ได้รับทุนสนับสนันจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
มุ่งเน้นศึกษากระบวนการสำคัญในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในมาตรา 18 (10) และ (13) ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและกระบวนการตอบสนองข้อคิดเห็นที่ได้มาตรฐาน การวิเคราะห์ ทบทวน และสร้างสรรค์แนวทางการขยายการสื่อสารการรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือที่หลากหลาย มีความครอบคลุม และเข้าถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายได้อย่างตรงจุด และรวมถึงการรับฟังความคิดเห็นผ่านกระบวนการระบบออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อที่จะนำไปสู่การเสริมพลังภาคพลเมืองและการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย เพื่อบทเรียนและแนวทางการรับฟังความคิดเห็นของในรูปแบบของการศึกษาวิจัยที่รวบรวมรูปแบบ กลไก ในการรับฟังความคิดเห็นที่จากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1) เพื่อถอดบทเรียนการรับฟังความคิดเห็นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้สำหรับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความสำเร็จ พัฒนาการ และผลงานที่ผ่านมาในรอบ 16 ปีให้กับสาธารณชน องค์กรทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2) เพื่อสังเคราะห์และนำเสนอการเปรียบเทียบแนวทางการรับฟังความคิดเห็นในบริบทของประเทศไทยและบริบทของต่างประเทศอย่างน้อย 3 ประเทศ
3) เพื่อพัฒนาต้นแบบการสร้างการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพในระดับเขต ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและกระบวนการตอบสนองข้อคิดเห็นที่ได้มาตรฐาน
4) เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ สปสช. ส่วนกลางและเขต ให้เรียนรู้การกำหนดประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นชัดเจน มีข้อมูลเชิงวิชาการสนับสนุน การจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการจัดทำประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายในระบบหลักประกันสุขภาพที่จะส่งมอบให้ผู้กำหนดนโยบายแต่ละระดับนำไปวางแผนและขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริงในพื้นที่