Articles

การผ่านกฎหมายแผนปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติด้วยอำนาจฝ่ายบริหารกับปรากฏการณ์การประท้วงขนาดใหญ่ของชาวฝรั่งเศส

ภาพกระประท้วงในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภาพจาก Lewis Joly (AP Photo), 2023

ดร.ณพจักร สนธิเณร

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีข่าวการประท้วงขนาดใหญ่ของประชาชนชาวฝรั่งเศสที่มีจำนวนมากกว่า
1 ล้านคนทั่วประเทศ และปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้เกิดความตระหนกไปทั่วโลก สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 รัฐบาลของฝรั่งเศสได้นำเสนอแผนการปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ (Réforme des retraites) โดยอ้างถึงความเร่งด่วนตามแนวทางการแก้ไขระบบสวัสดิการซึ่งอาจจะส่งผลให้ประเทศขาดดุล ประมาณ 2หมื่นล้านยูโร ในปี 2573 ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ประกาศเพิ่มอายุเมื่อเกษียณตามกฎหมายเป็น 64 ปี จากเดิมที่ชาวฝรั่งเศสจะเกษียณเมื่ออายุ 62 ปี โดย ร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี 2566 มาตรการนี้จะควบคู่ไปกับ การขยายระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนปีในการทำงานเป็น 43 ปี ในปี 2570 ก่อนถึงจุดที่คาดการณ์ไว้ในปี 2578 ที่กำหนดตามแผนการปฏิรูปของ Marisol Touraine อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคม ในปี 2557 โดยให้มีผลขยายระยะเวลาการจ่ายเงินที่จำเป็นเพื่อให้ได้เงินบำนาญเต็มจำนวน (Jacquot, 2023, January 9) รวมถึงการลดจำนวนเงินบำนาญ TNN Online (25 มีนาคม 2566) ระบุว่า จาก 1,400 ยูโร เหลือ 1,200 ยูโร ต่อเดือน นอกจากนี้ กระบวนการออกกฎหมายดังกล่าวกลับนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในประเทศ

Le Monde avec AFP (2023, March 26) รายงานว่า วิธีการที่ผ่านกฎหมายฉบับนี้คือการอาศัยอำนาจตามมาตรา 49 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ซึ่ง Breeden (2023, March 16) ได้อธิบายว่า มาตรา 49 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญนี้อนุญาตให้รัฐบาลผลักดันร่างกฎหมายผ่านสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งเป็นสภาล่างของฝรั่งเศสโดยไม่ต้องลงคะแนนเสียง วิธีการนี้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์ และได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2501 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือเชิงสถาบันที่ Charles de Gaulle[1] ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำของฝรั่งเศส ได้กำหนดไว้เพื่อควบคุมความไม่มั่นคงทางรัฐสภาของสาธารณรัฐที่ 4 ของฝรั่งเศส และให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจควบคุมมากขึ้น ทำให้เมื่อรัฐบาลใช้มาตรา 49 วรรค 3 ร่างกฎหมายจะถูกผลักดันโดยไม่มีการลงมติ และทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายค้านมีเวลา 24 ชั่วโมงในการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติอย่างน้อย 1 ใน 10 ต้องสนับสนุนญัตติไม่ไว้วางใจดังกล่าว ซึ่ง Métais (2023, March 23) ระบุว่า การใช้อำนาจฝ่ายบริหารตามมาตรา 49 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญผ่านการปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ โดยไม่มีการลงประชามติ ทำให้ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสกลายเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งและความไม่พอใจ และ Breeden (2023, March 16) เห็นว่า ฝ่ายตรงข้ามทั้งกลุ่มเสรีนิยมและกลุ่มอนุรักษ์นิยมของประธานาธิบดียินดีลงนามในญัตติไม่ไว้วางใจ ตลอดจนได้รับการสนับสนุนมากขึ้น แต่กระนั้น Emmanuel Macron[2] ก็ยังคงได้รับมติไว้วางใจ และขู่ที่จะยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่หากรัฐบาลของเขาถูกโค่นล้ม เช่นนั้นเอง ด้วยการแข่งขันในการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น ส่งผลให้สมาชิกสภานิติบัญญัติที่อาจจะต้องกลับไปเลือกตั้งใหม่อีกรอบ พยายามหลีกเลี่ยงเงื่อนไขที่จะเกิดการยุบสภา PPTV HD36 (24 มีนาคม 2566) รายงานว่า หลังจากนี้ร่างกฏหมายปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการลงนามโดยประธานาธิบดีเพื่อให้กลายเป็นกฏหมายที่มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยังสามารถยับยั้งร่างกฏหมายก่อนที่จะมีการลงนามโดยประธานาธิบดี ด้วยการยื่นอุทธรณ์ไปยังสภารัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส โดยใช้มาตรา 61 วรรค 3 ให้สภารัฐธรรมนูญตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ 8 วัน นอกจากนี้ฝ่ายค้านยังได้เรียกร้องให้มีการลงประชามติเพื่อนำผลประชามติยื่นไปยังสภารัฐธรรมนูญอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าจากเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ปรากฏเงื่อนไขที่ฝ่ายค้านจะยื่นอุทธรณ์ อีกทั้งอุทธรณ์ดังกล่าวไม่น่าจะมีผลให้เกิดการยับยั้งร่างกฎหมายเนื่องจากรัฐบาลได้ทำตามรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถตีความเป็นอื่นได้

แม้ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัตินั้นไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นไม่ไว้วางใจหรือยุบสภา แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมจากประชาชนชาวฝรั่งเศสที่ไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลนำไปสู่การเคลื่อนไหวการประท้วงที่ทวีความรุนแรงหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว DailynewsOnline (25 มีนาคม 2566) ระบุว่า การประท้วงในเหตุการณ์ครั้งนี้ยกระดับความรุนมากกว่าการประท้วงราคาพลังงานที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 ของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง (Yellow Vest) โดย Métais (2023, March 23) รายงานว่า การตอบสนองของกลุ่ม ผู้ประท้วง คือการรวมตัวของผู้ชุมนุมจำนวนมากในปารีสและทั่วประเทศฝรั่งเศส ปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการประท้วงในช่วงแรก โดยกระทรวงมหาดไทยทำการนับจำนวนผู้ร่วมการชุมนุม ได้ 1.08 ล้านคนในประเทศฝรั่งเศส และจำนวน 119,000 คนในเมืองปารีส ในขณะที่สหภาพแรงงาน CGT[3] นับจำนวนผู้ประท้วงได้ 800,000 คนในเมืองปารีส และ 3.5 ล้านคนทั่วประเทศ ความหนาแน่นการชุมนุมประท้วงพบว่ามีนัยสำคัญที่เมือง Rouen ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐนับจำนวนผู้ประท้วงได้ 14,800 คน นับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกข้อมูลโดยท้องถิ่นตั้งแต่มีขบวนการเคลื่อนไหว Groyer (2023, March 21) รายงานว่า มีการเดินขบวนเกิดขึ้นในหลายเมืองในฝรั่งเศส โดยรวมแล้ว มีผู้ถูกจับกุม 450 คนซึ่งข้อมูลจากแหล่งข่าวตำรวจ (ณ วันที่ 28 มีนาคม 2566) โดยในฝั่งของกลุ่มผู้ประท้วงจากภาพข่าวที่ปรากฏพบว่า กลุ่มผู้ประท้วงใช้ยุทธการเปลือกหอยทาก[4] (Opérations Escargot) โดยผู้ประท้วงจะสร้างสิ่งกีดขวางบนถนนและทางสาธารณะ เช่น France Bleu Breizh Izel (2023, March 21) ได้เผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนที่ยังคงใช้ยางรถยนต์และการจุดไฟเผาบริเวณทางด่วนเพื่อปิดกั้นการเดินทางไปยังเมือง Vannes และเมือง Lanester ผู้ประท้วงกล่าวว่าจะทำการปิดกั้นการเดินทางแบบนี้ต่อไป (“ทำไปจนสุดทาง”) โดยพื้นที่ที่มีความรุนแรงและความหนาแน่นของผู้ประท้วงมากที่สุดคือในเมืองปารีส Corbet and Adamson (2023, March 24) รายงานว่า ถังขยะมากกว่า 1,000 ใบถูกจุดไฟในเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส เช่นเดียวกับขยะที่ล้นเกลื่อนเมืองซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงระหว่างการนัดหยุดงานประท้วง (strike) นานนับสัปดาห์โดยเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล การจงใจวางเพลิงในตรอกซอกซอยที่แคบหรือยากเข้าถึง สร้างความตื่นตระหนกให้กับทั้งเจ้าหน้าที่ของเมืองและชาวเมือง

การประท้วงที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านกระบวนการผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยหลักแล้วเป็นการประท้วงจากกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงทางการเมือง Turok (2023) เผยแพร่ภาพและบรรยายการรวมตัวของตัวแทนการท่าเรือ และพนักงานการท่าเรือ บริเวณหน้าสภา Bouches-du-Rhôneในเมือง Marseille ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เพื่อเรียกร้องต่อผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประธานาธิบดีซึ่งอยู่ในกลุ่มขวาจัด และยังนัดหยุดงานประท้วง 3 วัน  ทั้งนี้ TNN Online (25 มีนาคม 2566) ได้ให้ความเห็นในรายการ TNN World ว่า ร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยเฉพาะกับกลุ่มแรงงาน (blue collar) เนื่องจากเป็นผู้ประกอบอาชีพด้วยการใช้แรงงานหนักและสภาพร่างกายเสื่อมถอยเร็วจากการประกอบอาชีพ และเช่นเดียวกับกลุ่มลูกจ้างสตรีที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่บังคับให้ต้องทำงาน 43 ปี จึงจะได้รับบำนาญเต็มจำนวน (เมื่อเกษียณที่อายุ 64 ปี) ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวจะถูกหักออกไปเนื่องจากการใช้สิทธิลาคลอดบุตรและการลาเพื่อดูแลบุตรทำให้แรงงานสตรีต้องทำงานนานกว่าผู้ชายจนกว่าจะสามารถเกษียณอายุ ร่างกฎหมายนี้จึงสร้างผลกระทบและไม่มีความเป็นธรรมต่อกลุ่มแรงงานดังกล่าว

การประท้วงแบบลูกโซ่ของกลุ่มสหภาพแรงงาน จากการรายงานของ Boy, Thompson, and Jourdain (2023, March 28) ที่ระบุว่า ครูโรงเรียนประถมศึกษาประมาณ ร้อยละ 30 มีการระดมกำลังครูในเพื่อนัดหยุดงานเพื่อร่วมการประท้วง ตามการคาดการณ์ของ Snuipp-FSU ซึ่งเป็นสหภาพของกลุ่มครูในโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถม เช่นเดียวกับในภาคการขนส่งมวลชนที่ SNCF[5] และ RATP[6] คาดการณ์ถึงภาวะชะงักงันอย่างรุนแรงของระบบโดยสารสาธารณะและขนส่งมวลชน โดยระบุว่าศักยภาพในการเดินขบวนรถไฟจะลดลงเหลือ 3 ใน 5 ของรถไฟ TGV[7] และ 1 ใน 2 ของรถไฟ TER เช่นเดียวกับการเดินรถประจำทางในเมืองต่างๆ จะถูกรบกวนจากการประท้วง และสำหรับการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลนั้น ร้อยละ 15 ของสถานีบริการน้ำมันอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างน้อย 1 ชนิด โดยสรุปแล้วรูปแบบของการเคลื่อนไหวในการประท้วงครั้งนี้ คือการสร้างอุปสรรคในการเดินทางด้วยยุทธการเปลือกหอยทาก คู่ขนานไปกับการประท้วงด้วยการหยุดงานของสมาชิกสหภาพแรงงานต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งส่งผลให้เกิดความเดือนร้อนและผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ให้เกิดแรงกดดันแก่รัฐบาล ซึ่ง Boy, Thompson, and Jourdain (2023, March 28) ยืนยันว่า Philippe Martinez เลขาธิการสหภาพแรงงาน CGT ได้กล่าวย้ำว่า ในขณะที่ Laurent Berger เลขาธิการสหภาพแรงงานภายใน-CFDT[8]  กล่าวว่าเขากำลังรอการเคลื่อนไหวที่เป็นการส่งส่งสัญญาณจากรัฐบาลที่จะมีมาตรการหลักในการเลื่อนการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป

รูปแบบการประท้วงถูกกฏหมายผิดกฎหมาย
(ไม่มีความรุนแรง)
ผิดกฎหมาย
(มีความรุนแรง)
การชุมนุมและการเดินขบวนประท้วง  
การคว่ำบาตรและการประท้วงหยุดงาน  
ยึดสถานที่สาธารณะ 
ยึดสถานที่เอกชนและการปล้นร้านค้า  
การทำลายวัตถุสถานที่ เช่น การเผา  
การปะทะฝ่ายตรงข้ามหรือเจ้าหน้าที่  
ตาราง 1 รูปแบบการประท้วง

ดัดแปลงจาก : ณพจักร สนธิเณร (2566)

รูปแบบของการประท้วงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทั่วไปสามารถ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ การประท้วงที่ถูกฎหมาย การประท้วงที่ผิดกฎหมายแต่ไม่มีความรุนแรง การประท้วงที่ผิดกฎหมายใช้ความรุนแรง จากตาราง 1 สามารถอธิบายปรากฏารณ์การประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ ได้ว่าผู้ประท้วงในกลุ่มต่างๆ มีรูปแบบตั้งแต่การรวมกลุ่มเพื่อประท้วงและเดินขบวน เช่นเดียวกับ การหยุดงานประท้วง และการยึด (occupy) พื้นที่สาธารณะบางประเภท ซึ่งเป็นรูปแบบการประท้วงที่ถูกกฎหมาย ตลอดจนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการประท้วงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเป็นรูปแบบการประท้วงที่ผิดกฎหมายใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ Associated Press (2023, March 23) ได้อ้างประกาศของ Gérald Darmanin รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยว่าในการประท้วงนี้มีกลุ่มที่นิยมใช้ความรุนแรง (radicals) จำนวนมากว่า 1,500 คน

จากแผนที่ของ Métais (2023, March 23) พบว่ามีกระจายตัวของกลุ่มผู้ประท้วงและขนาด ซึ่งมีการปะทะกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมากที่เมืองปารีส และเมือง Rouen ทางตอนเหนือ เช่นเดียวกับเมือง Marseille และเมือง Bordeaux ทางตอนใต้ และในขณะนี้ที่เงื่อนไขของความขัดแย้งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลยังยืนยันการเดินหน้ากฎหมายปฏิรูประบบบำนาญ และยังประกาศว่ารัฐบาลจะไม่มีวันยอมแพ้ให้กับความรุนแรงที่ใช้โดยผู้ชุมนุม Boy, Thompson, and Jourdain (2023, March 28) ระบุว่า Darmanin ได้ประกาศถึงมาตรการความปลอดภัยที่ไม่เคยมีมาก่อน ในบริบทของความตึงเครียดระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจ โดยจะมีการระดมกำลังตำรวจและทหารจำนวน 13,000 นายทั่วประเทศ และ 5,500 นายในปารีส ด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งก่อการจลาจล ปล้นร้านค้า (looting) และเผาทำลายจาก Bookeette (2023, March 24) ที่ได้เผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงกำลังจุดไฟเผาอาคารศาลากลางในเมือง และ Bordeaux Public Outsider (2023, March 27) ได้เผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงในเมืองปารีสกำลังทุบทำลายร้านอาหาร ห้างค้าปลีก และธนาคาร จะเห็นว่าผู้ประท้วงได้ใช้ความรุนแรงและกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป้าหมายไม่ได้จำกัดเพียงแต่สาถนที่ของหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังรวมถึงสถานที่ของเอกชนด้วย ในกรณีหลังนี้ผู้เขียนคาดว่า หากไม่ใช่ข้ออ้างที่กลุ่มผู้ประท้วงไม่อาจควบคุมความรุนแรงแบบกฎหมู่หรืออนาธิปไตย ผู้ประท้วงอาจจะมีข้ออ้างถึงการกระทำเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านนายทุนและฝ่ายอนุรักษ์นิยมของประธานาธิบดี

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการประท้วง Groyer (2023, March 24) รายงานว่า Dunja Mijatovic กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ของ Council of Europe ยอมรับว่ามีการใช้ความรุนแรงของผู้ประท้วงในการทำร้ายเจ้าหน้าที่และผู้บังคับใช้กฎหมาย  Associated Press (2023, March 23) ระบุว่าเป็นการขว้างปาระเบิดเพลิงหรือยิงพลุและประทัดยักษ์เข้าใส่เจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม Mijatovic ได้ประณามการตอบสนองของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง โดยกล่าวว่าการตอบสนองด้วยความรุนแรงผู้ชุมนุมบางคนโดยเหมารวมว่าเป็นกลุ่มที่นิยมใช้ความรุนแรงนั้นเป็นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้กำลังมากเกินไป ในกรณีนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อกลุ่มที่นิยมความรุนแรงได้กลายเป็นภาพลักษณ์ในการประท้วง ทำให้ในบางกรณีนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงเลือกใช้ความรุนแรง เพื่อการควบคุมเหตุรุนแรงและการจลาจลที่เกิดขึ้น ซึ่ง Corbet and Adamson (2023, March 24) รายงานว่า Darmanin ระบุถึงการตรวจสอบที่กำลังดำเนินการอยู่ ถึงกรณีข้อร้องเรียนจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่

โดยสรุป จากการผลของประท้วงและการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านการผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติในช่วงเวลากว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีความเห็นว่า การประท้วงจะดำเนินต่อไปเช่นเดียวกับความรุนแรงที่อาจเกิดจากทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเงื่อนไขของความขัดแย้งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและรัฐบาลที่ยังนิ่งเฉย จึงคาดว่าสหภาพแรงงานในประเทศฝรั่งเศสจะยังคงอาศัยแรงกดดันจากการประท้วงให้รัฐบาลระงับการผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ ด้วยการถอนญัตติร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ อย่างไรก็ตามจากการประเมินการชุมนุมใหญ่เมือวันที่ 28 มีนาคม 2566 พบว่าจำนวนผู้ชุมนุมประท้วงลดลงโดยสืบเนื่องจากการเอาจริงเอาจังในการปราบปรามผู้ประท้วงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในส่วนของการยื่นอุทธรณ์ไปยังสภารัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศส News Wires. (2023, March 29). รายงานว่า สภารัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศสจะพิจารณาตัดสินข้อกฎหมายดังกล่าว ในวันที่ 14 เมษายน นี้ โดยสภารัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศสจะพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การผ่านร่างกฎหมายการปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติด้วยมาตรา 49 วรรค 3 สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และประเด็นที่สอง มีความจำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลจะต้องจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์สำหรับกฎหมายฉบับนี้หรือไม่

รายการเอกสารอ้างอิง


[1] Charles de Gaulle เป็น รัฐบุรุษที่นำเสรีฝรั่งเศสในการต่อสู้กับนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นประธานรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 – พ.ศ. 2489

[2] Emmanuel Macron ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส

[3] สหภาพแรงงาน CGT (Confédération générale du travail) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้าและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกจำนวน 690,000 คน

[4] หอยทากในที่นี้หมายถึง escargot หอยทากป่าที่นำมาใช้ปรุงอาหารยอดนิยมในฝรั่งเศส เปลือกมีลักษณะคล้ายหอยขมในประเทศไทย

[5] Société Nationale des Chemins de fer Français คือ บริษัททางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส

[6] Régie Autonome des Transports Parisiens คือ เครือข่ายรถประจำทางที่มีความหนาแน่นสูงของฝรั่งเศส

[7] TGV หรือ รถไฟ Train à grande vitesse เป็นบริการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางไกลระหว่างเมืองของฝรั่งเศส

[8] สหภาพแรงงานภายใน Confédération française démocratique du travail เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกจำนวน 875,000 คน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: