Articles

เตรียมตัวเลือกตั้ง 66: ส่องอุดมการณ์พรรคไหน ใครอยู่ซ้ายใครอยู่ขวา ?

ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์
12 เมษายน 2566

คงเป็นที่แน่นอนแล้วว่าการเลือกตั้งระดับชาติเป็นการทั่วไปของประเทศไทยก็คงจะเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เป็นที่แน่นอน แต่สิ่งที่ไม่แน่นอนยังคงเป็นการเลือกฝั่งเลือกฝ่ายกันของพรรคการเมืองที่จะลงสนามในการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเกิดข่าวลือกันอย่างหนาหูมากมาย ว่า พรรคนั้นจะร่วมกับพรรคนี้ หรือมีเงื่อนไขว่าจะร่วม หรือไม่ร่วม หากมีบางพรรคเข้าไปอยู่ในรัฐบาล ปัญหาดังกล่าวนั้นเป็นผลพวงมาจากการเลือกตั้งครั้งก่อน เมื่อปี พ.ศ.2562 จากการที่การเมืองไทยนั้นแบ่งฝ่ายได้อย่างชัดเจนว่า เป็นพรรคที่คิดอย่างไรกับพรรคที่เรียกกันว่าเป็นพรรค “สืบทอดอำนาจ” เพราะเป็นพรรคการเมืองที่ชูแกนนำจากการรัฐประหารปี พ.ศ.2557 เป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดกระแสการแบ่งเป็นสองฝ่ายในชื่อของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” และฝ่าย “สืบทอดอำนาจ” หรือฝ่ายเผด็จการแล้วแต่จะเรียกกัน จากนั้นจึงเป็นเสมือนค่าเริ่มต้นของการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2562 เป็นต้นมา ที่ใคร พรรคใด อยู่กับฝ่ายสืบทอดอำนาจจะถูกเรียกว่า ฝ่ายขวา และฝ่ายประชาธิปไตย จะถูกเรียกว่าฝายซ้าย โดยปริยาย แล้วจริง ๆ แล้ว อุดมการณ์ที่ว่าซ้าย หรือ ขวา มันคืออะไร แล้วพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้ง 66 นี้ จะอยู่ในจุดไหนกันบ้าง ?

ใครคือ “ขวา”

            ซึ่งจุดเริ่มต้นของคำว่าฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาจริง ๆ แล้วนั้น เกิดเมื่อหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1789 ที่ในสภาฐานันดร จะมีการจัดสรรที่นั่งในฝั่งซ้ายกับผู้ที่ต่อต้านระบอบเก่า ระบอบกษัตริย์ และสนับสนุนการปฏิวัติ ส่วนผู้ที่นั่งในฝ่ายขวา คือผู้ที่ยังสนับสนุนระบอบดั้งเดิมของฝรั่งเศสอยู่ จากตรงนี้ หากยึดจากจุดตั้งต้นนี้ จะเห็นได้ว่าบริบทที่เรียกกันว่าฝ่ายซ้าย และขวานั้น อาจไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยในปัจจุบันสักเท่าใด แต่อย่างไรก็ตามคำว่าซ้ายและขวา ก็เป็นผลผลิตของการเมืองร่วมสมัยมายาวนาน ซึ่งหากพูดถึงปัจจุบัน Cas Mudde ผู้ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านประชานิยม ได้เขียนหนังสือชื่อ The Far Right Today (2019) ออกมา ซึ่งเป็นหนังสือที่กล่าวถึงการเมืองของฝ่ายขวาสุดโต่ง โดยการแบ่งเป็นคลื่น 4 ลูกของฝ่ายขวา ซึ่งมีการใช้ทั้งคำว่า Far Right, Extreme Right และ Right-wing populist ที่อาจใช้สลับกันไปแต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน (p.192) Mudde กล่าวว่า พวก Far Right หรือขวาสุดโต่งในปัจจุบันนั้น มีปมประเด็นอยู่ที่การต่อต้านผู้ลี้ภัย และชูเรื่องการรักษาผลประโยชน์ของคนในชาติ เป็นหลัก ทำให้เกิดผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก และพวกฝ่ายขวาดังกล่าวมีเฉดความ “สุดขั้ว” ของการเป็นฝ่ายขวาไว้ กล่าวคือ Extreme Right คือ ขวาในลักษณะที่ไม่สนใจกติกาใด ๆ มุ่งเน้นเป้าหมายเป็นหลัก ไม่ว่าจะใช้กำลัง ความรุนแรง และไม่ได้สนใจว่าวิธีการจะมีความเป็นประชาธิปไตย หรือไม่ ต่อมา Right-wing populist หรือประชานิยมฝ่ายขวา คือ ฝ่ายขวาที่ยังเล่นตามกติกาในระบอบประชาธิปไตย คือยังยึดปฏิบัติตามระบบเลือกตั้ง แต่มีเนื้อหาในการทำการเมือง/หาเสียง  โดยการบอกว่าบ้านเมืองมีวิกฤต มีการใช้อารมณ์ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการได้รับความนิยม มีการแบ่งประชาชนเป็นพวกเราและพวกเขา โดยการสร้างศัตรูทางการเมือง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวผู้นำ ว่าจะเป็นผู้พาประชาชนพ้นวิกฤตได้ แต่ Mudde ยังเห็นว่า เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่มี—และต่อต้าน—ความเป็นเสรีนิยม (p.7-8)

            ขณะเดียวกัน แม้ Mudde จะไม่ได้กล่าวไว้ แต่ฝ่ายซ้ายเอง ก็สามารถจัดเป็น Far Left, Extreme Left และ Left-wing populism ได้เช่นกัน ซึ่งเนื้อหาทางการเมืองของฝ่ายซ้าย อาจเป็นการถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยเป็นการให้คุณค่ากับความเท่าเทียมต่าง ๆ และศักยภาพของประชาชนในการปฏิบัติการทางการเมือง มากกว่าตัว “สถาบัน” หรือ establishment ทางสังคมอื่น ๆ อย่าง ชาติ หรือคุณค่าเชิงประเพณีอื่น ๆ ในเวลาต่อมาระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยม (socialism) ที่มองหาการกระจายความมั่งคั่งใหม่ (re-distribution of wealth) ก็ได้ถูกจัดว่าเป็นซ้าย และกลายมาเป็นแนวหน้าของความเป็นซ้ายในไม่ช้า ดังนั้น จะกล่าวว่า ฝ่ายขวา “โปรชาติ” และฝ่ายซ้าย “โปรประชาชน” ก็คงจะไม่ผิดนัก กล่าวคือ หากมองในแง่นี้ การแบ่งเฉด หรือ spectrum ทางอุดมการณ์ทางการเมืองของ Mudde นั้น สามารถมองเป็นเหมือนกระจกเงา ที่สะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งสองด้านใน เวลาเดียวกัน ข้อสังเกตคือ Mudde ไม่ได้กล่าวถึงฝ่ายซ้ายมากนัก และกล่าวว่าปัญหาของประชานิยมคือ เป็นประชาธิปไตย “แต่ไม่มีความเป็นเสรีนิยม” จึงอาจกล่าวได้ว่า Mudde นั้นมีความเป็นเสรีนิยมอยู่ในตัว ดังนั้น กระจกเงาดังกล่าว จึงมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวของ Mudde และหาก Mudde เป็นเสรีนิยม จุดที่อยู่ระหว่างซ้ายและขวา ก็คือเสรีนิยมนั่นเอง ซึ่งเราอาจมองได้เป็นแผนภาพดังนี้

            หากพิจารณาตามแผนภาพที่ได้ เราจะเห็นว่า การเมืองแบบฝ่ายขวานั้น ไม่เท่ากับอนุรักษนิยม (conservatism) เสมอไป เพราะความคิดในแบบอนุรักษนิยมนั้นเป็นแนวคิดหรืออุดมการณ์ในเชิงเปรียบเทียบ และมีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ความคิดแบบอนุรักษนิยมไม่ได้ยึดยึดติดกับเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่มีสารัตถะหรือแก่นแกน (essence) ในตัวเอง เช่น อนุรักษนิยมในสหรัฐอาจต้องการให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการในประเทศน้อยลง ไม่ต้องการให้เก็บภาษี และไม่ต้องการให้รัฐเข้ามามีส่วนในการจัดสรรทรัพยากร เหมือนในยุคปี ค.ศ.1980 ที่เสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) นั้นมีอิทธิพลมาก แต่กลับกับอนุรักษนิยมในไทย อาจต้องการให้อำนาจรัฐมีมากขึ้นเพื่อให้สามารถใช้อำนาจนั้นจัดการทางการเมืองได้ เหมือนการเมืองในยุคก่อนหน้าปี พ.ศ.2540 จึงเห็นได้ว่า การเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมนั้น ขึ้นอยู่กับบริบททางประวัติศาสตร์ เวลา และสถานที่ รวมถึงบริบททางการเมือง ความรับรู้ของประชาชนอีกด้วย ดังนั้น คำว่า “ขวา” ของ Mudde ซึ่งสื่อไปถึงพวกต่อต้านความแตกต่าง ที่มีเชื้อชาติไม่เหมือนกันและผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็น “ขวา” ในสังคมตะวันตก ที่เห็นว่าคนไม่เท่ากัน และไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างกับบริบทการเมืองไทย  

“ขวา” ในการเมืองไทย ?

            งานศึกษาการเมืองไทย ที่เกี่ยวข้อกับฝ่ายขวานั้น ได้มีการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เอาเข้าจริง ๆ อาจมีมากกว่าการศึกษาฝ่ายซ้ายเสียอีก ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 และหลังจากนั้น เช่น 10 ปัญญาชนสยาม (2557) เลือดสีน้ำเงิน (2561) หรืองานที่เกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดชต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า คำว่าขวา หรืออนุรักษนิยมที่มีอิทธิพลใน discourse หรือความรับรู้ในการเมืองไทย คือ การวนกลับเข้าหาระบอบก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจทางการเมืองแต่เพียงลำพังได้ ซึ่งอาจไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากนัก ส่วนซ้ายไทยก็มักจะหมายถึงฝ่ายตรงข้าม ตั้งแต่คณะราษฎรมาจนถึงขบวนการเสื้อแดง และการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา

            แต่การเมืองไทยร่วมสมัยหลังการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยที่ได้รับคะแนนนิยมการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นหลายครั้ง จนได้รับการขนานนามว่าเป็นประชานิยม (Phongpaichit and Baker 2008) (Hawkins and Selway 2017) และเกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยกำลังจะลงหลักปักฐานทางประชาธิปไตยนั้น ขบวนการฝ่าย “ขวา” ในประเทศไทยจึงเห็นว่าการเมืองในระบบเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนำมาซึ่งความนิยมอย่างมหาศาล จึงอาจพลอยคิดว่า ไม่เพียงแต่การทำการเมืองแบบประชานิยมเท่านั้นที่เป็นภัย แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งนั้น ก็จะเป็นภัยไปด้วย เหตุนี้จึงเป็นที่มาของการเกิดรัฐประหารหลายครั้งในช่วง 2 ทศวรรษหลังจากการมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 อันเป็นเสมือนหมุดหมายของการลงหลักปักฐานประชาธิปไตยในสังคมไทย หรือไม่ ?

            ดังนั้น ด้านฝ่ายที่อยู่ที่ตรงข้ามและ/หรือได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดนี้ จึงถูกจัดว่าเป็นผู้ที่อยู่ในฝ่าย “ซ้าย” ไปโดยปริยาย เนื่องจากมีวาระทางการเมืองที่ต่อต้านฝ่าย “ขวา” ดังกล่าว และเมื่อฝ่ายขวานั้น ใช้อำนาจบังคับ (coercive power) ในการปกครอง จึงถูกมองว่าเป็นฝ่ายอำนาจนิยม (authoritarianism) และเป็นเผด็จการ ฝ่ายตรงข้ามจึงถูกมองว่าเป็นเสรีนิยมไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การอยู่ตรงข้ามกับเผด็จการ ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเสรีนิยมเสมอไป ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น พรรคเพื่อไทย ที่เป็นมรดกทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย และพลังประชาชน จึงถูกมองว่าเป็นฝ่ายเสรีนิยม (หรือฝ่ายประชาธิปไตย ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา) ยังไม่พอ ยังถูกจัดว่าเป็น “ซ้าย” ในความรับรู้ของบางกลุ่มเสียอีก!      

            การเมืองไทย จึงถูกมองว่าเป็นการเมืองรูปแบบที่เป็น dichotomous figure (ตัวแบบที่แบ่งเป็นทางเลือก 2 ขั้ว) โดยเป็นการแบ่งซ้ายขวาออกเป็น เสรีนิยม – อนุรักษนิยมซึ่งเป็นเผด็จการ เท่านั้น และยังเป็นวังวนแบบนี้ โดยไม่สามารถหลุดกรอบความคิดที่เป็นเช่นนี้ได้เลย คำถามที่ต้องถามต่อคือ เพราะอะไร ?

            แม้บทความชิ้นนี้จะยังไม่มีคำตอบ แต่ก็สามารถทำให้เรารู้ได้ว่า อะไรคือกรอบคิดกว้าง ๆ ในการพิจารณาความเป็นซ้ายและขวาในเชิงสากล และเมื่อถูกนำมาใช้ (localised) ในบริบทประเทศไทย มันมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

แล้วซ้าย-ขวา มันควรจะเป็นอย่างไร ?

            ไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างจริงจังว่า ซ้าย-ขวา แท้จริงแล้วควรจะเป็นอย่างไร เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ว่าแค่นิยมของความเป็นซ้ายและขวานั้น ก็ยากที่จะเข้าใจตรงกันแล้ว discourse ที่ครอบงำความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองในแต่ละปริมณฑลในโลกก็ยิ่งแตกต่างกันเข้าไปอีก สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ จึงควรเป็นการเข้าไปจับกรอบคิดที่มีความชัดเจนมากกว่ากรอบคิดที่กว้างมากจนไม่สามารถหาสารัตถะหรือแก่นแกนของมันได้ เช่น อนุรักษนิยม เป็นต้น

            เช่น การพูดว่า “เขาเป็นซ้าย” ก็ยากที่จะบอกได้ว่าเขานั้น เป็น สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ มาร์กซิสต์ หรือเสรีนิยม ซึ่งในบางที่ก็ไม่ได้จัดให้เสรีนิยมนั้นเป็นซ้าย หรือหากบอกว่าเขาเป็นขวา เขาจะเป็นเผด็จการหรือไม่ หรือแค่อนุรักษ์ในระบอบการเมืองการปกครอง หรืออนุรักษ์แค่ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น หรือเขายังนิยมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสามารถตัดสินได้ ว่าเป็นหรือไม่ ทุกอย่างจึงวางอยู่บนฐานของการอภิปรายถกเถียง

            การหาคำตอบของการเป็นซ้ายหรือว่าจึงควรถกเถียงในลักษณะที่ลึกลงไปกว่านั้น คือการมองถึงรายละเอียดของทางเลือกในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการให้อำนาจประชาชน ระบบเศรษฐกิจที่ควรจะเป็น และการวางตัวของรัฐ ว่าจะให้รัฐเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการต่าง ๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองมากเท่าใด ดังนั้น ข้อสรุปข้างต้น คือการใช้เพียงแค่อุดมการณ์ทางการเมืองมาเป็นตัวชี้วัดความเป็นซ้ายและขวา จึงยังไม่เพียงพอ จึงต้องมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องในการพิจารณา จึงจะสามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่า การจัดวางทางเศรษฐกิจนั้นมีผลต่อการจัดวาง (treat) ประชาชนในรัฐอย่างไร ซึ่งหากยังไม่ทราบถึงการจัดวางตำแหน่งของประชาชนทางเศรษฐกิจก็ยากที่จะเข้าใจการจัดวางประชาชนในระบอบประชาธิปไตย โจทย์จึงไม่ใช่แค่มีประชาชนหรือไม่ แต่คือประชาชนนั้น ประกอบอาชีพอะไร และ มีพฤติกรรมทางการเมืองแบบไหน โครงสร้างและระบบเศรษฐกิจมีผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน คือสิ่งที่ต้องเข้าใจในการเมืองซ้าย/ขวา

แล้วใครคือซ้าย-ขวาในสังคมไทย ?

          แน่นอนว่าเบื้องต้น หากมองว่าฝ่ายขวาคือฝ่ายอำนาจเก่า และต้องการทำให้การปกครองนั้นห่างไกลจากการให้อำนาจประชาชนในการจัดสินใจ และมีความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร พรรคพลังประชารัฐ และพรรคที่ร่วมรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งใน พ.ศ.2562 ก็คงจะต้องถูกจัดเป็นฝ่ายขวาทั้งหมด ปัญหาจึงตกมาอยู่ที่ฝ่ายตรงข้าม ดังที่ได้กล่าวไป พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดอย่างเพื่อไทยนั้น จะเป็นซ้ายหรือไม่ แน่นอนว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น ยังเน้นไปที่นโยบายปากท้อง หรือเศรษฐกิจ และเน้นการแจก ให้เงินในกระเป๋าของประชาชนนั้นมีมากขึ้น เช่นนโยบายแจกคนละหมื่นเข้า e-wallet เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น โดยไม่ได้แตะโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากนัก จึงอาจคล้ายทฤษฎีเคนเชี่ยน (Keynesian) ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เคยประสบความสำเร็จ ซึ่งก็ประกอบกับการสร้างสวัสดิการทางสังคมควบคู่กันไปด้วย แต่ไม่ถึงขั้นการเป็นรัฐสวัสดิการ (welfare state) พรรคเพื่อไทยจึงกล่าวว่าเป็นพรรคทุนนิยม ที่มีเป้าหมายจะทำให้ประชาชนรวยขึ้น ไม่ได้เน้นแต่ให้รัฐอุ้มด้วยสวัสดิการอย่างเดียว ซึ่งก็ชัดเจนว่าพรรคไม่ได้เน้นภาพด้านการเมืองให้มีความเสรีมากขึ้น แต่เน้นให้ประชาชนสามารถมีเงินในกระเป๋าใช้จ่ายได้ พร้อมทั้งยังบอกว่าไม่ได้เป็นประชานิยม แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ พรรคเพื่อไทยจึงอาจจัดอยู่ในกลุ่มขวากลาง ที่ค่อนไปในด้านประชานิยม แต่ไม่ได้สุดโต่ง และสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแต่มิได้เน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง และพอใจในกติกาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

            ด้านพรรคก้าวไกลที่เคยเผยตัวในช่วงเป็นพรรคอนาคตใหม่ว่าเป็นประชานิยมฝ่ายซ้ายนั้น ได้มีการชูนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และโครงสร้างพรรคมี “ปีกแรงงาน” โดยการชูแรงงานที่หมายถึงคนงานในนิคมอุตสาหกรรม มากกว่าจะเป็น wage-earner หรือผู้ที่ได้รับค่าจ้างแลกกับการทำงาน ความหมายของ “แรงงาน” ที่พรรคกำลังจะสื่อสารจึงหมายความเพียงแต่ภาพแรงงานที่ใช้แรงทางกายภาพในการทำงานเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความถึงลักษณะการจ้างงานโดยภาพรวม จึงได้มีการแยกนโยบายของพรรคตามสาขาอาชีพ แทนการแบ่งตามลักษณะการจ้างงาน นอกจากนี้ยังมีนโยบายหวย SMEs ที่เจาะจงสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมีสัดส่วนในประเทศไทยอยู่มาก ซึ่งก็ไม่ได้มีนัยของการปรุบเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจในภาพรวม เพียงแต่เสนอว่ารัฐสวัสดิการนั้นจะสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาวมากกว่า นอกจากนี้ยังมีนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร แก้รัฐธรรมนูญ และการพยายามที่จะใช้กฎหมายในการป้องกันรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

            เมื่อเราส่องนโยบายของสองพรรคข้างต้น เราจะเห็นว่า ในฟากฝั่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” นั้น พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยยังคงอยู่ในเฉดขวา ซึ่งอาจจะเป็นขวากลาง เพราะไม่ได้เน้นความเข้มข้นของการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากนัก แต่พรรคก้าวไกลนั้น เน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและใช้รัฐสวัสดิการในการหาเสียงเรื่องเศรษฐกิจ ประกอบกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ทำให้เห็นว่านโยบายของก้าวไกลนั้นเป็นนโยบายที่ “สุดโต่ง” สำหรับสังคมไทยในแง่ของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ แต่ยังคงเล่นตามกติกาที่การเมืองนั้นกำหนดไว้ให้ และพยายามสู้เพื่อให้ได้คะแนเสียงให้ได้มากที่สุด ทำให้พรรคก้าวไกลนั้นเป็นพรรคที่น่าจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประชานิยมฝ่ายซ้าย และหากมองในแง่นี้ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเน้นนโยบายในเรื่องปากท้อง และการให้เงินประชาชนใช้จ่าย โดยไม่ได้ให้ความสำคัญในแง่ของการปฏิรูปในเชิงการเมือง ก็อาจเป็นประชานิยมเช่นกันแต่มิได้สุดโต่งจึงเป็นขวากลางในแง่นี้

            ซึ่งสิ่งที่อาจฟังดูตลกคือพรรคพลังประชารัฐนั้น มีแนวนโยบายและการเล่นการเมืองที่คล้ายกับพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีทั้งการใช้นโยบายที่เอาใจเกษตรกรรมและยังมีการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นับว่าก็เป็นการแจกแหลกให้กับประชาชนเช่นกัน ดังนั้นถ้ามองในแง่นี้ แบบไม่นำอคติที่มองว่าแกนนำพรรคพลังประชารัฐนั้นมาจากฝ่าย “สืบทอดอำนาจ” อย่างที่พูดกันมามองแล้ว พรรคพลังประชารัฐก็จัดอยู่ในหมวดหมู่ของขวากลางเช่นกัน เนื่องจากไม่ได้มีนัยยะของการสร้างศัตรู ไม่ได้เน้นว่าต้องกำจัดใคร และที่สำคัญคือ มีสโลแกนว่า “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของขวากลาง คือการประนีประนอม ต่างกับพรรคไทยภักดี และรวมไทยสร้างชาติ ที่มีนโยบายและการหาเสียงที่ค่อนข้างสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างศัตรูทางการเมือง และการไล่คนเห็นต่างออกนอกประเทศไป แสดงให้เห็นว่าจะดับความเข้มข้นของอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคนั้นมีมาก แต่อย่างไรก็ดี ทั้งสองพรรคที่ได้กล่าวไปนั้นก็ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งตามกติกาและกฎหมาย จึงอาจเป็นฝ่ายขวาสุดโต่งที่อาจะเรียกว่า Far Right ของเมืองไทย แต่ก็ยังยอมรับในกติกาประชาธิปไตย

            จะพูกถึงภูมิใจไทย ก็คงจะเป็น “ประชานิยมสายเขียว” ในการเลือกตั้งครั้งก่อน เนื่องจากมีนโยบายเสรีกัญชาแบบสุด ๆ สามารถใช้กันได้ เปิดร้านได้ แบบเสรี ทำให้ประชาชนที่ต้องการการนโยบายนี้ได้รับการตอบสนองอย่างมาก แม้จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นจำนวนมากถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก็ตาม เพราะ ประชานิยมนั้นไม่ได้เป็นการเมืองที่หวังผลเพียงการชนะเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างแนวหน้าทางการเมืองขึ้นมาและมีผู้สนับสนุนที่มีความต้องการเหมือนกัน นอกเหนือจากกัญชา นโยบายทางเศรษฐกิจของภูมิใจไทยนั้น ก็ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับพรรคขวากลางอื่น ๆ จึงเป็นพรรคขวากลางที่ค่อนไปในทางประชานิยมขวาเช่นเดียวกับเพื่อไทย กล่าวคือ ไม่ได้ประชานิยมในด้านการเมืองแต่เป็นประชานิยมเฉพาะประเด็นของนโยบายไป

            สุดท้ายคงต้องพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีอายุยืนยาวมากในการเมืองไทย พรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เน้นนโยบายสุดโต่ง เพียงแต่เน้นเดินทางสายกลาง ดังนั้นความเข้มข้นของนโยบายทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้มากเท่ากับนโยบายทางการเมือง เช่น การชูความซื่อสัตย์ หรือประชาธิปไตยสุจริต ต่าง ๆ ดังนั้น ในแง่ที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้มีความต้องการในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และมีความคิดค่อนไปในทางอนุรักษนิยม จึงอาจจัดได้ว่าเป็นขวากลางเช่นเดียวกัน

            ดังนั้น จากการพิจารณาข้างต้น เราจะพบว่า พรรคการเมืองที่ค่อนไปทางซ้ายในภาพการเมืองในปัจจุบันนี้คือพรรคก้าวไกล และพรรคการเมืองที่เหลือนั้นจะอยู่ในเฉดขวาทั้งสิ้น อาจจะขวามาก ขวาน้อย ก็ว่ากันไปตามเส้น spectrum ที่เราจัดวางกันไว้ แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในการเมืองไทยคือ ฝ่ายเสรีนิยมนั้นมีอยู่หรือไม่ หากมีอยู่ แล้วพรรคการเมืองใดที่เป็นตัวแทนเสียง (representatives) ของกลุ่มอุดมการณ์เสรีนิยมในประเทศไทย ? สิ่งที่ควรจะถามต่อไปคือที่เราชอบเรียกกว่าเสรีนิยมเป็นซ้ายนั้น จริงหรือไม่ ? ถ้าไม่ใช่แล้ว เสรีนิยมคืออุดมการณ์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างซ้ายและขวาหรือ ? แต่ถ้าเสรีนิยมอยู่ตรงกลางแล้ว ก็จะเป็นอุดมการณ์ที่ไม่มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างทางสังคมหรือไม่ เพราะเสรีนิยมนั้นเน้นหนักไปที่ความเข้มข้นของเสรีภาพในเชิงปัจเจกบุคคล ซึ่งดูเหมือนจะขาดไปอย่างมากในการเมืองไทย

อ้างอิง

Hawkins, K., Selway, J. (2017). Thaksin the Populist?. Chin. Polit. Sci. Rev. 2, 372–394. https://doi.org/10.1007/s41111-017-0073-z

Mudde Cas. 2019. The Far Right Today. Cambridge UK: Polity.

Phongpaichit, P., Baker., C. (2008). Thaksin’s populism. Journal of Contemporary Asia, 38:1, 62-83, DOI: 10.1080/00472330701651960

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: