ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์
5 พฤษภาคม 2566

อีกไม่กี่วันก็จะถึงการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 แล้ว เมื่อเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนั้น ทุกพรรคการเมืองและผู้สมัครรวมถึงแคนดิเดตนายกฯ แต่ละคนก็ต้องงัดไม้เด็ดที่สุดออกมาใช้ เพื่อกอบโกยคะแนนให้ได้มากที่สุด ว่ากันว่าการโกยคะแนนในช่วงโค้งสุดท้ายนั้น จะเป็นอะไรที่ไม่เกี่ยงวิธีการ หรืออุดมการณ์ใด ๆ แบบที่เราเคยพูดกันไปสักเท่าใด[2] แต่จะเป็นการโจมตีคู่ต่อสู้ เพื่อลดคะแนนของคู่ต่อสู้ มากกว่าจะเป็นการหาเสียงเพื่อเพิ่มคะแนนให้กับตนเอง เหมือนกับในภาพยนตร์ล้อเลียนการเมืองอเมริกัน Irresistible (2020) ที่กำกับโดย Jon Stewart นำแสดงโดย Steve Carell ที่ฉากท้าย ๆ Steve ที่แสดงเป็นผู้ทำแคมเปญการหาเสียงให้กับนักการเมืองท้องถิ่นได้กล่าวกับลูกผู้สมัครว่า “การเลือกตั้งมันคือคณิตศาสตร์ ถ้าผมทำให้คนมาเลือกพ่อคุณมากขึ้นไม่ได้ ผมก็จะต้องทำให้คนไปเลือกเขา [คู่ต่อสู้] ให้น้อยลง” ซึ่งสิ่งที่เขาทำคือการเปิดเผยเรื่องฉาวเกี่ยวกับน้องชายของตัวผู้สมัครว่าเคยติดคุก เพื่อให้ความนิยมของตัวผู้สมัครนั้นลดลง กลายเป็น deal-breaker ในการที่จะไม่เลือกผู้สมัครสักคนหนึ่งและแม้ว่าตอนจบจะเป็นการกล่าวถึงข้อจำกัดของการเมืองแบบการเลือกตั้ง (electoral politics) โดยการใช้ฉันทามติของชุมชนเอง แต่ในความเป็นจริงมักจะไม่ใช่อย่างนั้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งในประเทศไทย ที่การเมืองแบบการเลือกตั้งนั้นยังเป็นพื้นฐานของการขึ้นสู่อำนาจของนักการเมือง ดังนั้นการหา deal-breaker ของการเลือกพรรคการเมืองอื่น ๆ ยังคงต้องดำเนินการไปอย่างเข้มข้น
ในช่วงการหาเสียงในโค้งสุดท้าย จึงเป็นการเปลี่ยนใจผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่มักจะเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ (swing voters) หรือผู้ที่ไม่ได้ยึดติดเป็นแฟนเดนตายของพรรคการเมืองใด เสียงของ voter เหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อพรรคการเมืองเป็นอย่างมาก เพราะ สามารถที่จะดึงมาให้เลือกพรรคของตนได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน ก็ทำให้ไม่เลือกพรรคตรงข้ามได้เช่นกัน ซึ่งระดับของการเป็น swing voters นั้นก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่ swing มาก เปลี่ยนใจง่าย เพราะไม่ได้ยึดติดกับอะไรเลย ไปสู่ระดับที่ยังมีในใจ แต่ก็เปลี่ยนใจได้ ไปจนถึงระดับที่เป็นแฟนเดนตาย ยังไงก็จะเลือกพรรคนี้ ดังนั้น การทำงานของการโน้มน้าวด้วยการหาเสียงแบบ deal-breaker จึงต้องหากลุ่มเป้าหมายที่ยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนใจได้อยู่ เพียงแต่จะต้องหาประเด็นที่เป็นเรื่องที่จะทำให้ voter นั้นคิดว่าเป็นเสมือน “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่จะทำให้ตัดสินใจไม่เลือกพรรคการเมืองนั้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราจะเรียกว่าเป็น deal-breaker ในการเลือกตั้งได้
สอดคล้องกับสิ่งที่ Ernesto Laclau ได้เสนอไว้ใน Populism: What’s in a Name? และ On Populist Reason (Laclau 2005; 2018) ว่าการสภาวะการเป็นประชานิยมที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยนั้น (Laclau 2018, 125–28) จะต้องประกอบด้วยการแบ่งแนวหน้า (political frontier) ของประชาชนออกเป็นสองกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นจะมียุทธศาสตร์ในการสร้างความนิยมโดยการรวบรวมความต้องการของประชาชนที่แตกต่างหลากหลาย ผ่านการร้อยเรียงโดยห่วงโซ่แห่งความเท่าเทียม (chain of equivalence) ซึ่งโดยห่วงโซ่นี้จะเป็นการรวบรวมความต้องการที่หลากหลายของประชาชนมาไว้ด้วยกัน ผ่านตัวแทน ซึ่งในแง่ของการเมืองแบบการเลือกตั้งอาจเป็นพรรคการเมืองที่สามารถเข้าไปอำนาจในสภาได้ ซึ่งการเป็นตัวแทนนั้น ผู้ที่เป็นตัวแทนจะต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนออกมาให้ได้ทั้งหมด จึงต้องทำให้ตนเองนั้นว่างเปล่า เพื่อจะทำให้สามารถแสดงความต้องการของประชาชนได้โดยไม่เอาความต้องการส่วนตนเข้าไปแทรก สัญญะหรือความหมายของความต้องการที่เป็นองค์รวมของประชาชนในแนวหน้าหนึ่ง ๆ จึงถูกเรียกว่า สัญญะว่างเปล่า (empty signifier) (Butler, Laclau, and Zizek 2011, 303–4; Laclau 2018, 71–130) เนื่องจากทุกความต้องการของประชาชนนั้นมีความเท่าเทียมกันทั้งหมด
อย่างไรก็ดี สภาวะที่ว่างเปล่านั้น ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นอุดมคติ เนื่องจากจะมีความต้องการบางอย่างที่ปรากฏชัดเจนกว่าอย่างอื่น นี่จึงเป็นสภาวะที่ทำให้ห่วงโซ่แห่งความเท่าเทียมนั้นไม่ได้ตั้งมั่นอยู่บนความเท่ากันของความต้องการของประชาชน ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นการเปิดโอกาสให้แนวหน้าทางการเมืองอื่น ที่ใช้วิธีการในการสร้างความนิยมโดยการหาเสียงกับความต้องการของประชาชนเหมือนกัน ได้เสนอและอุปทานนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชนในอีกกลุ่มหนึ่ง โดยเป็นการดึงให้ความต้องการของประชาชนนอกกลุ่มนั้น เข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ของกลุ่มของตน Laclau ได้เรียกความหมายลักษณะนี้ว่าเป็น “สัญญะล่องลอย” (floating signifier) (Laclau 2018, 131–53) ซึ่งเป็นความต้องการที่สื่อความหมายออกไปด้านนอกกลุ่ม และทำให้ประชาชนที่ต้องการความหมายนั้นสามารถข้ามมาอยู่กลุ่มได้ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นขโมย หรือ hijack เสียงของประชาชนจากอีกฝากฝั่ง หรือจะเป็นประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจ ก็ว่าได้ ซึ่งการทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพรรคการเมืองที่อาจไม่ได้เป็นที่นิยมของตน แต่สามารถเป็นตัวแทนเสียง (represent) ความต้องการของตนได้ดีกว่า นั้นสามารถทำให้ประชาชนนั้นเปลี่ยนใจไปลงคะแนนเสียงให้กับอีกพรรคหนึ่งก็เป็นไปได้ และนักการเมืองก็คงคิดว่ามีความเป็นไปได้อย่างมาก จึงพยายามใช้แคมเปญหาเสียงในลักษณะนี้ในช่วงโค้งสุดท้าย
การใช้ยุทธศาสตร์ “สัญญะล่องลอย” ในลักษณะนี้เพื่อมาเป็น deal-breaker ในการที่จะตัดสินใจเลือก หรือไม่เลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือให้เลือกพรรคตนเองที่สื่อสารว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพรรคเการเมืองนั้น ๆ พบได้ในการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายนี้บ่อยครั้ง ซึ่งมีทั้งเหตุการณ์/ประเด็นเดียวกัน และคนละประเด็น เช่น การหาเสียงว่าจะไม่เอากัญชาเสรี เป็นต้น
การที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ใช้การรณรงค์คล้ายหาเสียง แต่ไม่ได้หาเสียงให้เลือก แต่หาเสียงเพื่อไม่ให้เลือกพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากมีนโยบายกัญชาเสรี ทำให้นโยบายกัญชาเสรีเอง กลายเป็นประเด็น “ยื่นคำขาด” (ultimatum) ของพรรคการเมืองหลายพรรคใหญ่ ที่ต้องออกมาแสดงจุดยืนว่า เอานโยบายกัญชาเสรีหรือไม่ ทำให้พรรคตัวเต็งที่จะจัดตั้งรัฐบาลอย่าง เพื่อไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ จะต้องออกมารีบชี้แจงว่าพรรคของตนมีจุดยืนอย่างไรกับกัญชาเสรี กัญชาเสรีจึงไม่ใช่นโยบายที่ไร้สาระและมีความเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป เพราะกลายเป็น deal-breaker ในการที่ประชาชนเลือกมาจะเลือกพรรคนี้หรือไม่หากมีนโยบายนี้อยู่ในพรรค การบอกว่า “พรรคเราไม่เอากัญชา” จึงอาจไม่ใช่การหาเสียงที่ดีเท่ากับ “พรรคนู้นเอากัญชา” ในช่วงเวลาโค้งสุดท้ายก็ได้
เช่นเดียวกับการ “เอาลุง” และ “ไม่เอาลุง” หรือ “เอาลุงเดียว ไม่เอา 2 ลุง” หรือ “ไม่เอาทั้ง 2 ลุง” ซึ่งในพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยนั้น ก็มีจุดยืนที่แตกต่างกันไป ซึ่งบางพรรคอาจยื่นคำขาดว่า “มีลุงไม่มีเรา” ซึ่งชัดเจนว่าพรรคตนนั้นไม่เอาทั้ง 2 ลุง และจะไม่ร่วมรัฐบาลหากมีลุงคนใดคนหนึ่งอยู่ในรัฐบาล ซึ่งบางพรรคบอกว่า “ รอดูผลการเลือกตั้ง” บ้างก็บอก “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” บ้างก็ยังไม่ชัดเจน บ้างก็บอกร่วมได้กับหนึ่งลุง แต่กับอีกลุงไม่ร่วม เป็นต้น ดังนั้น การหาเสียงว่า “ไม่เอาลุง” ก็คงจะไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการใช้ยุทธศาสตร์สัญญะล่องลอยที่ว่า “พรรคนั้นมันร่วมกับลุงแน่นอน” เป็นต้น เพราะการ “เอาลุง” ก็ถือเป็น deal-breaker อย่างหนึ่งที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้
หรือล่าสุด คลิปหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงในสังคม เช่น ประเด็นบำนาญของข้าราชการเกษียณ การกินข้าวร่วมกันบนโต๊ะอาหารของครอบครัว ความนิยมในการทำ content ทางเพศเพื่อหาเงิน การเสื่อมความนิยมในพุทธศาสนา โดยการบอกว่านี่คือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป แล้วคุณอยากจะให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นคนกลาง ๆ ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่ลึก ๆ แล้วก็ยังมีค่านิยมในความเป็นไทยในลักษณะที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อเรื่องดังกล่าว สิ่งเหล่านี้คือสัญญะล่องลอยที่อาจทำให้ voter เหล่านี้ไปเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งคลิปนี้เป็นการแสดงถึงการต่อต้านเสรีนิยมในประเทศไทยอย่างชัดเจน และยิงตรงไปที่กลุ่มเป้าหมายที่ถูกคุกคามโดยเสรีนิยมและเสรีนิยมใหม่ เช่น ข้าราชการบำนาญ พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่ต้องการให้ลูกมี porno-footprint หรือผู้ที่นิยมให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ฯลฯ ซึ่งไม่แน่ว่าคนเหล่านี้อาจเป็นผู้ที่มีความต้องการเหล่านี้อยู่แต่ไม่รู้ตัว ซึ่งคลิปนี้ เป็นการเข้ามาโดนจิตโดนใจของ voter กลุ่มนี้ ทำให้ความต้องการของเขานั้นถูกเติมเต็มและได้รับการอุปทานโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งในคลิปไม่ได้กล่าวหาว่า “ใคร” หรือ “พรรคการเมืองใด” เป็นผู้ที่จำทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่แน่นอนว่าด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้ สัญญะของคลิปนี้ก็เป็นการสื่อได้โดยนัยว่า “หากไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่าเลือกพรรคxxx” เป็นต้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในเมื่อการเลือกตั้งยังไม่เกิด ก็ยังไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาลกับใคร ตัวเลขที่แน่ชัดก็ยังไม่มี การใช้ยุทธศาสตร์สัญญะล่องลอยนี้ ก็อาจเป็นเพียงการ “เขียนเสือให้วัวกลัว” โดยเป็นการ “ทำให้คนไปเลือกพรรคฝ่ายตรงข้ามลดลง” เพื่อหวังว่า การส่งสัญญะ หรือความหมายในแคมเปญเลือกตั้งออกไป แล้วจะเป็นการสร้าง deal-breaker กับพรรคการเมืองอื่น ดังนั้น การเลือกตั้งในการเมืองแบบการเลือกตั้ง จึงหนีไม่พ้นเกมคณิตศาสตร์ ที่ยังมีข้อจำกัดและเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม วันที่ 14 พ.ค. นี้ เตรียมตัวให้พร้อม จำเลขผู้สมัคร เขต และบัญชีรายชื่อในเขตของตัวเองให้ดี เพราะอาจทำให้เลือกผิด จะไม่ได้มีทั้งสัญญะและ deal ใด ๆ ทั้งสิ้น!

อ้างอิง
Butler, Judith, Ernesto Laclau, and Slavoj Zizek. 2011. Contingency, Hegemony, Universality: Contemporary Dialogues on the Left. Second Edition. Verso.
Laclau, Ernesto. 2005. “Populism: What’s in a Name?” In Populism and the Mirror of Democracy, edited by Francisco Panizza. London ; New York: Verso.
———. 2018. On Populist Reason. Reprint edition. London ; New York: Verso.
อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง และ ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์ (2566) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์การประยุกต์ใช้อุดมการณ์ประชานิยมฝ่ายซ้ายในพรรคการเมือง กรณีศึกษาในประเทศสเปน กรีซ และไทย, กรุงเทพ: สถาบันพระปกเกล้า, 21. https://www.kpi-lib.com/flippdf/kpiebook66004/kpiebook66004.html
[1] เป็นคำแปลที่ อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง ใช้อธิบายถึง “ตัวหมายล่องลอย” หมายถึงรูปสัญญะที่เปลี่ยนความหมายของจนไปได้เรื่อย ๆ ดู อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง และ ภูริภัทร์ เครือนพรัตน์ (2566) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์การประยุกต์ใช้อุดมการณ์ประชานิยมฝ่ายซ้ายในพรรคการเมือง กรณีศึกษาในประเทศสเปน กรีซ และไทย, กรุงเทพ: สถาบันพระปกเกล้า, 21. https://www.kpi-lib.com/flippdf/kpiebook66004/kpiebook66004.html
[2] สามารถอ่านบทความเรื่องอุดมการณ์ชองพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ที่ https://democracyxinnovation.com/2023/04/12/left-right-election66/