
สรุปการบรรยายในเวทีสัมมนาสาธารณะ
เรื่อง “Long Take Politics & Elections: สนทนาว่าด้วยการเลือกตั้งและการเมืองแบบMisinformation”
วันที่ 02 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.30 – 16.30 น.
โดย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย
การสัมมนาสาธารณะแบ่งออกเป็นทั้งสิ้น 4 ส่วน เกี่ยวกับเรื่อง Misinformation ในมิติต่าง ๆ
จากวิทยากรทั้งสิ้น 4 คน โดยหัวข้อเสวนานั้นมีดังต่อไปนี้
จริยธรรมและแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวการเมือง โดย รศ.ดร.กมลพร สอนศรี
รศ.ดร.กมลพร สอนศรี จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มการเสวนาโดยพูดถึงเรื่องของการที่ว่าสื่อทั้งที่เป็นสื่อแบบปกติหรือสื่อแบบใหม่ที่เกิดขึ้นจากโซเซียลมีเดียว่าควรจะปฏิบัติตัวยังไง
ปกติแล้วข่าวปลอมกับการเมืองเป็นของคู่กัน ส่วนสำคัญที่นำมาซึ่งข่าวปลอมนั้นก็คือ สื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนเป็นตัวกลางที่นำมาซึ่งการเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหลายครั้งสื่อก็ใช้พื้นที่ของตนเองในการปลุกปั่น อาจด้วยเหตุผลตั้งแต่รัฐครอบงำไปจนถึงอคติส่วนตัวของผู้ประกาศข่าว ขณะเดียวกันในสมัยนี้ เทคโนโลยีเช่น โซเซียลมีเดีย ก็ทำให้เกิดการนำเสนอข่าวการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะบอกได้ว่าเป็นสื่อสมัยใหม่หรือสื่อออนไลน์
โดยหลักแล้วช่วงหลายปีมานี้สื่อออนไลน์นั้นมีจำนวนมากขึ้น ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค หากแต่ด้วยธรรมชาติสื่อออนไลน์นั้นแข่งขันกันที่ความเร็ว ทำให้หลายครั้งไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลก่อน ยังไม่รวมเรื่องความเอียงเอนที่สื่อโซเซียลมีเดียมีความเอียงเอนเลือกพูดเฉพาะฝั่งที่ตนเองเชียร์เป็นหลัก
เรื่องข่าวปลอมจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน และเมื่อเกิดการศึกษาวิจัยก็พบว่าประชาชนเชื่อว่าปัญหาใหญ่ของสื่อเป็นเรื่องข่าวปลอม ขณะที่รองลงมาเป็นการที่ภาครัฐที่เข้ามาครอบงำสื่อ ดังนั้นสิ่งประชาชนคาดหวังจากสื่อจึงเป็นการที่สื่อตรวจสอบข้อมูลให้มีความเที่ยงตรงและเป็นกลาง
ขณะเดียวกันงานศึกษาวิจัยก็พบว่าคนที่ทำงานในแวดวงสื่อโดยเฉพาะสื่อแบบเก่า ก็รู้สึกว่าตนมีปัญหาเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ทั้งการนำเสนอข่าวบางครั้งก็มีปัญหาเผอิญใส่อารมณ์เข้าไป จนสะท้อนทัศนคติของทีมงานออกมา โดยพบมากโดยเฉพาะนักข่าวภาคสนามและพิธีกรในรายการข่าว จนมีทัศนคติของทีมงานที่สะท้อนออกมาด้วย ในทัศนะของสื่อการนำเสนอข้อมูลข่าวการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ นั้นต้องการให้เน้นเรื่องความถูกต้องและความเป็นกลางซึ่งความเป็นกลางในที่นี่หมายถึง
- การรายงานข่าวปราศจากอคติ
- การรายงานข่าวที่ถูกต้อง
- การปราศจากการครอบงำ
ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ควรจะปฏิบัติโดยเฉพาะสื่อแบบใหม่ที่ยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานในการกำกับดูแลอย่างชัดเจน ขณะที่องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับสื่อ จนไปถึงสื่อต้องมีแนวทางการกำกับการทำงานของสื่ออย่างจริงจัง
จิตวิทยาของการแชร์ข่าวปลอมและการเมืองบนโลกโซเซียล โดย ดร.สุรัชนี ศรีใย
นอกจากสื่อแล้วสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การแพร่ของข่าวปลอมก็คือ ตัวผู้แชร์ ซึ่ง ดร.สุรัชนี ศรีใย ได้ให้คำอธิบายไว้ว่าปัจจัยสำคัญของการแชร์ข่าวปลอมที่สำคัญมาก มาจากปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ในที่นี่หมายถึงความรัก ความผูกพัน โดย ดร.สุรัชนี ศรีใย เรียกว่า “รักเขา ก็เลยแชร์”
ความผูกพันไม่ว่าจะความผูกพันทางจิตใจของระหว่างเพื่อน ไปจนถึงอุดมการณ์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ทั้งนี้ถ้ามีความสุดโต่งทางการเมือง ไม่ว่าจะอนุรักษ์นิยมสุดโต่งหรือก้าวหน้าสุดโต่ง แนวโน้มในการแชร์ข่าวปลอมก็จะมากขึ้นไปอีก ยิ่งคุณผูกพันกับใครมากเท่าไหร่ก็มีโอกาสมากที่จะเกิดการแชร์ข่าวปลอมขึ้น
ซึ่งเมื่อการแชร์ ก็ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวบนโลกโซเซียล ที่นี้ปรากฏการณ์บนโลกโซเซียลที่มีต่อเรื่องการเมืองนั้นมีสัมพันธ์กับโลกจริงไหม จากงานวิจัยส่วนมากโดยเฉพาะโลกตะวันตก โซเซียลมีเดียมีความสัมพันธ์กับเรื่องผลทางการเมืองเป็นอย่างมาก ชนิดที่แทบจะใช้ทำนายได้ว่าใครชนะหรือแพ้จากการสังเกตโซเซียลมีเดีย แม้ในกรณีของไทยยังทำได้แต่คาดการณ์เพราะยังไม่มีการศึกษาจริงๆ จังๆ แต่ขณะนี้สามารถบอกได้ว่าโซเซียลมีเดียเป็นช่องทางในการปั่นกระแสหรือหาเสียงได้ง่าย
อย่างกรณีของฟิลิปปินส์ มากอส จูเนียร์ใช้ TikTok สร้างภาพลักษณ์ของตัวเองคุณลุงใจดี และทำให้หลายคนคิดว่าตนสามารถเป็นประธานาธิบดีสุดเท่ได้ ซึ่งต่อมาผู้แทนจากพรรค Liberal Party of the Philippines จะขยายรายละเอียดว่าวิธีที่มากอส จูเนียร์ได้ใช้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นเป็นอย่างไร
Disinformation in the Philippines โดย Jiggy Calucag
Jiggy Calucag หนึ่งในสองผู้แทนจาก Liberal Party of the Philippines ได้เริ่มพูดถึงสภาพปัจจุบันของฟิลิปปินส์ซึ่งผจญปัญหาเงินเฟ้อสูงสุดในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา หนี้สินก็ทะลุไปถึงหลายพันล้าน แถมการจัดการโควิด-19 ได้ย่ำแย่สุดๆ แต่ประชาชนกลับเชื่อว่าการจัดการบริหารของรัฐบาลนั้นดีสุด ความนิยมก็ยังสูง เหตุผลหลักๆ เป็นเพราะข่าวปลอม
ข่าวปลอมเป็นปัญหาใหญ่ของฟิลิปปินส์ จนเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาประชาธิปไตย โดยในการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ว่าการเลือกประธานาธิบดีปี 2022 ถึงขั้นมีคนกล่าวว่าผลแพ้ชนะวัดกันที่ข่าวปลอม
โดยลักษณะของข่าวปลอมส่วนใหญ่ที่ได้รับการเผยแพร่ นั้นมักจะเป็นข่าวที่ถูกออกแบบมาเพื่อดิสเครดิตนักการเมืองคู่แข่ง โดยลักษณะของข่าวนั้น ต้องไม่ใช่ข่าวที่ยกเมฆพูดขึ้นลอยๆ ข่าวปลอมที่จะได้ผลต้องมีความจริงอยู่ แต่เป็นความจริงบางส่วน เพื่อข่าวจะไม่ได้ดูปลอมจนคนเชื่อไม่ลง และไม่รู้เป็นข่าวเท็จ
ที่สำคัญการสร้างข่าวลวงของฟิลิปปินส์นั้นมีโครงสร้างที่ชัดเจน และมีมานานตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดก่อน โดยสามารถโครงสร้างออกมาเป็นสามขั้น บนสุดเป็นคนที่เชี่ยวชาญด้านข้อมูล พวกนี้จะเป็นคนจัดการข้อมูล ก่อนจะส่งให้ขั้นที่สองซึ่งก็คือคนผลิตคอนเทนต์ซึ่งมักจะเป็น Influencer เพราะมีผลต่อการเพิ่มโอกาสในการที่ผู้ติดตามจะเชื่อมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะเป็นดาว TikTok ขณะที่ขั้นสามก็คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติการกระจายข่าว คนพวกนี้อาจจะสร้างอวตารหรือแอคหลุม เพื่อที่จะแชร์ข่าวไปต่อ
ทั้งนี้ในการเลือกตั้งปี 22 นั้นมากอส จูเนียร์ ไม่ได้ใช้วิธีจ้างดาว TikTok มาผลิตคอนเทนต์ แต่ใช้วิธีจ้างซื้อแอคเคานต์เข้ามา engage เมื่อมีคนดูเยอะแชร์เยอะก็ทำให้คนคิดว่าน่าเชื่อถือ แล้วก็จะกระจายไปที่คนกลุ่มต่างๆ เอง
สำหรับการจัดการข่าวปลอมนั้นไม่ใช่สิ่งที่สามารถจัดการได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องเป็นสิ่งที่ทุกกลุ่มต้องร่วมมือด้วยกัน ขั้นที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ต้องทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อที่ปล่อยข่าวปลอม แล้วจึงค่อยให้ข่าวโต้กลับซึ่ง Jobelle Joan S. Domingo ตัวแทนจากพรรค Liberal Party of the Philippines อีกคนจะเป็นคนขยายประเด็นนี้
Volunteerism Fueled Pink Revolution โดย Jobelle Joan S. Domingo
เนืองจากเป็นคนจากพรรคฝ่ายค้าน Jobelle Joan S. Domingo จึงได้เริ่มอธิบายว่าที่พวกตนพูดนั้นไม่ใช่มาดิสเครดิต มีงานศึกษามาแล้วว่ามีข่าวปลอมเพื่อมุ่งทำร้ายทางการเมืองจริงๆ
ส่วนหนึ่งที่ข่าวปลอมบนโลกโซเซียลเป็นปัญหาใหญ่ เพราะชาวฟิลิปปินส์นั้นใช้อินเตอร์เน็ตมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และก็เสพข่าวออนไลน์เป็นช่องทางหลัก ทั้งเชื่อว่าข่าวออนไลน์น่าเชื่อถือกว่าข่าวทางวิทยุหรือโทรทัศน์
เพื่อแก้ปัญหาที่โดนข่าวปลอมดิสเครดิตทางพรรค Liberal Party of the Philippines ก็มีความพยายามสร้างเครือข่าย Influencer เพื่อขยายฐานเสียง โดยแทนที่จะใช้เงินในการจ้าง คนพวกนี้เป็นอาสาสมัครของพรรค
โดยคนพวกนี้ในการเปิดตัวผู้ลงสมัครประธานาธิบดี คนพวกนี้ก็มีการใช้สีชมพู เพื่อใช้แสดงพลัง ซึ่งในงานเปิดตัวมี Influencer ประมาณ 400 คน โดย Influencer นั้นจะช่วยในการกระจายข่าวของพรรค Liberal Party of the Philippines แต่ก็ยังต่อกรกับฝั่งรัฐบาลไม่ได้เสียเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายแล้วทรัพยากรของรัฐบาลก็มีมากกว่า และเนืองจากเครือข่ายเป็นอาสาสมัครทำให้ขยายเครือข่ายได้ยากกว่าด้วย
เราจะรับมือกับข่าวปลอมเกี่ยวกับการเมืองอย่างไร และรัฐควรจะเข้ามาเกี่ยวหรือไม่
ในการสัมมนา สุรัชนี ศรีใย ได้เน้นย้ำว่าวิธีการต่อต้านข่าวปลอมที่ดีที่สุดนั้นไม่ใช่การให้ความรู้เกี่ยวกับ digital literacy เพราะการใช้เทคโนโลยีได้ไม่รับประกันว่าจะสามารถแยกแยะข่าวปลอมกับข่าวจริงได้ ที่สำคัญที่ในการต้านข่าวปลอมนั้น คือ เรื่องของทักษะในการคิดวิเคราะห์ ส่วนกมลพร สอนศรีได้เสนอว่าต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง
ขณะเดียวกันการจัดการกับข่าวปลอม ไม่ควรจะเป็นเรื่องของรัฐ โดยผู้แทนจากพรรคLiberal Party of the Philippines มองว่ารัฐเป็นกลุ่มที่อยากจะคุมข้อมูล ยิ่งให้รัฐคุมข้อมูล รัฐจะได้สิ่งที่ต้องการ
กมลพร สอนศรีก็คิดว่าถ้าจะแก้ปัญหาต้องประสานความร่วมมือทั้งองค์กรจากรัฐและภาคประชาสังคมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโดยต้องมีความเป็นกลาง ขณะที่สุรัชนี ศรีใย ได้กล่าวว่าการจะจัดการกับข่าวปลอมต้องอาศัยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในการแก้ปัญหา ทั้งโดยธรรมชาติพวกนี้มีส่วนอย่างมากในการหาประโยชน์จากคนทั่วไป และคนพวกนี้ก็ควรจะเป็นกลุ่มที่มีส่วนสำคัญในการรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะคนทั่วไปไม่ใช่ customer ไม่ได้เป็น user แต่เป็น product ที่แพลตฟอร์มใช้ในการกำไร
สรุปการสัมมนาโดย
ธีทัต จันทราพิชิต
เจ้าหน้าที่โครงการ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย
3 กุมภาพันธ์ 2566