
สรุปการบรรยาย
วันที่ 09 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น.
โดย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย
ในสังคมสมัยใหม่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในชีวิต นำมาสู่คำถามว่าในการเลือกตั้งนั้น สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมได้หรือไม่ แล้วหากใช้แล้วจะเป็นอย่างไร จนนำมาสู่งานสัมมนาสาธารณะ Long Take Politics & Elections: สนทนาว่าด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีกับการเลือกตั้ง เพื่อตอบคำถามดังกล่าว
อะไรคือ เทคโนโลยีการเลือกตั้ง
เอกวีร์ มีสุข จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เริ่มการสัมมนา โดยอธิบายถึงพื้นฐานความเกี่ยวพันของเทคโนโลยีกับการเลือกตั้ง โดยเอกวีร์ได้อธิบายว่าในการจัดการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของระบบเลือกตั้ง แต่ยังรวมไปถึงการบริหารจัดการเลือกตั้ง ซึ่งปกติการบริหารจัดการเลือกตั้งจะแบ่งเป็น 3 ช่วงได้แก่
1. ก่อนจัดการเลือกตั้ง
2. วันการเลือกตั้ง
3. หลังการเลือกตั้ง
ปกติแล้วเมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยีเราจะคิดถึงเทคโนโลยีในการลงคะแนน แต่จริงๆ ทั้งสามช่วงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในทุกจุด โดยเทคโนโลยีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีดิจิตอล หรืออะไรที่ดูเป็นเครื่องจักรอย่างเครื่องลงคะแนน แต่เทคโนโลยีที่กำลังจะพูดนั้นหมายถึงสิ่งที่ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ ถึงยังรวมถึงนวัตกรรมคลาสสิก เช่น บัตรเลือกตั้ง สิ่งก่อสร้างหรือการจัดคูหาด้วย
นอกจากนี้เทคโนโลยียังถูกใช้ทั้งในการแบ่งเขตเลือกตั้ง การลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ การลดความเสี่ยง จนไปถึงการติดตามผลการลงคะแนน
โดยเอกวีร์มองว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการใช้เทคโนโลยีในการเลือกตั้งนั้นไม่ควรจะเป็นเพียงความล้ำสมัยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรเป็นไปเพื่อที่จะนำมาสู่การเลือกตั้งที่ free and fair (เสรีและเป็นธรรม) มากกว่า
เทคโนโลยีการเลือกตั้งในมุมมองของตัวแสดงทางการเมือง
ขณะที่เอกวีร์พูดถึงเรื่องพื้นฐาน สติธร ธนานิธิโชติ จากสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กำลังจะพูดเรื่องผู้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มนักการเมืองและกลุ่ม voter
โดยนักการเมืองเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างคะแนนนิยม ซึ่งมีทั้งเทคโนโลยีทั้งเก่าแบบคลาสสิกและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งทุกวันนี้ส่วนใหญ่มองว่าอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับพรรคการเมือง เพราะทั้งถูก และเข้าถึงคนได้หลายกลุ่ม เห็นได้จากการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ใช้ TikTok เป็นช่องทางในการสื่อสารและก็เวิร์ค ทำให้ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น TikTok จะกลายเป็นช่องทางที่ผู้สมัครจากหลายพรรคหันมาใช้
เรื่องแพลตฟอร์มนี่ก็เป็นเทคโนโลยี เพราะเป็นที่นักการเมืองใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลหรือสนทนากับ voter อย่าง five star party ของอิตาลีก็ใช้ Rousseau ที่ตั้งชื่อตามนักปรัชญาการเมืองเป็นช่องทางสื่อสาร
แต่ขณะที่มีของใหม่ สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ของเก่าว่ามีการปรับตัวยังไง ที่ชัดเจนคือป้ายหาเสียงที่มีขนาดเล็กลง โดยอิงจากป้ายหาเสียงของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. บางคนอาจจะบอกว่าป้ายไม่สำคัญแล้ว แต่ก็ยังมองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาที่บัตรแบบเขตกับ บัญชีรายชื่อคนละเลข
ส่วนสินค้าอย่างนโยบายก็จะขายทั้งที่เป็นแบบเก่าและใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือ วิธีการนำเสนอ เช่น การประดิษฐ์คำ การใช้วาทกรรม พวกนี้เป็นนวัตกรรมเป็นเทคโนโลยีหมด
ส่วนสุดท้ายที่สำคัญคือ วิธีคิดหรือ paradigm ในการเลือกตั้งบางครั้งนโยบายเป็นสิ่งที่นักการเมืองมองว่าสำคัญ หากแต่บางครั้งก็มองว่าการดีลกันเองสำคัญกว่า ซึ่งครั้งนี้ดูจะเป็นอย่างหลัง
พวกนี้รวมๆ กันจะทำให้เราเข้าใจว่านักการเมืองคิดยังไง และมองว่า voter คิดยังไง
ขณะที่ voter นั่นจะกลับด้านกัน ในฐานะที่เป็นลูกค้าของพรรคการเมือง และเป็นผู้มีอำนาจในวันเลือกตั้ง นวัตกรรมของ voter คือ การเข้าถึงข้อมูล voter จะเป็นคนเลือกเองว่าจะเข้าถึงยังไง อันนี้ก็น่าสนใจว่านักการเมืองจะเดาถูกไหม ว่าจะเป็นโซเซียลมีเดียหรือจะเป็นรูปแบบคลาสสิกอย่างเคาะประตูกับรถแห่
นอกจากเรื่องเทคโนโลยีสำหรับการเข้าถึงข้อมูลแล้ว สุดท้ายสำหรับ voter ที่สำคัญมากๆ ก็คือ นวัตกรรมการลงคะแนน จะเลือกล่วงหน้าได้ไหม หรือโดนบีบให้ต้องไปลงคะแนนในวันเลือกตั้งอย่างเดียว
ซึ่งทั้งหมดประชาชนไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนนักการเมือง และนักการเมืองต้องฝ่ายเดาใจประชาชน
ปัญหาคนกลางผู้จัดการเลือกตั้งในประเทศไทย
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีการเลือกตั้งแล้ว สำหรับยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนจาก iLaw คิดว่ากกต.ของไทยนั่นมีปัญหาเรื่องของการใช้เทคโนโลยีมากๆ โดยปัญหาการใช้เทคโนโลยีนั้นสามารถเห็นได้อย่างน้อยสามประเด็น ได้แก่
1. การใช้เทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของกกต.มีปัญหา ตั้งแต่ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่ดี ไปจนถึงการเข้าถึงข้อมูลซึ่งเข้าถึงได้ยากมากๆ หลายครั้งต้องทำหนังสือ ซึ่งนำความยุ่งยากให้แก่ผู้ติดต่อ
2. เทคโนโลยีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครมีปัญหา เพราะควรจะมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ในแบบที่ควรจะรู้ทันทีว่าผู้สมัครคนนี้คุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ขณะที่รับใบสมัคร อย่างเช่นกรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถ้าคุณสมบัติไม่ผ่านควรจะไม่ได้สมัครตั้งแต่แรก
และประเด็นที่ 3. คือการนับคะแนน อย่างการนับคะแนน เช่นการนับคะแนนสส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งปี 2562 และแม้จะมีการพยายามแก้ไขด้วยการใช้ rapid report คือ ให้มีกรอกข้อมูลผลคะแนน แบบเรียลไทม์ก็ล้มเหลว เพราะคะแนนขึ้นๆ ลงๆ ผันผวนมาก ดูแล้วผิดพลาดอย่างร้ายแรง ซึ่งครั้งนี้คือ กกต.ไม่เอาrapid report แล้ว แต่ใช้วิธีถ่ายภาพส่งทางไลน์แทน แต่การเข้าถึงข้อมูลก็มีปัญหาอยู่ดี เพราะกกต.ไม่ยอมเปิดคะแนนรายหน่วย
การไม่เปิดคะแนนทำให้เชื่อไม่ได้ว่ากกต.น่าเชื่อถือ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานั้นก็ทำได้ด้วยการไปนับคะแนนเอง ซึ่งยิ่งชีพก็เชิญชวนให้ในวันเลือกตั้งเข้าร่วมการนับคะแนน และส่งคะแนนเข้าเว็บ vote 62 เพื่อที่ประชาชนจะทำการตรวจสอบคะแนนด้วยตนเอง
เทคโนโลยีจำเป็นไหมกับการเลือกตั้ง
สติธรมองว่าเทคโนโลยีแม้จะเชื่อมโยงกับอะไรที่ดูเป็นดิจิตอล แต่จริงๆ ทุกอย่าง คือเทคโนโลยี บัตรเลือกตั้งหรือคูหาก็เป็นเทคโนโลยี ทำให้หนีไม่พ้นที่จะต้องใช้เทคโนโลยี หากแต่ความสำคัญของเทคโนโลยีคือ ความไว้ใจ ถ้าไม่มีใครไว้ใจเทคโนโลยี ลงคะแนนด้วยเครื่องลงคะแนนก็ไม่มีประโยชน์ และใช้ไม่ได้
ซึ่งจุดนี้สอดคล้องกับความเห็นของยิ่งชีพที่มองว่าควรใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ตอนนี้ยิ่งชีพมองว่าไทยยังไม่พร้อม เพราะกกต.ไม่น่าไว้ใจ ถ้าจะใช้เทคโนโลยีอย่างน้อยต้องเปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งกกต.เสียก่อน
ขณะที่เอกวีร์ได้ขยายประเด็นนี้ว่า แม้ตนจะเห็นว่าจำเป็นและเห็นควรใช้เทคโนโลยีทันสมัยกับการเลือกตั้ง แต่การใช้เทคโนโลยีนั่นควรนำไปสู่การเลือกตั้งที่ free and fair
ซึ่งทุกวันนี้ไทยเป็นประเทศที่ระบอบทางการเมืองไม่ได้เสรีอะไรขนาดนั้น ถ้าเทคโนโลยีล้ำมากๆ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกตั้งที่ไม่ free และไม่ fair ทว่าในจุดนี้ก็อาจเถียงได้ว่าไทยนั้นมีปัญหา state capacity ต่ำ ทั้งเทคโนโลยี และความสามารถของรัฐ ถึงจะมีบางด้านที่ล้ำมากๆ แต่โดยรวมคือล้าสมัย ทำให้อาจจะไม่สามารถมีศักยภาพได้ขนาดนั้น
ขณะเดียวกันที่ต้องถามหากจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะการลงคะแนนคือ เทคโนโลยีนั่นจะมีผลการลงคะแนนมีผลต่อคะแนนไหม คะแนนเสียงที่ได้จะเปลี่ยนไปไหม อย่างการลงคะแนน touch screen อาจจะบัตรเสียมากกว่าการกาหรือการฝน เพราะเผลอกดสองครั้ง แง่นี้การเป็นกระดาษมันก็มีข้อดี คือ มีหลักฐาน เมื่อบวกกับระบอบการเมืองของไทยแล้ว การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลไม่น่านำไปสู่ free and fair เทคโนโลยีดิจิตอลสำหรับการเลือกตั้งเลยเป็นสิ่งที่ไทยควรมี แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่ไทยต้องการในตอนนี้
และเทคโนโลยีการเลือกตั้งควรผูกขาดเฉพาะรัฐไหม?
บางประเทศเช่น อินเดีย นั้นมองว่าเทคโนโลยีการเลือกตั้ง ควรถูกผูกขาดโดยรัฐ เพราะถือว่าเอกชนอาจนำไปสู่การหาประโยชน์ส่วนตัว หากแต่สำหรับมุมวิทยากรแล้วกลับไม่เห็นเป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว ยิ่งชีพมองว่ายังไงก็ต้องเอาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีการเลือกตั้ง เพียงแต่ต้องมีการเปิดเผยและโปร่งใส
ขณะที่เอกวีร์ได้ยกว่าแม้จะมีเคสอินเดียที่รัฐผูกขาดเทคโนโลยีการเลือกตั้ง แต่ก็มีเคสอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีการใช้เอกชนอยู่ มันเลยเป็นไปได้ทั้งคู่ แต่ที่สำคัญจริงๆ คือ การโปร่งใส สำหรับเอกวีร์มองว่า third party จำเป็น แต่ความโปร่งใสสำคัญที่สุด ซึ่งก็จะเป็นเรื่องว่ารัฐมีศักยภาพในการเปิดเผยข้อมูลขนาดไหน และพร้อมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมขนาดไหน
พร้อมกันนั้นสติธรมองว่ายิ่งใช้เทคโนโลยี ก็หลักเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้เอกชน เพราะตอบโจทย์เรื่องคนกลาง ถึงจะมีความเสี่ยงเรื่องความลับรั่วไหลก็ตาม แต่อีกมุมรัฐก็สามารถมีศักยภาพได้ไม่แพ้กัน หากแต่ถึงจะมีศักยภาพด้านเทคโนโลยี สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดก็หนีไม่พ้น paradigm เทคโนโลยีจะไม่ถูกใช้ถ้าวิธีคิดไม่เปลี่ยน สมัยหนึ่งมหาดไทมองว่าการเลือกตั้งต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย หากแต่พอมีกกต. การเลือกตั้งก็กลายเป็นเรื่องสุจริต เที่ยงธรรม จริงๆ ไทยควรจะก้าวไปสู่วิธีคิดอีกแบบที่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยแล้ว นั่นคือ การเลือกตั้งที่ free and fair
เมื่อวิธีคิดไม่ได้ เทคโนโลยีเอามาใช้ก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อวิธีเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้นไม่ free ก็เต็มไปด้วยกฎ และกลายเป็นกรอบให้ทำอะไรไม่ได้ ทั้งของไทยเชื่อว่าแพทเทิร์นต้องเป็นแบบเดียวกัน หากมีของทันสมัยต้องทันสมัยเหมือนกันหมดซึ่งไม่จำเป็น จริงๆ บางหน่วยอาจใช้เครื่องลงคะแนน แต่บางหน่วยอาจเป็นบัตรเลือกตั้งธรรมดา เพราะการจัดการเลือกตั้งควรจะเป็นตามที่คนเลือกสะดวก
เมื่อเป็นแบบนี้การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยของไทยก็อาจนำไปสู่กรอบมากกว่าที่จะนำมาซึ่งความสะดวกที่ควรจะเป็น
สรุปการสัมมนาโดย
ธีทัต จันทราพิชิต
เจ้าหน้าที่โครงการ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย