Articles Events

สรุปการบรรยายในเวทีสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “Long Take Politics & Elections EP.3: สนทนาว่าด้วย จับตาสถานการณ์ การเลือกตั้ง 66”

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น.

โดย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย

การเลือกตั้งปี 66 ใกล้เข้ามาแล้ว หลายคนคงจะสงสัยว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 อย่างไรบ้าง การเมืองแบบบ้านใหญ่จะกลับมาจริงหรือไม่ และ voter จะเลือกใคร เวทีสัมมนาสาธารณะ “Long Take Politics & Elections: สนทนาว่าด้วย จับตาสถานการณ์ การเลือกตั้ง 66” ได้พยายามหาคำตอบนั้น

แลหน้าไปยังการเลือกตั้ง: ผศ.ดร.ตฤณ ไอยะรา

            ผศ.ดร.ตฤณ ไอยะรา ได้เริ่มกล่าวถึงประเด็นความเปลี่ยนแปลงของการเลือกตั้ง 66 จากการเลือกตั้ง 62 โดยเน้นไปที่เรื่องของประชากรและเศรษฐกิจ 

            โดยผศ.ดร.ตฤณ ไอยะรา ได้อธิบายเรื่องความแตกต่างระหว่างการเลือกตั้ง 2562 กับการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะถึงนี่นั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  1. ช่วงปี พ.ศ.2563 – 2566 ได้เกิดการเมืองระหว่างรุ่นขึ้น ซึ่งทำให้วิธีการโหวตเลือกผู้แทนต่างออกไป โดยจากสถิติครั้งก่อนในหลายพื้นที่ ที่มีประชากรอายุน้อยเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับประกันว่าพรรคที่ขายความเป็นคนรุ่นใหม่อย่างอนาคตใหม่จะชนะ พื้นที่จำนวนมากได้สส.จากพรรคพลังประชารัฐ หากแต่ครั้งนี้ต่างออกไปประเด็นการเมืองระหว่างรุ่นทำให้พรรคการเมืองเป็นตัวแทนของการเมืองระหว่างรุ่นไปด้วย
  2. การระบาดของโควิด-19 มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้ง เนืองจากกระทบกับเศรษฐกิจซึ่งทางเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการตัดสินใจในการเลือกตั้งนั้นมาจาก 1. หนี้ครัวเรือน 2. อัตราการว่างงาน ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลัก
  3. การเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญ เนืองจากระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เกมการเลือกตั้งน่าจะเน้นเรื่องการดีลระหว่างบ้านใหญ่ ขณะที่การแข่งกับนโยบายลดลง

ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อทั้งผู้เลือกตั้ง และนักการเมืองด้วย โดยนักการเมืองจะต้องพยายามออกแคมเปญเล่นกับประเด็นสามเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดนั้นคือ เรื่องเศรษฐกิจ ที่นโยบายจะมีลักษณะเป็นการลดต้นทุนในการใช้ชีวิต และหาทางเพิ่มรายได้ นโยบายจำนวนมากเป็นนโยบายเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนซี่งเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งนโยบายเหล่านี้ของทุกพรรคมีความคล้ายคลึงกัน หรือก็คือ เรื่องเศรษฐกิจในตอนนี้เป็นประเด็นหลักที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ แม้ว่ารัฐบาลที่เข้ามาจะเผชิญกับปัญหาขยับตัวลำบากเนืองจากมีเพดานหนี้สาธารณะที่สูงจนทำอะไรไม่ได้ก็ตาม

สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งรศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์

            เช่นเดียวกับ ตฤณ ไอยะรา จากการสำรวจ รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ มองว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้คนส่วนใหญ่นั่นเป็น economic voter และทุกพรรคมีนโยบายเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน แม้ว่าพรรคที่พูดถึงเศรษฐกิจภาพใหญ่จริงๆ ในตอนนี้ดูจะมีแค่ เพื่อไทยกับก้าวไกล และพปชร. (ที่แตะบางเรื่อง) ส่วนที่เหลือเป็น issue base

            โดยการสำรวจเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งของ รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ นั่นมีทั้งสิ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกนั้นได้สำรวจตอนเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 48 ปี มีรายได้สูง และการศึกษาสูง กลุ่มคนเหล่านี้ปฏิเสธที่จะตอบว่าตอนเลือกตั้ง 62 เลือกพรรคอะไร

            หากแต่จากการสำรวจพบว่าในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ 53% จะไปใช้สิทธิไปเลือกพรรคอื่น

            นอกจากนี้จากการสำรวจพบว่า กลุ่มคนอายุน้อยส่วนมากเลือกก้าวไกลไม่ก็เพื่อไทย ขณะที่คนมีอายุจะเลือกประชาธิปัตย์หรือพลังประชารัฐ โดยคนที่เลือกประชาธิปัตย์หรือพลังประชารัฐ มีแนวโน้มเลือกพรรคอื่นสูง กลับกันกลุ่ม voter ของเพื่อไทยกับก้าวไกลกับเป็นกลุ่มที่ loyalty สูง และยังเลือกพรรคเดิมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ต่อมาได้มีการสำรวจอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยผู้ทำแบบสำรวจส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเจน Y กับเจน Z และมีกลุ่มตัวอย่างที่เป็น LGBT จำนวนมาก โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างเลือกพรรคฝ่ายค้านเป็นส่วนมาก ส่วน LGBT ไปเลือกพรรคร่วมฝ่ายค้านแทบจะ 100% 

ส่วนสาเหตุหลักของการเลือกพรรคต่างๆ นั่นเป็นเรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด ส่วนเรื่องการบริหารนั่นสำคัญรองลงมา หากแต่ยิ่งอายุน้อยการบริหารก็ยิ่งมีส่วนสำคัญในฐานะปัจจัยของการเลือกตั้ง

การเลือกตั้ง 2566: การกลับสู่ประชาธิปไตยที่ปรกติ?: รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ

            รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ มองว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้มีประเด็นต้องพูดทั้งสิ้น 4 ประเด็น ได้แก่

1. ภูมิทัศน์พรรคการเมือง

2. แนวโน้มผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล 

3. ความเสี่ยงความรุนแรง 

4. โอกาสกลับสู่ประชาธิปไตย

ในส่วนของภูมิทัศน์พรรคการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร และไม่เหมือนปี 2562 ด้วย และแม้จะหยิบเอาระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้ก็ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น 

โดยไทยขณะนี้นั้นมีระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่างจากปี 2540 ที่เป็นสองพรรค คือ เอาสองพรรคมารวมกันได้ 80-90% ของที่นั่งทั้งหมด และจำนวนที่นั่งก็ห่างจากพรรคอันดับต่อๆ ไปมากๆ พอมันมีสองพรรคมันก็แบ่งขั้วกันชัด ไม่ชอบอันหนึ่งก็เลือกได้แค่อีกอัน แต่คราวนี้นั้นเกิดแข่งกันเองในขั้วสูง อย่างขั้วที่อาจบอกได้ว่าเป็นอนุรักษ์นิยมก็มีทั้งประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ แล้วก็ยังมีพรรคอื่นๆ มาเพิ่มเช่น รวมไทยสร้างชาติ และไทยภักดี (ทั้งอาจจะรวมถึงภูมิใจไทยด้วย) ทำให้การแข่งขันกันเองค่อนข้างสูง และเสียงมีแนวโน้มจะแตก ส่วนฝั่งก้าวหน้าก็มีการแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล

            ส่วนระบบการเลือกตั้ง แม้เพื่อไทยจะได้เปรียบ แต่บริบทเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสมัยที่ไทยรักไทยชนะแบบแลนด์สไลด์สมัยก่อน ตอนนี้เพื่อไทยไม่ได้เป็นตัวแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบบสมัยนั้นอีกแล้ว เพื่อไทยตอนนี้มีก้าวไกลเป็นคู่แข่งในขั้วเดียวกัน และยังต้องแข่งกับพรรคอื่นที่หยิบเอากลยุทธ์ของไทยรักไทยกลับมาใช้ หรือก็คือ ถึงจะได้เปรียบ แต่เพื่อไทยไม่ผูกขาดแล้ว

            ถึงกระนั้นประจักษ์ ก้องกีรติก็มองว่าจุดนี้นั้นเป็นพัฒนาการที่ดี เพราะมีตัวเลือกเยอะดี และในระยะยาวเป็นผลดีกับประชาชนที่ไม่จำเป็นต้องเลือกแค่ตัวเลือกเดียว

            ส่วนแนวโน้มผลการเลือกตั้งนั้นที่นั่งส่วนใหญ่จะไปอยู่กับพรรค 6 พรรคได้แก่ เพื่อไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย โดยเพื่อไทยมีแนวโน้มจะยังคงเป็นพรรคอันดับหนึ่งอยู่ เพราะใช้ระบบที่ตนได้เปรียบ หากแต่ตัวแปรจริงๆ จะเป็นพรรคเล็กที่แม้จะมีที่นั่งน้อย แต่จำเป็นในการดึงเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล เพราะมีอำนาจต่อรองน้อย 

ทั้งนี้เนืองจากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีก 3-4 เดือน ทำให้ยังคาดเดาไม่ได้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลบ้าง และใครจะได้เสียงเท่าไหร่ เพราะวาทกรรม สโลแกนที่ติดหูจำนวนมากมักจะมาช่วงอาทิตย์สุดท้ายด้วยซ้ำ

            ส่วนความรุนแรงในการเลือกตั้ง คือ มันลดลงตลอด ครั้งนี้น่าจะลดลงไปอีก เพราะใช้ความรุนแรงแล้วคนมองในแง่ลบ แต่หลังการเลือกตั้งอาจจะมี โดยเฉพาะถ้าเกิดการฝืนจัดตั้งรัฐบาล แล้วขัดกับผลการเลือกตั้งมากๆ เพราะหลายคนตั้งความหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้มากๆ ถ้าเกิดผิดหวังจะเกิดความรุนแรงโดยง่าย

            ส่วนโอกาสในการกลับสู่ประชาธิปไตยปรกติ นั้นแม้จะยาก แต่ก็ยังมีหวังมากกว่าการเลือกตั้ง 62 ที่เลือกตั้งในสภาวะที่ผิดปกติ จนเป็นการเลือกตั้งที่โกง และไม่เป็นประชาธิปไตย.ความหวังส่วนหนึ่งนั้นมาจากสื่อที่ตอนนี้เสรีมากขึ้น กับบรรยากาศก็เสรีขึ้น ทั้งพรรคทหารซึ่งมีจุดแข็งที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็แตกออกมาเป็นสองพรรคทำให้อย่างน้อยคนเลือกยากขึ้น รวมถึงกลุ่มสว.ด้วย

            ทั้งนี้ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นยังไง ใครจะได้เป็นนายก สุดท้ายการบริหารก็ยังยากกว่าการชนะ ทำให้แม้จะมีโอกาสที่การเลือกตั้งจะนำไปสู่ความปกติ แต่ก็ยังไม่ได้ปกติขนาดนั้น

อะไรเปลี่ยนไปบ้างจากการเลือกตั้ง 62 และอะไรจะเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้ง 66

ตฤณ ไอยะรา เสนอว่าเนืองจากระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนไป ทำให้สิ่งที่แตกต่างแน่ๆ นั้นคือ การมีบัตรสองใบ ทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็กำลังผจญกับภาวะบอบช้ำทางเศรษฐกิจ เมื่อมีบัตรสองใบก็เห็นได้ชัด ก็ทำให้มีแนวโน้มที่ ใบหนึ่งอาจจะกาไปเพื่อแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง ส่วนอีกใบหนึ่งกาไปเพื่อสนองอุดมการณ์ และเนืองจากนโยบายเศรษฐกิจนั้นคล้ายๆ กัน ทำให้พรรคที่มีเครดิตเคยปฏิบัติมาก่อนและประสบความสำเร็จจะได้เปรียบ

ขณะที่ประจักษ์ ก้องกีรติ มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเดิมพันที่สูงขึ้น ทั้งตัวผู้เลือกตั้งก็ไม่เหมือน 4 ปีก่อน และตลอด 4 ปีที่ผ่านมาก็เกิดเรื่องมากมาย เช่น เรื่องโควิด-19

ซึ่งการเลือกตั้งหลังโควิด-19 ทั่วโลกที่ผ่านมานั้น มีผลสรุป 2 – 3 อย่าง โดยพบว่าการเลือกตั้งมักจะไม่พลิกล็อค แสดงถึงความซับซ้อนของการไปใช้สิทธิน้อยลง คนเลือกผู้แทนเพราะมองว่าคนนี้จะนำไปสู่สภาวะที่ที่ดีขึ้น ถ้าเป็นรัฐบาลแล้วบริหารแย่ก็ไม่มีคนเลือก แต่ถ้าพอประคับประคองได้ในช่วงโควิด-19 ก็คือ มีโอกาสจะได้เป็นรัฐบาลต่อสูงมาก แง่นี้การเป็นรัฐบาลเป็นทั้งข้อได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งก็ต้องดูว่าไทยจะเป็นกรณียกเว้นไหม

แล้วเนืองจากเศรษฐกิจนโยบายที่ใช้หาเสียงคล้ายๆ กัน สิ่งเดียวที่จะตัดสินคือ ตัวคน ว่าจะนำสิ่งที่หาเสียงมาทำให้เป็นจริงได้ไหม ส่วนเรื่องอุดมการณ์จะมีผลอยู่แม้จะลดความสำคัญไปก็ตาม

ทั้งนี้ผลการแข่งขั้นครั้งนี้อาจจะนำไปสู่ความปรกติมากขึ้น แต่ก็ไม่ปรกติมากนัก หากคาดหวังความปรกติ ความปรกติจะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า ที่เราหนีมรดกการรัฐประหาร 2557 ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว

สรุปการสัมมนาโดย

ธีทัต จันทราพิชิต

เจ้าหน้าที่โครงการ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: