Articles In Their View

In Their Views: บทสัมภาษณ์อนุทิน ชาญวีรกูล ว่าด้วยมุมมองเกี่ยวกับการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะในฐานะหัวใจติดปีก

คณะผู้วิจัย
ภายใต้โครงการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ
การบริจาคและการปลูกถ่ายอวัยวะและเนื้อเยื่อ พ.ศ…..
วันที่ 18 มกราคม 2567

ปัจจุบันด้วยความสำเร็จในการปลูกถ่ายอวัยวะทำให้จำนวนผู้ได้รับการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีผู้มีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทว่าประเทศไทยกลับยังไม่มีกฎหมายที่มาคอยกำกับดูแลการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ด้วยเหตุนี้ ทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย จึงได้ทำการร่างกฎหมายระดับ พรบ. เพื่อที่จะใช้ในการกำกับดูแลการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ โดยได้ร่วมมือกับสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ในการดำเนินการสำหรับการรับฟังความคิดเห็นเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการตรากฎหมาย ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77

ในการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบฯ ดังกล่าว สำนักนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาที่มีองค์ความรู้หรือมีความเกี่ยวข้องกับการบริจาคและการปลูกถ่ายอวัยวะและเนื้อเยื่อ หนึ่งในนั้นคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีบทบาทที่แตกต่างจากผู้ให้สัมภาษณ์คนอื่น ๆ ในฐานะอาสาสมัครที่มีบทบาทในการขนส่งอวัยวะและบุคลากรด้วยเครื่องบิน หรือที่มีการเรียกภารกิจนี้ว่า “หัวใจติดปีก”

    ทางสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยจึงขอชวนผู้อ่าน อ่านความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะในมุมความเป็นอาสาสมัครของนายอนุทิน ชาญวีรกูล

ท่านคิดอย่างไรกับการบริจาคอวัยวะ อะไรคือ ปัญหาหรืออุปสรรคที่ท่านพบเห็นจากการเป็นอาสาสมัคร “หัวใจติดปีก”

ถามผม คำตอบก็จะไม่ค่อยเป็นกลางเท่าไหร่ ผมได้รับการศึกษาและเติบโตในประเทศตะวันตก ผมมองว่าการแสดงเจตจำนงที่จะบริจาคอวัยวะหรือร่างกายให้เป็นสาธารณกุศลให้เกิดประโยชน์ในตอนที่เราไม่มีชีวิตแล้ว พวกนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีความเชื่อในเรื่องศาสนาหรืออะไรเท่าไหร่ ผมไม่ได้มีปัญหากับการบริจาคอวัยวะเลย แล้วผมก็คิดว่าส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่ก็คงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

สมัยผมอยู่ในรัฐบาลที่แล้ว ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เคยได้ลองเลียงๆ เคียงๆ ถาม ท่านนักกฎหมายอาวุโสที่มีบทบาทในรัฐบาลอยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมไม่ทราบเป็นเรื่องของความแตกต่างเรื่องช่วงวัยหรือเปล่า ผมก็รู้สึกว่าคนอีกรุ่นหนึ่งก็จะคิดต่างกันไป

ท่านก็พูดกับผมว่าออกเป็นกฎหมายอาจจะไปกระทบกระเทือนสิทธิมนุษยชน หรือไปมีผลทางด้านความเชื่อตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ท่านก็บอกให้ปล่อยเป็นเรื่องของจิตอาสา เป็นเรื่องของการบริจาคตามเจตจำนงตามความประสงค์ของผู้พร้อมจะบริจาคดีกว่า

คือ ความเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขก็อยากทำให้ออกเป็นกฎหมายว่าร่างกายของเราทุกคนถ้ามีความจำเป็นก็ต้องบริจาคได้ แต่ผมฟังความเห็นท่านผมก็ไม่กล้าที่จะเคลื่อนไหวต่อ เพราะผมคิดว่าคงยาก


อุปสรรคในตอนนี้สำหรับการจะบริจาคจนไปถึงการร่างกฎหมาย มีความเชื่อที่แตกต่างกันสองฝ่าย ที่เกิดจากความต่างของช่วงวัยอยู่?

ใช่ แล้วก็ก้าวล่วงไม่ได้เพราะว่าการเติบโตมาก็ต่างกัน ประสบการณ์ที่ได้เห็นความเชื่อก็ต่างกัน ก็ต้องเคารพซึ่งกันและกัน

ในโลกนี้มีการแสดงเจตนาบริจาคอวัยวะอยู่สองแบบ แบบแรกเป็นการบริจาคที่อยากบริจาคก็ไปแสดงเจตนาว่าจะบริจาค แบบที่สองคือ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนเป็นผู้บริจาค เว้นแต่คุณไม่อยากบริจาค คุณไปแสดงเจตนาปฏิเสธว่าคุณไม่อยากบริจาค ตรงนี้ท่านเห็นยังไง?

ผมมองว่าบังคับทุกคนไปก่อนก็ดีนะครับ แต่ต้องเปิดช่องให้คนที่ไม่มีความประสงค์ได้ไปแสดงเจตนารมณ์และก็ยกเว้นเขาไป ถ้าแบบนี้ผมว่าก็แฟร์ดี นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าจะนำไปศึกษาต่อ

แต่สำหรับประเทศอย่างเราซึ่งยังไม่มีกฎหมายฉบับนี้ผมคิดว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้เห็นประโยชน์ของการได้ไปบริจาคอวัยวะ

เราต้องหาคำพูดที่จะไปอธิบายกับครอบครัวหรือผู้เป็นญาติ ถ้าเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อทางประเพณีก็ต้องบอกว่านี่เป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่มาก การที่เขาบริจาคอวัยวะของเขาไป และได้นำไปต่อชีวิตให้กับคนอื่นก็คือ กุศลสูงสุดแล้ว แต่ยังไงเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย

ที่ถือว่าใหม่เพราะคนอื่นอาจจะทำมา 40 – 50 ปีแล้ว แต่ของเราด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ เปลี่ยนถ่ายอวัยวะได้ก็เพิ่งมี 20 – 30 ปี ถ้าในยุคที่สามารถสื่อสารได้อย่างกว้างขวางผ่านทางโซเซียลมีเดียต่างๆ แบบนี้ ผมก็มั่นใจว่าถ้ามีกรณีที่จะขอรับบริจาคอวัยวะ คนส่วนใหญ่ก็คงไม่ปฏิเสธ แต่พวกนี้ต้องทำแข่งกับเวลาด้วย ผมจึงคิดว่าเข้าท่าดีเหมือนกันถ้าทำให้ทุกคนเห็นว่าร่างกายของเราไม่ใช่ของเราเมื่อสิ้นชีวิตไป และก็ไม่ใช่ของใคร เราเป็นประชาชนของแผ่นดินนี้ เมื่อเราหาชีวิตไม่แล้ว เราก็ต้องตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน ถ้าสามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมชาติหรือเพื่อนร่วมโลกได้ก็ควรจะทำ แต่ถ้ากลัวมากๆ ก็เปิดช่องให้ไปขอยกเว้นสิทธินี้ อันนี้ดีมากถ้าถามผม ความเห็นส่วนตัวผมยิ่งสนับสนุนใหญ่เลย

บางทีผมก็ยังตำหนิตัวเองอยู่เรื่องที่สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ผลักดันกฎหมายนี้ ที่ผมกลัวอย่างเดียวก็คือ เขาจะบอกว่าการจะบังคับใช้กฎหมายลักษณะนี้ต้องใช้เวลานาน


มีบางคนพูดว่าสำหรับการบริจาคทำแบบบางประเทศได้ไหม คือ ตอนที่ไปทำบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ โดยเฉพาะบัตรประชาชนที่ต้องมีทุกคนให้เจ้าหน้าที่ถามเลยว่าคุณจะบริจาคหรือไม่ ท่านเห็นเป็นเช่นไร?

ต้องออกเป็นกฎหมาย กฎหมายลักษณะนี้ก็คล้ายกัน ถ้าทำตรงนั้นได้ ก็ออกเป็นกฎหมายอย่างแรก (สันนิษฐานว่าทุกคนบริจาค) เลยดีกว่า แทนที่จะบอกให้เป็นความสมัครใจก็ให้เป็นสิทธิที่จะปฏิเสธ (right of refusal) มันก็จะง่ายกว่าสะดวกกว่า แต่ถ้าทำตอนนี้ก็อาจจะลำบากตอนผ่านร่างกฎหมาย

คิดว่าเป็นไปได้แค่ไหนในการผลักดันเรื่องของกฎหมายที่สันนิษฐานว่าทุกคนเป็นผู้บริจาค?

พูดในฐานะเจน X ตรงนี้เราไม่มีปัญหา แต่เจนก่อนหน้าเราคิดอีกอย่างหนึ่งซึ่งตอนนี้จำนวนกลุ่มประชากรที่สามารถตัดสินเรื่องพวกนี้ได้กองอยู่ตรงนี้ แต่ผมมั่นใจว่าถ้าเวลาทอดไปสักพักหนึ่ง คนอย่างเจน X เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมในการกำหนดทิศทาง คนเจน Y ก็ไม่มีช่องว่างระหว่างวัยมากนักก็น่าจะเห็นพ้องต้องกัน

ผมเชื่อว่าเด็กวัยรุ่น รุ่นๆ ลูกของผมเขาบอกสบายมาก เขาไม่อยากจะเก็บของเขาแล้วให้ลูกหลานมาเช็งเม้ง ต้องให้ลูกหลานมาคอยรดน้ำกระดูกวันสงกรานต์ วันปีใหม่ ผมก็ต้องคิด อย่างผมมาจากครอบครัวจีน รุ่นก๋ง รุ่นอาม่าผมฝังหมด ทุกเมษาก็ต้องไป ไม่ไปก็จิตใจไม่ดี เดี๋ยวบรรพบุรุษจะโกรธหรือเปล่าว้าวุ่นทุกอย่าง จนผมบอกลูกๆ ผมว่า ฉันเผานะ แล้วก็ไปลอยไปกับกระแสน้ำ ผมจะบอกอีกหน่อย พ่อเป็นนักบินถ้าเกิดหาชีวิตไม่แล้ว ลูกก็เอาเครื่องบินเล็กๆ ไปเปิดโถปลิวไปในอากาศ

ความคิดมันไม่เหมือนกัน ดังนั้นในอนาคตมันก็กลับมาที่ว่า ถ้าเราเกิดมีอันต้องจบชีวิตขึ้นมา การที่จะเอาชิ้นส่วนใดๆ ของร่างกายเราไปก่อให้เกิดประโยชน์ หรือแม้กระทั่งไปเป็นอาจารย์แพทย์ ไปให้เขาทำการศึกษากายวิภาค เราก็ควรบริจาคตัวเองให้เขาได้ทำ

 ผมเชื่อว่าสิ่งที่ดำเนินไปอยู่ในประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน อย่าไปเร่งมันมาก เพราะว่าก็ยังมีคนมีความกังวลอยู่ ทุกวันนี้เวลาผมไปรับอวัยวะหัวใจจากคนบริจาค คนที่ตัดสินใจบริจาคจริงๆ คือ ญาติ เพราะคนที่ให้เขาไปเรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่ผมปลอบแล้วเขารู้สึกดีที่สุด ก็คือ นี่เป็นบุญใหญ่มาก ถ้าเราเชื่อชาติหน้ามีจริงน้องเขาจะต้องเกิดมา ด้วยความโชคดีด้วยความสมบูรณ์มากกว่านี้ แล้วหลังๆ ผมเริ่มจับเทคนิคได้ และจะเห็นประกายแววตาของญาติ แววตามันสามารถบอกได้ว่าที่ท่านรัฐมนตรีพูด ฉันซื้อ

ผมบอกว่าหัวใจลูกยังอยู่นะ ยังเต้นอยู่ แต่มันไปเต้นในร่างของคนอื่น แต่มันก็คือ หัวใจของลูกเรา แล้วผมก็บอกว่าถ้าเราทำอย่างนี้เป็นเรื่องปกติแล้ว ไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์ มันจะดีมาก

เพราะตอนนี้มันมีกฎทางการแพทย์ สมมติหัวใจผมไปอยู่ที่อาจารย์เดี๋ยวลูกผมวันดีไปทวง คือ เขากลัวในเรื่องจริยธรรม แต่ถ้าเราทำให้เป็นเรื่องปกติผมเชื่อว่าคนจะแห่มาบริจาค แบบทุกหนึ่งปีเอาหูฟังหมอมานั่งฟังเสียงหัวใจ แล้วบอกนี่หัวใจลูกคุณ หัวใจสามีคุณ หัวใจน้องคุณ พี่คุณนะ ผมว่าเขาจะแฮปปี้

บางคนบริจาคดวงตาด้วย เลนส์ตา ลูกนัยน์ตา ผมก็บอกญาติเขาว่า นี่เขาเห็นคุณ นี่ตาลูกคุณ เขานั่งจ้องเลย เพราะฉะนั้นเขายังอยู่กับเรา เขาไม่ได้ไปไหน มันอยู่ในช่วงที่ต้องปลอบ เพราะผู้บริจาคพวกนี้ตายกะทันหัน ส่วนใหญ่เจออุบัติเหตุร้ายแรงไม่ได้ตั้งตัว ถูกรถสิบล้อวิ่งชนบ้าง รถคว่ำบ้าง พวกนี้ต้องใช้กำลังใจอย่างเดียว แล้วคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นวัยที่เป็นกำลังหลักของครอบครัว อย่างกรณีรับอวัยวะหัวใจ ต้องอายุไม่เกิน 45 ส่วนใหญ่ก็ 20 – 30 ปี จำนวนเคสที่ได้มามากๆ มาจากคนกลุ่มนี้ เพราะถ้าแก่เกินไปก็ใช้ไม่ได้

ในกรณีหัวใจติดปีก ต้องเอาหัวใจออกจากร่างของเขาในขณะที่เต้นอยู่นะ ถ้ามันไม่เต้นแล้วเอาออกไม่ได้แล้วนะ เพียงแต่หมอต้องวินิจฉัยว่าสมองตาย ตรงนี้คือ ความยาก

ต้องชื่นชมญาติที่แสดงเจตนาบริจาค เพราะทำใจยาก ต้องตัดหัวใจเขาในขณะที่มันยังไม่หยุดเต้น เพราะหยุดเต้นก็ใช้ไม่ได้

โชคดีมันมาบูมตอนที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย ความเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เวลาเขาไปทำเคสพวกนี้ก็คือ ไปทำตามโรงพยาบาลจังหวัดที่สังกัดผมอยู่แล้ว ผมก็ใช้ตำแหน่งผมในการพูดปลอบเขา เขาก็มีความเชื่อมั่น พอเป็นรัฐมนตรีเราไปทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล หมอ หัวหน้าพยาบาล เขาก็ช่วยอยู่ข้างหลังเรา ช่วยเราให้กำลังใจ แล้วเป็นช่วง 4 ปีที่เราสามารถทำความมั่นใจให้กับญาติได้

แต่ถ้าสมัยก่อนที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เราก็เข้าโรงพยาบาลไม่ได้ ขับเครื่องบินไปให้หมอเราก็นั่งรออยู่สนามบิน ญาติเขาเราก็ไม่ได้เจอ แต่พอเป็นรัฐมนตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะทิ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บังคับบัญชาโดยตรงตามสายงานให้นอนรอที่สนามบินก็ไม่ได้

ทุกอย่างถือว่าสมบูรณ์ในบริบทในช่วงนั้น ผมก็มีโอกาสได้ทำ พอได้ทำมันก็มีการเผยแพร่ บางคนน่าจะเคยเห็นตอนผมเป็นอาสา พอคนที่ได้รับหัวใจไปแล้ว ผมจะให้เขายกหัวแม่โป้ง มินิฮาร์ทแล้วส่งมาให้ ส่วนจะยอมให้เห็นหน้าไหมเป็นสิทธิของเขา แต่ถ้าเขาบอกเขายอม ผมจะส่งทั้งหน้า ตรงนี้เราก็ต้องมาเปลี่ยน ผู้ให้ก็ต้องเปลี่ยนคอนเสป ผู้รับหรือว่าผู้ดำเนินการก็คือ แพทย์ คือ ผู้ที่ดำเนินการปลูกถ่ายหัวใจก็อาจต้องเปลี่ยนคอนเสป

ผมว่าไม่มีอะไรที่งดงามไปกว่าให้คนที่บริจาคได้พบกับคนรับบริจาค มันเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน อย่าไปคิดว่าเดี๋ยวเขาจะไถ่เงินไถ่ทอง ก็ถ้าไม่มีสักอย่างก็ไม่ต้องให้ก็แค่นั้นเอง เขาก็คงมาทำอะไรมากไม่ได้ บางทีเราก็คิดมากเกินไป มันทำให้เกิดอุปสรรคนานาขึ้น เราควรจะได้รับการใช้อวัยวะเหล่านี้ได้มากกว่านี้


หากจะมีหลักฐานที่พิสูจน์ในการบริจาค ท่านคิดว่าต้องอยู่ตรงไหน เพราะบางคนเขาบอกเขาจะไว้ใจถ้าสิ่งเรานี้ถูกบันทึกไว้ในทะเบียนราษฎร์?

ผมคิดว่าอยู่ที่เราช่วยทำความเข้าใจกับเขา ทุกวันนี้เรามีเรามีศูนย์เปลี่ยนถ่ายอวัยวะสภากาชาดไทย เป็นตัวกลาง เพราะความกลัวที่จะเอาอวัยวะไปขายกัน

ถ้าไม่มีตัวกลางเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เกิดผมมีญาติที่ต้องการหัวใจ ผมก็ขอผอ.ตัดให้ผมมาก่อนลัดคิวมาก่อน เราถึงบอกโชคดีแล้วระบบมันล็อคตัวเองไว้ มีศูนย์เปลี่ยนถ่ายอวัยวะสภากาชาดไทย สภากาชาดไทยถือว่าเป็นหน่วยงานกลาง ไม่ได้ขึ้นกับรัฐบาล ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงทบวงกรมใดๆ เป็นอิสระ องค์สภานายิกาก็เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั้งประเทศ ใครจะไปใช้เส้นตรงนั้นได้

 เซตอัพที่เขามีดีอยู่แล้ว อย่างผมไปที่ศูนย์บริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ไปถึงเขาก็ให้เขียนเจตจำนงแล้วก็ออกการ์ดมา มันไม่จำเป็นต้องเอารายละเอียดนี้เข้าไปในบัตรประชาชนหรอก ยกเว้นว่าในอนาคตเรามีกฎหมาย แต่การ์ดนี้ก็ไว้ติดไว้ในกระเป๋า ขนาดเท่าบัตรประชาชน แต่หากต้องการความมั่นใจจริงๆ เดี๋ยวนี้เขาอัดวิดิโอด้วย อย่างผมก็อัดวิดิโอ เขาเอากล้องมาให้ผมพูด อยากพูดอะไรพูดหนึ่งนาที ผมก็บอกว่าถ้าผมเป็นอะไรไปนะ อยากให้เอาเทปนี้ไปให้ทายาทของผม ให้ญาติของผมได้รับทราบว่าผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ผมจะบริจาคร่างกายทั้งร่างกายให้เป็นประโยชน์กับชีวิตมนุษย์คนอื่นๆ อย่าได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากสิ่งที่ผมได้พูดนี้เป็นอันขาด นี่ถือเป็นเจตนารมณ์ ถ้าใครมาขอให้ทำนอกเหนือจากนี้ก็ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องปฏิบัติตาม นี่คือสิ่งที่ผมพูด เขาก็บันทึกไว้

แต่ผมเชื่อว่าในกรณีของผม ลูกผมคงคิดว่ายิ่งไปยิ่งดี (หัวเราะ) ไม่มีใครมาคัดค้าน เพราะมันเป็นเจตนา แล้วผมก็พูดให้ลูกได้รับทราบแล้ว

ตรงนี้สุดท้ายมันก็ต้องออกกฎหมายบังคับ ซึ่งถ้าเป็นตอนนี้มันก็ถูกต่อต้านอยู่ดี คนไทยไม่ชอบการบังคับอยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำความเข้าใจให้มากที่สุดเราอาจจะไปลำบากออกกฎหมายเลยก็ได้ มันก็จะเป็นจิตสำนึกของประชาชน

สมัยก่อนที่คุณหมอจะใช้บริการผมขนส่งหัวใจทางเครื่องบิน ผมก็คิดๆ อยู่ว่ามันแปลก รู้สึกกลัว เพราะผมไม่เคยไปบริจาค อย่างมากก็บริจาคโลหิต แต่พอผมทำเคสแรก เคสสอง เคสสาม เคสสี่ ผมก็ไม่รู้สึกแบบนั้นอีกแล้ว

ท่านมีเกร็ดเกี่ยวกับการขนส่งหัวใจสำหรับปลูกถ่ายอยากจะบอกไหม?

ผมคุยกับคุณหมอพัชร อ่องจริต ที่เป็นคู่หูของผมในภารกิจนี้ ซึ่งท่านก็คือ คนปลูกถ่ายหัวใจที่มีความชำนาญมากของโรงพยาบาลจุฬาฯ ผมก็ได้รับข้อมูลจากท่าน เรามีเวลาสี่ชั่วโมง และผิดพลาดไม่ได้ เพราะงั้นผมในฐานะต้องเตรียมพร้อมเต็มที่ ต้องอย่ากินเหล้าเมา เพราะเหตุมักจะตอนเกิดกลางคืน

ตอนทำหน้าที่นี้ ผมก็ไปเห็นญาติเห็นคนตาย บางทีตอนเป็นรัฐมนตรีเขาก็ให้ผมเข้าไปดู เข้าไปสังเกตการณ์ดูเขาผ่าตัด สำหรับเขาที่เขาได้ต่อชีวิตคน ผมว่ามันยอดเยี่ยมมากสำหรับคนที่เขาได้ต่อชีวิตคน อย่างที่ผมบอกหัวใจมันไม่ได้หยุดเต้น ผมก็รู้หัวใจอันไหนสามชั่วโมง อันไหนสี่ชั่วโมง โดยผมจะต้องเป็นคนพาเขาไปใส่ให้กับอีกคนหนึ่ง ผมก็ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัวเลยนี่หว่า หมอก็เคยเล่าให้ผมฟังถึงแม้คนนี้วินิจฉัยว่าสมองตายไปแล้ว ไม่รู้สึกอะไรแล้ว ต้องวินิจฉัยสองครั้งด้วยนะ ให้แน่ใจว่าตายแน่นอน ไม่มีทางฟื้น และขณะที่ผ่าตัดหัวใจ เขายังต้องวางยาสลบ เพื่อให้คนไข้แน่นอนเลยว่าไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้นเหมือนเราผ่าตัด พอเราได้เห็น เราก็ไม่กลัว พอเราไม่กลัวเราก็ถึงเวลาแล้ววันไหนผ่านไปแถวสถานเสาวภา สภากาชาดไทยก็แวะเข้าไป

คำตอบคือ อย่าไปกังวล อย่าไปตั้งคำถาม มันอยู่ที่เรา ถ้าเราตายไปแล้ว เราไม่รับรู้รับทราบ แต่ว่าอย่างน้อยถ้าเราแสดงเจตจำนงไว้ ถ้าไม่ได้ก็บริจาคอย่างอื่น กรณีอย่างหัวใจผมเชื่อคงให้ไม่ได้แล้ว ผมห้าสิบกว่าแล้ว เกินสี่สิบห้าเขามักจะไม่รับ เราก็ไม่ต้องกังวลอะไรตรงนี้ ไปบริจาคตับไตปอดหรือบริจาคร่างกายให้เป็นวิทยาทาน

ผมเชื่อว่าทางที่ดีที่สุดคือ การให้ความรู้ความเข้าใจ ปลูกฝังจิตสำนึก อาจจะมีแคมเปญ ฉันคือ คนบริจาคร่างกายให้เป็นสาธารณกุศลผมว่าอันนี้ดีที่สุด


นอกจากการบริจาคกรณีของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ยังมีการบริจาคโดยผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งในส่วนนี้จะสามารถระบุผู้ที่จะรับบริจาคได้ โดยในปัจจุบันแพทยสภาจำกัดให้สามารถระบุผู้รับต้องเป็นญาติหรือคู่สมรส เพื่อกันการซื้อขายอวัยวะ แต่ก็จะมีบางความคิดที่บอกว่าปล่อยฟรีระบุชื่อใครก็ได้ ท่านมองประเด็นนี้อย่างไร?

การที่มีการให้อวัยวะของเรา ส่วนใหญ่ก็ต้องให้กับคนที่พันธุกรรมเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเป็นพี่น้องสืบสายโลหิต ไม่ใช่ว่าจะให้กันง่ายๆ มันยังมีขั้นตอนที่ต้องใช้ข้อมูลทางการแพทย์ในการตัดสินใจ แต่ตราบใดที่เรายังมีสติสัมปชัญญะอยู่ ต้องยอมให้เป็นการตัดสินของคนๆ นั้น

วันนี้ถ้าให้ผมไปบริจาคไตกับใครที่ไม่รู้จัก ต้องพูดตรงๆ ผมยังไม่พร้อม แต่ถ้าเกิดนั่นเป็นลูกผมขึ้นมาเป็นพ่อแม่ผม เป็นพี่น้องผม ผมก็ต้องตัดสินใจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะ Yes หรือ No แต่ถ้าเป็นคนที่ผูกพันกัน ส่วนใหญ่ก็ไปทางที่ Yes อยู่แล้ว แต่นั่นบังคับไม่ได้ เราจะกำหนดได้ก็ต่อเมื่อเราต้องมั่นใจว่าคนๆ นั้นไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่มีความรู้สึก ก็คือ สิ้นชีวิตไปแล้ว เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน ส่วนตรงนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผมคิดว่าความรักความผูกพันยิ่งเป็นคนที่สืบสายโลหิตกันมา ก็ยังไม่เห็นใครปฏิเสธ

ผมเลยถือว่ามันยังไม่ใช่ประเด็นซีเรียสอะไรจนถึงขนาดนั้น แต่ถ้าในทางวิชาการก็ต้องศึกษาแล้วก็นำเสนอ ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วย เราก็สามารถที่จะทำออกมาให้เป็นระบบระเบียบได้มากกว่านี้

ในกรณีที่คนประสบอุบัติเหตุแล้วสมองตาย แต่ว่าไม่สามารถหาตัวได้ว่าคนนั้นคือ ใคร เป็นศพนิรนาม แต่อวัยวะยังใช้ได้ อันนี้ท่านมีความเห็นอย่างไร เราควรจะนำอวัยวะมาใช้หรือไม่?

ถ้านิรนามจริงๆ แพทย์เขาก็มีวิธีการ ถ้าไม่มีญาติ ไม่มีอะไรเลย วันหนึ่งแล้ว สองวันแล้วบัตรประชาชนก็ไม่มีดูไปแล้วไม่มีที่มาที่ไป แพทย์ก็สามารถตัดสินใจได้

ท่านมองว่าให้แพทย์ตัดสินใจ แต่มีกรณีที่แพทย์ไม่กล้าตัดสินใจ เลยอยากได้กฎหมายกัน

ก็ควรจะมีกฎหมาย ตรงนี้เป็นแพคเกจเดียวกัน

เรื่องพวกนี้ถ้าถามผม มันก็ไม่แฟร์ เพราะผม Yes ตลอดจากหัวยันท้ายมันต้องไปถามคนที่เป็นคนทั่วไป ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ แต่จริงๆ ผมก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องนะ ผมมีส่วนในการเป็นบุรุษไปรษณีย์ ช่วยนำอวัยวะมาถึงคนรับในเวลาที่ปลอดภัย อย่างหัวใจผมมีเวลาสี่ชั่วโมง แต่ละช่วงในการเปลี่ยนอวัยวะ มันจะมีช่วงหนึ่งที่มัน critical period ที่ส่วนนี้ผมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งก็เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตผม ก็คือ ช่วงที่เอาหัวใจคนให้ไปให้คนรับ ยิ่งไปถึงเร็วเนื้อเซลล์ เนื้อเยื่อต่างๆ ก็จะมีความแข็งแรง

ผมคิดว่าประเทศไทยควรโปรโมทเรื่องพวกนี้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มาก ไม่ได้เล็กมากเป็นประเทศที่มีสนามบินแทบทุกจังหวัด สามารถเชื่อมต่อสนามบินได้ในเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง อย่างกรณีผมเป็นเครื่องบินเล็ก มันเหมาะสมกับภารกิจนี้เพราะถ้าเอาการบินไทย เอาแอร์เอเชียเพื่อไปเอาหัวใจดวงเดียวมันทำไม่ได้เยอะ ค่าใช้จ่ายมันสูง ต้องจ่ายเพอร์เดียมนักบิน แล้วเราจะบังคับให้นักบินอาสาอะไรกับเราด้วยทุกวันก็ไม่ได้

อันนี้มันต้องเรื่องจิตอาสาจริงๆ แบบผมบินเอง ผมจ่ายตัวเอง เครื่องบินของผมก็เป็นเครื่องบินลำเล็กๆ กินน้ำมันไม่มาก ค่าใช้จ่ายไม่ได้สูง ไม่เกิน 15,000 บาท 20,000 บาทต่อครั้ง สำหรับผมสบายมาก ยินดีเต็มใจ ผมสตาร์ทเครื่องบินหมอก็ไปกับผม เครื่องบินผมทำความเร็วได้ทั่วประเทศ ถ้าออกจากกรุงเทพไกลที่สุดคือ นราธิวาสใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งมันก็อยู่ในกรอบเวลาที่จะนำหัวใจกลับมาที่กรุงเทพด้วยความปลอดภัย และอีกหน่อยถ้าเราให้อาจารย์แพทย์ถ่ายทอดความรู้ ก็ไม่จำเป็นต้องกลับไปที่จุฬาที่เดียว อีกหน่อยเชียงใหม่ไปเชียงราย ยิ่งดีใหญ่เลย

ซึ่งตอนนี้อาสาของเรามีเยอะขึ้นแล้วนะ ผมเชื่อว่านักบินอยากทำ แย่งกันทำเลยแหละ บินเยอะก็บินไปกับคุณหมอ อีกหน่อยถ้าถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ก็ตัดที่นั้นแล้วไปต่อที่นี่ เราก็เป็น Grab เป็น Line man ไป มันก็จะยิ่งดูน่ารักใหญ่เลย ตรงนั้นแหละมันจะอยู่เหนือกฎหมาย มันจะเป็นความเป็นจิตอาสาของประชาชน มันต้องเอาข้างในออกมาก่อน ไปบังคับเลยก็อย่างที่ผมเรียน ผมไปศึกษาท่านรองนายกรัฐมนตรีที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมากๆ คนหนึ่ง ท่านบอกมันยากมันเหมือนการไปบังคับเขา ท่านพูดแบบนี้มา การเก๊าเกมทางการเมือง ผมก็ต้องรู้แล้วว่าอันนี้คือ No ก็ไม่ต้องทำอะไรต่อละ

จะทำได้ก็ต้องสร้างจากกระแส ความรู้สึก จิตสำนึก

ใช่ มันต้องมาจากการสนับสนุนประชาชนขึ้นมา ประชาชนพร้อมหรือยัง ถ้าพร้อมก็หากฎระเบียบมาครอบมันก็จะได้รับการสนับสนุน แล้วการโหวตทุกอย่างก็จะผ่านไปได้อย่างฉลุย


ทางกาชาดบอกเขาขอความร่วมมือจากเขตบางเขตถ้าประชาชนมาต่ออายุบัตรหรือทำบัตรประชาชนให้ถามเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ ท่านมีความเห็นเช่นไร

ทำอะไรก็ทำได้หมดแหละ แต่ถ้าตอนนี้ไม่มีกฎหมายแล้วตอนนี้จะไปบันทึกในบัตรประชาชนก็ผิดกฎหมาย ปัจจุบันก็อย่างที่ผมเรียน บัตรบริจาคอวัยวะ ถ้าจะเอาให้ครอบคลุมในช่วงที่ไม่มีกฎหมาย ก็เอาไปตั้งที่เขต ขออนุญาตไปทำที่เขตได้ ก็ไม่ต้องถ่ายวิดิโอทุกคนหรอกครับ หรือถ้าจะถ่ายก็เซลฟี่เลยแล้วก็เก็บไว้ ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะอาจจะมีข้อมูลกลางส่งไปตรงนั้น

ที่สำคัญที่สุดมันต้องออกมาจากข้างในก่อนถ้าคนอยากทำมันไม่ต้องบังคับเขาหรอกครับ เขาไม่ได้แคร์กฎหมายอะไรทั้งสิ้น อย่างของผมทุกวันนี้ ถ้าไปแล้วไม่ต้องเอาไปวัด ผมแฮปปี้ที่ผมจะไปห้องชันสูตรให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้ได้ศึกษา เหมือนตอนบวชที่วัดบวรผมก็ไปดู เราต้องมีอินเนอร์ก่อน ชีวิตหลังความตายไม่มีมันก็ต้องเชื่อทางวิทยาศาสตร์ก่อน ถ้ามีชีวิตหลังความตายเราก็ไม่ต้องมามีรักโลภโกรธหลงแบบนี้ ต้องถือว่าชีวิตหลังความตายไม่มีทุกอย่างมันก็จะจบไป ไม่เป็นภาระใครด้วย มันก็มีผลต่อเนื่องที่ดีๆ อีกมากมาย

ท่านคิดเห็นอย่างไรกับการซื้อขายอวัยวะ

เรื่องซื้อขายอวัยวะผมก็เห็นด้วยว่าไม่โปรโมทเรื่องนี้ มันต้องเป็นการบริจาค มันต้องเป็นความตั้งใจ มันซื้อขายเพื่อไปใส่ให้คนอื่นมันก็ผิดหลักจริยธรรม เหมือนโคลนนิ่ง ทำไมเขาไม่ให้โคลนนิ่ง ทุกคนอยากมีชีวิตรอด อยากมี Mini Me เกิดขึ้น แต่มันผิดหลักธรรมชาติ มันก็จะก่อปัญหาอย่างอื่นของโลกตามมาอีกมากมาย


เนืองในโอกาสที่เราจะมีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ท่านมีความคาดหวังอย่างไรต่อร่างดังกล่าว

กฎหมายทุกฉบับคือ ช่วยตบให้ทุกอย่างมันอยู่ในการควบคุมได้ เรามีกฎหมายเพื่อไม่ให้ใครออกนอกกรอบ แต่การกระทำหรืออะไรต่างๆ กฎหมายช่วยไม่ได้หรอกครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริจาคอวัยวะ บริจาคร่างกายมันต้องมาจากเจ้าตัว ถ้ามากำกับไม่ให้มีการซื้อขาย ไม่มีการไปรีดไถ่ คุกคาม กรรโชก อันนี้กฎหมายออกได้ แต่ถ้ากฎหมายบอกว่าคุณต้องบริจาคอันนี้ต้องดูว่าสังคมยอมรับตรงนี้หรือเปล่า

Leave a comment