAN คงจะเป็นการยากหากสหรัฐฯ ต้องการที่จะเคลื่อนย้ายสนามการแข่งขันไปยังภูมิภาคอื่น เราจึงเห็นได้ถึงนโยบายในการขยายกลยุทธ์ให้ครอบคลุมยังประเทศพันธมิตรของตนเองที่มากยิ่งขึ้น

ประเทศในกลุ่ม ASEAN จึงเผชิญหน้ากับทางสามแพร่ง ประกอบไปด้วย 1 การเข้าร่วมกับสหรัฐฯ 2 การเข้าร่วมกับจีน และ 3 การไม่เข้าร่วมกันใคร ซึ่งแน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบันหลายประเทศเลือกที่จะนิ่งเฉยและรอดูท่าทีของทั้งสองประเทศ ทว่าเช่นเดียวกันกับที่รายงานของสถาบันได้เขียนไว้ ผู้เขียนเองก็มีความเห็นว่าการเลือกที่จะนิ่งเฉยของแต่ละรัฐกำลังจะเผชิญหน้ากับความท้าทายในอนาคต อาจจะพบเจอกับสภาพบีบบังคับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะหากประเทศใดต้องการที่จะมีบทบาทเด่นทั้งภายในภูมิภาคและในสังคมโลก ผู้มีอำนาจตัดสินใจอาจจะจำเป็นจะต้องเลือกดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบใดแบบหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ของชาติตนเองและเพื่อสร้างการมีตัวตนในเวทีโลก และการตัดสินใจดังกล่าวนั้นจะเป็นตัวแปรต่อนโยบายของทั้งสหรัฐฯ และจีนต่อการแข่งขันทางอำนาจในครั้งนี้

            นอกจากประเด็นหลักทั้ง 2 ที่ได้กล่าวไป รายงานในปีนี้ของสถาบัน Lowy ยังกล่าวถึงความสำคัญของ COVID-19 ที่กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในการวัดอำนาจและอิทธิพลของหลายประเทศ 24 ประเทศที่ได้ทำการศึกษาล้วนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ดัชนีและค่าอำนาจของทุกประเทศนั้นลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกัน กล่าวได้ว่าทุกประเทศเผชิญกับผลกระทบของโรคระบาดอย่างทั่วถึง เพียงแต่ว่ามีบางประเทศอันได้แก่ สหรัฐฯ และจีนที่ยังคงสามารถประคองสถานะทางอำนาจของตนเองไว้ได้ และมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นฟูได้ในอีกไม่ช้า

            หนึ่งในการแสดงสถานะภาพทางอำนาจตามรายงานของงสถาบัน Lowy คือการบริจาควัคซีน วัคซีนที่มีส่วนสำคัญต่อสุขภาวะของประชาชนในหลายประเทศกลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกิดเป็นกระแสของวัคซีนการทูต หรือ vaccine diplomacy

การจำหน่ายวัคซีนแน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งตามมาด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศคู่ขาในการเจรจา ทว่าการบริจาคให้แก่รัฐอื่นส่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้บริจาคในฐานะของผู้ให้และผู้ที่มีความสนใจอยากจะช่วยเหลือโลกในสภาวะคับขัน ฉะนั้นประเทศที่ต้องการจะมีบทบาทในภูมิภาคและในเวทีโลกย่อมเข้าร่วมในกระแสดังกล่าวนี้ สหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่งของผู้ที่ให้บริจาค ตามมาด้วยประเทศจีนในอันดับที่สอง (แม้ว่าจะมีข้อกังขาในประเด็นเรื่องของประสิทธิภาพวัคซีนของจีน) ญี่ปุ่น อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และอื่น ๆ เองก็ดำเนินนโยบายการต่างประเทศในวัคซีนการทูตด้วยเช่นเดียวกัน ในขณะที่ประเทศที่อาจจะมีทรัพยากรไม่พอแต่ก็ยังใช้โอกาสจังหวะนี้ในการสร้างฐานทางอิทธิพลของตัวเองต่อเวทีโลกด้วยการบริจาคหน้ากากอนามัยหรือชุด PPE อาทิเช่น ประเทศไทย และไต้หวัน

นอกจากจะเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศมหาอำนาจ เพิ่มความเป็นมิตรกับประเทศปลายทางที่รับบริจาค ยังเป็นการกระทำที่สะท้อนให้เวทีโลกเห็นถึงความพร้อมของประเทศผู้บริจาคในลักษณะที่ว่า รัฐของตนสามารถบริหารโควิดได้ดีพอจนมีทรัพยากรมากพอที่จะบริจาคให้แก่ประเทศที่ยังเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการรับมือกับCOVID-19 กล่าวได้ว่าเป็นการสถาปนาสถานะทางอำนาจของตนในรูปแบบหนึ่ง ในลักษณะคล้ายคลึงกัน เราจึงเห็นความพยายามในช่วงปี 2019 – 2020 ของหลายประเทศมหาอำนาจที่พยายามเร่งสร้างวัคซีนสำหรับการป้องกันและรักษา COVID-19 เพราะนอกจากจะได้แสดงศักยภาพความสามารถทางการแพทย์ของตนแล้ว ยังสามารถสร้างอำนาจในการต่อรอง (leverage) ในเวทีโลกได้จากปัจจัยสำคัญอย่างวัคซีน ดังที่รัสเซีย จีน และสหรัฐฯ ได้พยายามทำในช่วงต้นของการระบาด  

ปี 2021 แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหนของพลวัตรทางอำนาจภายในภูมิภาค?

            กรุงเทพธุรกิจ (2564) ได้วิเคราะห์สถานภาพของประเทศไทยจากรายงานของ Lowy ในปี 2020 ไว้ว่าในขณะที่จุดแข็งของประเทศไทยคือความสัมพันธ์ทางการค้าและอิทธิพลทางวัฒนธรรม แต่ไทยเผชิญหน้ากับความท้าทายในประเด็นเรื่องของทรัพยากรในอนาคต โดยจุดอ่อนดังกล่าวนั้นจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยกับเพื่อนบ้าน (อาทิเช่นเวียดนาม) ลดลง ซึ่งเพื่อพิจารณาแล้วผู้เขียนพบเห็นความต่อเนื่องในประเด็นของการแข่งขันและบทบาทภายในภูมิภาค ดังต่อไปนี้

ภายในอาเซียนเองก็สามารถแบ่งออกเป็น 3 ลำดับชั้นได้ ลำดับอำนาจสูง ได้แก่ สิงคโปร์ กลุ่มลำดับอำนาจกลาง ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกลุ่มลำดับอำนาจต่ำ ได้แก่ บรูไน เมียรมาร์ ลาว กัมพูชา แน่นอนว่าในการจัดอันดับ รัฐที่ครองอันดับหนึ่งในอาเซียนมาโดยตลอดคือ สิงค์โปร ที่ซึ่งได้รับการยอมรับว่าสามารถเข้าไปอยู่ในระดับโลกอย่างไม่ต้องสงสัย โดยอยู่ในลำดับที่ 8 ในปี 2021 ในขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นยังคงดิ้นรนเพื่อที่จะขยายอำนาจและอิทธิพลของตัวเองไปพร้อม ๆ กับการจัดการปัญหาภายในประเทศ

ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน ประเทศไทยในปี 2020 ครองตำแหน่งเป็นอันดับที่ 9 ในขณะที่ปี 2021 ถูกอินโดนีเซียแซงขึ้นนำจนตกลงมาอยู่ในลำดับที่ 10 เป็นกระแสต่อเนื่องจากเมื่อปีก่อน (คะแนน 19.2 จาก 100 ลดลงจากเมื่อปีก่อน 1.7 คะแนน) ประเทศไทยยังเผชิญหน้ากับความท้าทายจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่เวียดนามดังที่หลายคนเคยจับตามอง ทว่ารวมไปถึงหลาย ๆ ประเทศกลุ่มอำนาจกลางในอาเซียน ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย สำหรับปัจจัยภายในพบว่าประเทศกำลังถดถอยและเกิดลดช่องว่างในการแข่งขันกับประเทศอื่น อาทิ เวียดนามที่คะแนนอำนาจในดัชนีชี้วัดของสถาบัน Lowy นับตั้งแต่ปี 2018 เพิ่มขึ้นจนเกือบจะไล่ตามประเทศไทยทัน มีการคาดการณ์ว่าหากแนวโน้มยังคงดำเนินไปเช่นนี้ ใช้เวลาอีกไม่กี่ปีเวียดนามก็สามารถที่จะแซงหน้าประเทศไทยได้อย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับปัจจัยภายใน หากพิจารณาจากการศึกษาของสถาบัน Lowy จะพบว่าในปี 2021 ประเทศไทยนั้นมีจุดแข็งในประเด็นของอิทธิพลทางวัฒนธรรม (ต่อเนื่องจากรายงานเมื่อปีที่แล้ว) โดยมีอันดับอยู่ที่ 6 จาก 26 ประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 2 อันดับจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกันกับสมรรถนะทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นมา 2 ลำดับจากเมื่อปี 2020 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศ

ทว่าในขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีข้อด้อยใน 3 ประเด็น

1. ทรัพยากรในอนาคตที่รั้งอยู่อันดับที่ 15 จาก 26 ประเทศ และเป็นอันดับสุดท้ายในกลุ่มประเทศอำนาจปานกลางของดัชนีชี้วัดฉบับนี้ ซึ่งทิศทางของจุดอ่อนนี้ปรากฏในรายงานฉบับปีที่ผ่านมา

2. สมรรถนะทางการทหารที่รั้งอยู่ที่อันดับ 14 จาก 26 ประเทศ และ 14 จาก 15 ประเทศอำนาจปานกลาง กล่าวได้ว่าความสามารถทางการทหารนั้นอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านภายในภูมิภาค

3. ความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาพปกติที่รั้งอยู่อันดับ 13 จาก 26 และ 13 จาก 15 ประเทศอำนาจปานกลาง ความสามารถในการกลับคืนสู่สภาพปกติหรือความสามารถในการรักษาความยั้งยืนและลดภัยคุกคามจากภายนอกของไทยนั้นยังอยู่ในอันดับรั้งท้ายสำหรับกลุ่มประเทศอำนาจปานกลางด้วยกัน

ทิศทางจากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ในเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะเป็นการยากที่จะจะเพิ่มบทบาทของตนเองในภูมิภาคหากยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไข แม้ว่าในปัจจุบันสถานะของประเทศไทยจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับได้สำหรับประเทศระดับกลาง ทว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ประเทศในระดับเดียวกันก็อาจจะแซงหน้าไปอย่างรวดเร็ว

สรุป

            ตามรายงานของสถาบัน Lowy โลกกำลังเดินหน้าเข้าไปสู่การแข่งขันของสองขั้วมหาอำนาจอีกครั้ง โดยที่ครั้งนี้มีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่อินโดแปซิฟิก สองขั้วสำคัญได้แก่สหรัฐอเมริกาที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการขยายอิทธิพลของสาธารณรัฐประชาชนจีน แม้ว่าจะมีกระแสการคาดการณ์ว่าจีนอาจจะสามารถเอาชนะสหรัฐฯ และขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกได้ ทว่าในรายงานฉบับนี้กลับเห็นต่างและมองว่าจีนยังคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะทำได้สำเร็จ โดยเฉพาะในแง่ของความมั่นคงและการทหารที่ยังต้องเร่งพัฒนาสมรรถนะของตนเอง มีเพียงประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะในภูมิภาค) ที่มีอิทธิพลมากกว่าสหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิง

            ทั้งนี้ประเทศเครือข่ายพันธมิตรของทั้งสองขั้วอำนาจยังเป็นตัวแปรสำคัญภายใต้การแข่งขันในภูมิภาคนี้ แม้ว่าประเทศพันธมิตรของจีนนั้นจะเป็นตัวแสดงเดิม อาทิ รัสเชียและปากีสถาน ทว่าการรวมกลุ่มกันที่มากยิ่งขึ้นของเครือข่ายพันธมิตรของสหรัฐฯ กำลังเพิ่มความเข้มข้นของภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งสองขั้วอำนาจนี้ โดยเฉพาะความชัดเจนในการรวมกลุ่มอย่าง The Quad ที่แสดงออกถึงความต้องการที่จะจำกัดอิทธิพลที่มากขึ้นของจีน โดยกล่าวว่านั้นคือภัยคุกคามภายในภูมิภาค ในขณะที่ประเทศอำนาจป่านกลางอื่น ๆ นั้นเผชิญหน้ากับสภาวะการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก สถานการณ์ในตอนนี้แม้จะยังไม่บังคับให้แต่ละรัฐเลือกข้าง ทว่าในอนาคตย่อมมีความเสี่ยงที่จะต้องตัดสินใจ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่อาจจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขันดังกล่าวนี้

            สำหรับประเทศไทย จากพลวัตรของการจัดลำดับอำนาจใน 4 ปีที่ผ่านมา เริ่มเล็งเห็นถึงความท้าทายภายในอนาคตที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ประเทศไทยจะเผชิญหน้ากับความท้าทายหลักอันได้แก่ปัจจัยภายในและภายนอกดังต่อไปนี้ ปัจจัยภายนอกได้แก่การระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อทุกประเทศ และการเร่งพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านในระดับอำนาจปานกลางเดียวกัน ในหลายปีที่ผ่านมากพบว่าช่องว่างระหว่างประเทศไทยและเพื่อนบ้านใน ASEAN เริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ โดยมีผลมาจากปัจจัยภายในประเทศ จุดอ่อนของประเทศไทยใน 3 ประเด็นส่งผลให้บทบาทภายในภูมิภาคและประสิทธิภาพของประเทศนั้นลดลง ในปีนี้พบว่าหลายดัชนีทางอำนาจของไทยไม่มีการเพิ่มขึ้น กลับมีแต่ลดลง ประเทศไทยยิ่งต้องเร่งคิดหาหนทางในการคงสถานะของการเป็นประเทศอำนาจลำดับปานกลางและทำอย่างไรให้บทบาทของตนเองภายในภูมิภาคไม่ถูกลดทอนไปมากกว่าที่เป็นอยู่

            ฉะนั้นแล้วรายงานดัชนีชี้วัดอำนาจของสถาบัน Lowy ในปีนี้ชี้ให้เห็นถึงพลวัตรของอำนาจภายในภูมิภาคที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้เราเริ่มเห็นได้ถึงความชัดเจนของการแข่งขันระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ และเป็นที่คาดการณ์ว่ามันจะยิ่งรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต หลายประเทศอาจจะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้พร้อม ๆ กับพยายามจะหาทางรักษาผลประโยชน์และสถานะทางอำนาจของตนเองไว้ ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน


[1] 26 ประเทศประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้, สิงค์โปร์, อินโดนีเซีย, ไทย, มาเลเซีย, เวียดนาม, นิวซีแลนด์, ไต้หวัน, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, เกาหลีเหนือ, บรูไน, บังกลาเทศ, ศรี ลังกา, เมียรมาร์, กัมพูชา, ลาว, มองโกเลีย, เนปาล, และ ปาปัวนิวกินี

อ้างอิง

– Chen, D. (2021, June 24). The Indo-Pacific Strategy: A Background Analysis. Retrieved from https://www.ispionline.it/it/pubblicazione/indo-pacific-strategy-background-analysis-20714

– Dwivedi, S. (2021). Alliances in International Relations Theory. International Journal of Social Science & Interdisciplinary Research. Vol.1 Issue 8, August 2021.

– Lemahieu, H. & Leng, A. (2021). Asia Power Index: Key Finding 2021. Sydney: Lowy Institute.

– MP-IDSA (n.d.). Vikrant Kumar Edara Asked: What does the term “Indo-Pacific” signifies, as distinct from Asia-Pacific? Retrieved from https://idsa.in/askanexpert/termIndoPacificsignifies

– Scott, D. (2018). The Indo-Pacific in US Strategy: Responding to Power Shifts. Rising Powers Quarterly. Vol. 3, Issue 2, August 2019.

– ศุภวุฒิ สายเชื้อ (2564). ดัชนีวัดอำนาจของประเทศในเอเชีย (2). กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/126921

– Voice Online (2564). ดัชนีอำนาจไทยถดถอย นโยบายต่างประเทศแย่-ขาดทรัพยากรในอนาคต. Voice Online. สืบค้นจาก https://voicetv.co.th/read/MRnQeBBaZ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: