ภายใต้โครงการวิจัย ‘รางวัลพานแว่นฟ้า พ.ศ. 2559 – 2564: แนวคิดทางสังคมและการปลูกฝังอุดมการณ์ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยผ่านเรื่องสั้นร่วมสมัย’ โดยรองศาสตราจารย์ดร.ขวัญชนก นัยจรัญ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญณ์ณภัทร เจริญพานิช
ขวัญข้าว คงเดชา และ
ธีทัต จันทราพิชิต
26 เมษายน 2566

ภายใต้หลักการของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม นอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ยังมุ่งเน้นไปยังการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเคารพความคิดเห็นของประชาชน ฉะนั้นการส่งเสริมภาคประชาสังคม เสริมให้เกิดการตื่นตัวในฐานะของพลเมืองตื่นรู้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการสร้างค่านิยมของ พลเมืองอภิวัฒน์ หรือพลเมืองที่มีทั้งความตื่นรู้และตื่นตัวตามหลักทางสากล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าที่ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ต่อประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม
ฉะนั้นแล้ว โครงการวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญชนก นัยจรัญ และผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.ธัญณ์ณภัทร เจริญพานิช จึงได้ทำการศึกษาถึงกรณีของวรรณกรรมจากรางวัลพานแว่นฟ้า โดยอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองอภิวัฒน์กับประชาธิปไตย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน
ในเบื้องต้น รางวัลพานแว่นฟ้า คือ รางวัลที่มอบให้แก่ผู้ชนะการประกวดวรรณกรรม เรื่องสั้น และบทกวี โดยรัฐสภา มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย โดยทุกปีจะมีนักเขียนจำนวนมากเข้าร่วม ทั้งที่เป็นมืออาชีพ และมือสมัครเล่น ตัวอย่างสารของวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า ได้แก่ การส่งเสริมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การชี้ถึงปัญหาทางการเมือง เช่น การเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม การที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย และการสนับสนุนนิติรัฐ (Rule of law) รัฐไม่ควรละเมิดสิทธิของประชาชน
จากการศึกษารางวัลพานแว่นฟ้าในงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า นัยยะที่ต้องการจะสะท้อนแก่สังคม ประกอบไปด้วย 1. การชี้ให้เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน 2. เสนอแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย และ
3. ส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
และเมื่อพิจารณารางวัลพานแว่นฟ้าและบริบททางการเมืองของประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป้น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2545-2556) ช่วงระยะของการรัฐประหาร ซึ่งทำให้กระบวนการพิจารณาตัดสินนั้นมีความเป็นการเมือง อันเนื่องจากการแทรงแซงผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และระยะที่ 2 หลังการรัฐประหาร (พ.ศ. 2559-2564) เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นการสืบสายธารวรรณกรรมการเมืองร่วมสมัย โดยมีองค์ประกอบจาก 2 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ กลุ่มการผลิตสร้าง (Production) และกลุ่มการรับวรรณกรรม (Reception)
ทางผู้เขียนได้สรุปไว้ว่า
“การจัดประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าจึงเป็นคุณูปการต่อปรากฏการณ์ของวรรณกรรมการเมืองที่แสดงให้เห็นว่าการเมืองอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน และส่งผลกระทบต่อผู้คนทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
โดยหนึ่งในปัญหาสำหรับโครงการรางวัลพานแว่นฟ้า คือผู้อ่านยังเป็นเฉพาะกลุ่ม และยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านอย่างแพร่หลาย ฉะนั้นจะได้ยกข้อเสนอแนะสำหรับการส่งเสริมวรรณกรรมเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ประกอบไปด้วย
1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรหาช่องทางเผยแพร่ให้กว้างมากยิ่งขึ้น อาทิ เพิ่มจำนวนพิมพ์หรือเพิ่มช่องทางเผยแพร่
2. ควรมีการรวมเรื่องสั้นวรรณกรรมการเมืองตามวาระและโอกาสมากยิ่งขึ้น เช่น รวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งในช่วงการเลือกตั้ง
3. บูรณาการสื่อมากยิ่งขึ้น เช่น สร้างภาพยนตร์ ทำหนังสือเสียง ไปจนถึงสื่อดิจิทัลอื่นๆ
4. จัดโครงการสำหรับขยายจำนวนนักอ่าน เช่น จัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับวรรณกรรมพานแว่นฟ้า จัดโครงการประกวดวิจารณ์วรรณกรรมการเมือง
5. นำวรรณกรรมการเมือง เข้าเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในหลักสูตรการศึกษาภาคพื้นฐาน