ธีทัต จันทราพิชิต
20 กุมภาพันธ์ 2566

ยุคอวกาศยูโทเปียของโอนีลและการเมืองอวกาศของกันดั้ม
ย้อนกลับไปในปี 2019 เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) มหาเศรษฐี CEO ของ Amazon ได้ประกาศว่ามนุษย์ในอนาคตจะอาศัยในอวกาศ ไม่ใช่เพียงแค่การย้ายไปตั้งรกรากที่ดาวอื่น แบบที่ Space X วางแผนว่าจะทำการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร หากแต่สิ่งที่เจฟฟ์ เบโซสเสนอนั้นมนุษย์ในอนาคตจะอาศัยบนสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่บนอวกาศหรือที่เรียกว่าสเปซโคโลนี (Space Colony)
สิ่งที่เจฟฟ์ เบโซสเสนอนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่จริงเบโซสได้แรงบันดาลใจจากนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน
เจราร์ด เค. โอนีล (Gerard K. O’Neill) ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1970 โอนีลได้เสนอว่าการตั้งรกรากในอวกาศเป็นไปได้ และการตั้งอาณานิคมนั้นจะไม่ใช่การตั้งอาณานิคมบนต่างดาว หากแต่เป็นการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์เพื่อใช้ตั้งรกรากในอวกาศ ซึ่งโอนีลมองว่าแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและประชากรล้นโลกจนทรัพยากรไม่พอได้อย่างชะงัก ทั้งยังน่าอยู่อาศัยกว่าบนดาวอื่นๆ นอกเหนือจากโลกเป็นไหนๆ
ซึ่งแนวคิดการตั้งรกรากบนอวกาศผ่านการสร้างสิ่งก่อสร้างของโอนีลนั้นมองว่าปัญหาประชากรล้นโลกเป็นปัญหาใหญ่ ที่นำมาสู่ปัญหาต่างๆ ในด้านคุณภาพชีวิต และโลกหรือดาวดวงไหนก็มีทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงมนุษย์ทั้งหมด ทางแก้ที่โอนีลเสนอนั้นคือการสร้างสิ่งก่อสร้างที่จะใช้อยู่อาศัย ซึ่งโอนีลได้ทำการเสนอนั้นมีหลายโมเดล แต่ที่โด่งดังที่สุดนั้นคือสิ่งก่อสร้างรูปทรงกระบอกสำหรับการตั้งที่อยู่อาศัยหรือ O’Neill Cylinder
โดย O’Neill cylinder มีความยาว 20 ไมล์ และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ไมล์ ในสิ่งก่อสร้างมีทั้งแรงดึงดูดที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเอง มีอากาศและน้ำพร้อม ขณะเดียวกันเนืองจากสามารถควบคุมสภาพอากาศทำให้อากาศอบอุ่น ไม่หนาวไปหรือร้อนไป ทั้งยังไม่เกิดภัยพิบัติต่างๆ และสามารถทำอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในโมดูลที่ถูกออกแบบไว้โดยเฉพาะ ทำให้ไม่มีปัญหามลพิษในส่วนที่อยู่อาศัย และเนืองจากสามารถจำลองแรงโน้มถ่วงได้ทำให้ไม่มีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากแรงโน้มถ่วงต่ำแบบการตั้งรกรากบนดาวอังคาร
ขณะเดียวกันพลังงานก็ราคาถูกเนืองจากใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยเหตุนี้เอง โลกที่โอนีลวาดฝันไว้จึง ไม่มีสงคราม ไม่มีความขัดแย้ง เพราะทรัพยากรที่ได้จากอวกาศมีเหลือเฟือและถูก หากจะมีปัญหาก็มีเพียงแค่ปัญหาอุกกาบาตและรังสี ซึ่งก็แก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยี


ภาพแบบ O’Neill Cylinder โดย Rick Guidice
แนวคิดของโอนีลอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยูโทเปียอวกาศก็ไม่ปาน หากแต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอนาคตของ โอนีลเกิดขึ้นจริง ทุกอย่างจะสวยงามแบบที่โอนีลทำนายเอาไว้หรือเปล่า
น่าเศร้าที่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น โดยตลอดมามีข้อวิพากษ์แนวคิดของโอนีลอยู่เสมอ แต่ไม่มีสื่อกระแสหลักไหนที่วิพากษ์แนวคิดของโอนีลเท่ากับการ์ตูนอย่างกันดั้มจักรวาล UC อีกแล้ว แล้วกันดั้มแย้งแฟนตาซีอวกาศของโอนีลว่ายังไงกันล่ะ
จากโอนีลสู่กันดั้ม
เมื่อพูดถึงแฟรนไชส์มูลค่าหมื่นล้านอย่าง Mobile Suit Gundam หรือกันดั้ม เราคงจะติดภาพของเล่นพลาสติกโมเดล หากแต่กันดั้มนั้นนอกจากจะเป็นการ์ตูนขายของเล่นแล้ว กันดั้มยังเป็นการ์ตูนที่มีมุมที่สนทนากับสังคมอยู่เรื่อยๆ รวมไปถึงกันดั้มภาคแรกๆ ด้วย
เนืองจากเป็นแฟรนไชส์ที่มีประวัติมายาวนานทำให้กันดั้ม มีจักรวาลในแฟรนไชส์ของตัวเองอยู่หลายจักรวาล ซึ่งจักรวาลที่เก่าแก่ที่สุดของกันดั้มนั้นก็คือ จักรวาล UC
โดยจักรวาล UC นั้นถูกตั้งชื่อตามศักราชที่ใช้ในเรื่องซึ่งก็คือ ศักราชอวกาศ (Universal Century) โดยจักรวาล UC นั้นมีฉากหลังเป็นยุคอวกาศ เนืองจากปัญหาประชากรล้นโลก ทำให้มนุษย์ต้องอพยพไปอยู่อาศัยในอวกาศ โดยอาศัยในสเปซโคโลนี ซึ่งได้แบบมาจาก O’Neill Cylinder
ฉากหลังของกันดั้มจักรวาล UC จึงแทบจะเหมือนกับแนวคิดที่โอนีลเสนอ เพื่อแก้ปัญหาประชากรล้นโลก ทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกถูกทำลาย ทำให้เกิดการย้ายไปอาศัยในอวกาศ ในโคโลนีที่สามารถปรับสภาพแวดล้อม และสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ขณะที่โลกก็จะได้มีมลพิษน้อยลงตามไปด้วย
ซึ่งหากดูเวลาที่กันดั้มจักรวาล UC ถือกำเนิดกับที่แนวคิดของโอนีลถูกเสนอแล้วก็จะพบว่าทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกัน โดยแนวคิดของโอนีลถูกเสนอครั้งแรกในปี ค.ศ.1974 ผ่านบทความชื่อว่า “The Colonization of Space” และหนังสือชื่อ “The High Frontier: Human Colonies in Space” ในปี ค.ศ.1977 ขณะที่กันดั้มภาคแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของจักรวาล UC ได้ฉายลงโทรทัศน์ในปี ค.ศ.1979
หากสิ่งที่ต่างจากสังคมยูโทเปียของโอนีลจักรวาล UC กลับกลายเป็นโลกที่เต็มไปด้วยสงคราม
โดยกันดั้มเริ่มต้นในปีศักราชอวกาศที่ 0079 เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัฐบาลสหพันธ์โลก (Earth Federation) กับรัฐอวกาศชื่อว่าราชรัฐซีออน (Principality of Zeon) โดยในการต่อสู้ได้มีการใช้อาวุธรูปร่างหุ่นยนต์มีคนขับที่เรียกว่าโมบิลสูท ซึ่งกันดั้มนั้นเป็นชื่อของโมบิลสูทตัวหนึ่งของสหพันธ์ ซึ่งตัวเอกของเรื่องชื่อว่าอามุโร่ เรย์เป็นคนขับ
กันดั้มปี 1979 นั้นดำเนินเรื่องอยู่ในสงครามนี้เอง ซึ่งความขัดแย้งหลักที่ทำให้เกิดสงครามนั้นก็เกิดขึ้นจากการอพยพคนขึ้นมายังอวกาศ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มคนสองกลุ่มใหญ่ๆ ที่เรียกว่าเอิร์ธนอยและสเปซนอยขึ้น
เอิร์ธนอยและสเปซนอย การเมืองอวกาศของกันดั้ม
ประชากรของกันดั้มจักรวาล UC สามารถแบ่งอย่างหยาบได้ออกเป็นสองกลุ่มคือ เอิร์ธนอยหรือมนุษย์โลกกับสเปซนอยหรือมนุษย์อวกาศ เนืองจากอยู่ในยุคที่เกิดการอพยพไปยังอวกาศ ที่เกิดการอพยพเพื่อแก้ปัญหามลพิษที่เกิดจากประชากรล้นโลก ทำให้โครงสร้างประชากรของกันดั้มจักรวาล UC ส่วนใหญ่นั้นมนุษย์อวกาศอย่างสเปซนอยมีจำนวนมากกว่าเอิร์ธนอย
หากแต่แม้จะมีจำนวนมากกว่าแต่สเปซนอยก็มีสิทธิเสรีภาพน้อยกว่าเอิร์ธนอย ทั้งเอิร์ธนอยยังมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายกว่า และเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า ขณะที่สเปซนอยต้องทำงานหนักกว่าเพื่อเอาทรัพยากรกลับไปป้อนให้กับเอิร์ธนอย จนอาจจะบอกได้ว่าเอิร์ธนอยเป็นพวกชนชั้นนำในจักรวาล UC
นั่นทำให้ภาพของโอนีลที่มองว่าเมื่อเกิดการย้ายไปตั้งรกรากในอวกาศแล้วจะทำให้ปัญหาโดยส่วนใหญ่ของมนุษย์จะหมดไป ถูกท้าทาย เพราะการย้ายไปอวกาศไม่ได้รับประกันว่าจะไม่มีความขัดแย้ง ทั้งปัญหาการกระจายทรัพยากรก็ยังไม่จบลง ยังมีคนที่โดนขูดรีดทรัพยากรอยู่เหมือนเดิม
สุดท้ายกันดั้มจักรวาล UC เลยกลายเป็นบอกว่าการย้ายไปอวกาศ อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ครอบจักรวาล ทั้งยังอาจจะเกิดปัญหาอย่างอื่น เช่น ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ขึ้นด้วย
ซึ่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ของจักรวาล UC นั้น นำไปสู่แนวคิดการเหยียดชาติพันธุ์ ซึ่งเกิดทั้งในหมู่สเปซนอยและเอิร์ธนอย โดยผู้นำของราชรัฐซีออนอย่างกิเลน ซาบี้ซึ่งได้แบบมาจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์มีความเชื่อว่ามีเพียงคนที่คู่ควรเท่านั้นที่ควรจะมีชีวิตอยู่ (ซึ่งก็สื่อเป็นนัยๆ ถึงสเปซนอย)
ขณะที่ฝั่งสหพันธ์โลกภายหลังจากสงครามกับซีออนก็เกิดความคิดที่จะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สเปซนอยเพราะรู้สึกอันตรายต่อการดำรงอยู่ของตน
ทั้งนี้ที่เป็นเช่นนี้เพราะปัญหาชาติพันธ์กับปัญหาชนชั้นของกันดั้มนั้นมีความทับซ้อนกัน สเปซนอยเป็นชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ขณะที่เอิร์ธนอยเป็นชนชั้นผู้ปกครอง นั้นทำให้สเปซนอยมีความพยายามที่จะเรียกร้องให้เอิร์ธนอยอพยพย้ายออกจากโลก โดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อให้โลกปราศจากมลพิษซึ่งเกิดจากมนุษย์
ซึ่งในจักรวาล UC ข้ออ้างว่าจะทำให้โลกปราศจากมลพิษด้วยการอพยพมนุษย์ทั้งหมดไปอวกาศนั้น ไม่ได้เป็นแค่ข้ออ้างทั่วไป เพราะมันกลายเป็นเหตุผลของความพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย โดยในกันดั้มจักรวาล UC ได้เคยมีความพยายามเอาดาวเคราะห์น้อยพุ่งใส่โลก เพื่อที่จะทำให้โลกไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ มนุษย์จะได้ย้ายมาอาศัยอยู่บนอวกาศแบบถาวร
หรือก็คือ เหตุผลของการย้ายไปอวกาศของโอนีลที่เชื่อว่าเมื่อย้ายไปอวกาศจะทำให้มลพิษน้อยลงอาจจะกลายเป็นเหตุผลของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อให้มลพิษน้อยลงได้เช่นกัน
ยูโทเปียอวกาศของโอนีลจึงถูกตั้งคำถามโดยการ์ตูนไปโดยปริยาย
กันดั้มและโอนีลกับอิทธิพลที่ยังคงอยู่
ในหนังสือ “The High Frontier: Human Colonies in Space” ที่ O’Neill ได้วาดฝันถึงอนาคตไว้นั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1990 สเปซโคโลนีแห่งแรกของมนุษย์จะต้องได้รับการก่อสร้างขึ้นเป็นที่เรียบร้อย
หากแต่แม้จะผ่านมาทศวรรษที่ 1990 มากว่า 30 ปีแล้ว แต่มนุษย์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสร้างสเปซโคโลนีได้แม้แต่น้อย ทำให้ไม่ใช่แต่กันดั้มเท่านั้น แม้แต่ความเป็นจริงยังไม่เป็นใจให้โอนีล
ขณะเดียวกันกันดั้มแฟรนไชส์ก็เติบโตมากยิ่งขึ้น และมีจักรวาลงอกมาอีกหลายจักรวาล ส่วนจักรวาล UC ก็กลายเป็นจักรวาลกันดั้มสำหรับคนแก่ ที่แม้จะมีการตีความใหม่ ดังเช่นการตีความของทอม แคลนซี่ญี่ปุ่น[1]อย่างฟุคุอิ ฮารุโทชิ (Harutoshi Fukui) ที่ตีความจักรวาล UC ให้แตกต่างจากผู้ให้กำเนิดกันดั้มอย่างโทมิโนะ โยชิยูกิ (Tomino Yoshiyuki) แต่จักรวาล UC ก็ยังเป็นจักรวาลกันดั้มสำหรับคนแก่และแฟนการ์ตูนหุ่นเดนตาย ที่สารไม่เข้ากับยุคสมัย และเต็มไปด้วยประเด็นหลงยุคจากสมัยสงครามเย็น
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งสองจะตายไป กันดั้มยังคงเป็นอนิเมะเบอร์ต้นๆ ของอุตสาหกรรมอนิเมะญี่ปุ่น และสร้างกำไรมหาศาลเป็นถังเงินถังทองให้กับบริษัทของเล่นอย่างบันไดนัมโกะ (Bandai Namco) และมีกันดั้มภาคใหม่ๆ จักรวาลใหม่ที่ร่วมสมัยมากขึ้นมาเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันแนวคิดอุดมคติของโอนีลแม้จะยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับคนจำนวนมาก ตั้งแต่มหาเศรษฐี ไปจนถึงคนธรรมดาที่ทำได้เพียงแหงนหน้าดูดาวบนฟ้า มาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
Haynes, K. (2019, May 17). O’Neill colonies: A decades-long dream for settling space. Astronomy.com. Retrieved from https://astronomy.com/news/2019/05/oneill-colonies-a-decades-long-dream-for-settling-space
Hero, S. (2020, Dec 8). No utopias: Gerard O’Neill, Gundam, and the illusion of space colonization. ZIMMERIT. Retrieved January 25, 2023, from https://www.zimmerit.moe/gundam-gerard-oneill-war-in-the-pocket-no-utopias/
O’Neill G. K. Gump D. Space Studies Institute & Space Frontier Foundation. (2000). The high frontier : human colonies in space (3rd ed.). Apogee Books.
O’Neill, G. K. (1974). The colonization of Space. Physics Today, 27(9), 32–40. https://doi.org/10.1063/1.3128863
Onishi, N. (2005, July 9). For a hungry audience, a Japanese Tom Clancy. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2005/07/09/world/asia/for-a-hungry-audience-a-japanese-tom-clancy.html
Powell, C. S. (2019, May 16). Jeff Bezos foresees a trillion people living in millions of space colonies. here’s what he’s doing to get the ball rolling. NBCNews.com. Retrieved from https://www.nbcnews.com/mach/science/jeff-bezos-foresees-trillion-people-living-millions-space-colonies-here-ncna1006036
The Trustees of Princeton University. (2021, April 16). Visionary physicist Gerard O’Neill featured in New Documentary “The high frontier”. Princeton University. Retrieved from https://www.princeton.edu/news/2021/04/16/documentary-featuring-princeton-visionary-physicist-gerard-oneill-premieres
[1] งานเขียนจำนวนมากของฟุคุอิเป็นงานเขียนในลักษณะเชิดชูกองทัพ บางชิ้นเสนอว่าเรื่องความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมักจะถูกนำเสนอว่าเป็นส่วนสำคัญที่นำมาสู่ความอัปยศแก่ชาติญี่ปุ่น และทำให้ญี่ปุ่นมีสภาพไม่ต่างอะไรจากการเป็นทาสของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันหลายชิ้นก็เสนอว่าญี่ปุ่นกำลังถูกคุกคามโดยประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเกาหลีเหนือหรือจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ญี่ปุ่นต้องจำเป็นที่จะเพิ่มกองกำลังทางการทหาร อ่านเพิ่มเติมได้ใน https://www.nytimes.com/2005/07/09/world/asia/for-a-hungry-audience-a-japanese-tom-clancy.html