
ดร.รัฐวิช มีมุมมองต่อกระบวนการยุติธรรมไทยและบทบาทของฝ่ายปกครองอย่างไร?
ในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง เคยได้ยินแต่คำกล่าวที่ว่า inter arma enim silent lege “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็ต้องเงียบเสียงลง” แต่ประเทศไทยวันนี้ คงต้องพูดว่า “เมื่อมีอิทธิพลมากพอ กฎหมายก็สามารถเงียบเสียงลงได้เช่นกัน” All the justice money can buy!?
ผมในสถานะความเป็นข้าราชการตัวเล็กๆ คนหนึ่ง การออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึงเรื่องของผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีอำนาจของบ้านของเมือง ซึ่งสามารถบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมได้ คงจะไม่ส่งผลดีต่อชีวิตข้าราชการ แต่ในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง ผมไม่อาจอยู่นิ่งท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมไทยเช่นตอนนี้ได้ กระบวนการยุติธรรมที่ไร้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือและศรัทธาของประชาชน จะต่างอะไรกับบ้านเมืองที่วุ่นวาย ไม่มีขือไม่มีแป ไร้เสถียรภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยของสังคมได้ต่อไป
ผมในฐานะ “นักกฎหมายในองค์กรฝ่ายปกครอง” จึงขอออกมาตั้งคำถามกับประชาชนคนไทยว่า ท่านต้องการให้ “ฝ่ายปกครอง” เข้ามามีส่วนร่วมหรือมีส่วนช่วยแก้ไขกระบวนการยุติธรรมไทยที่มันบิดเบี้ยวอยู่ในตอนนี้หรือไม่? หรือต้องการให้กระบวนการยุติธรรมไทยนั้น ถูกผูกขาดเฉพาะกับตำรวจ อัยการ และศาลเท่านั้นแหละดีแล้ว
พลวัตของความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครองกับกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นมาอย่างไร?
ประชาชนคนรุ่นใหม่หลายคนคงไม่ทราบว่า แต่เดิมทั้งอัยการและตำรวจสังกัดอยู่กับฝ่ายปกครอง อยู่ในกระทรวงมหาดไทย ก่อนจะแยกออกไปจัดตั้งเป็นสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามลำดับ เหตุผลแต่ดั้งแต่เดิมที่อัยการและตำรวจสังกัดอยู่กับฝ่ายปกครองในกระทรวงมหาดไทย ก็เพราะพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนั้น กำหนดให้จังหวัดมีหน้าที่ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมในสังคม
ปัจจุบันแม้ว่าทั้งอัยการและตำรวจจะแยกตัวออกไปแล้ว แต่หน้าที่ดังกล่าวของฝ่ายปกครองก็ยังคงดำเนินการอยู่ โดยการใช้อำนาจสืบสวนสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในฐานะ “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่” และ “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ” รวมทั้งการเป็น “พนักงานสอบสวน”
นอกจากบทบาทในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมดังกล่าว ฝ่ายปกครองยังมีหน้าที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นทุกจังหวัดและอำเภอ เพื่อเป็นช่องทางสำหรับรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์และใช้เป็นที่พึ่งของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม
ฝ่ายปกครองเผชิญข้อจำกัดอย่างไรบ้างในการทำหน้าที่กระบวนการยุติธรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมา?
บทบาทในกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายปกครองที่ผ่านมาถูกจำกัดและถูกลิดรอนมาโดยตลอด ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ที่ให้ตำรวจเข้ามาทำหน้าที่สอบสวนแทนฝ่ายปกครองอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นที่มาของการวางจุดตั้งต้นการสอบสวนให้อยู่ที่ตำรวจเมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น ทั้งที่ฝ่ายปกครองก็มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาเช่นกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ฝ่ายปกครองได้ออกกฎกระทรวงกำหนดความผิดอาญาบางประเภท ให้ฝ่ายปกครองสามารถทำการสอบสวนความผิดตามกฎหมายซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายปกครองได้ จำนวน 19 ฉบับ แต่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวก็บังคับใช้ได้เพียง 3 เดือน ทางตำรวจโดยการใช้อำนาจทางการเมืองมาบีบบังคับให้ฝ่ายปกครองต้องแก้ไขกฎกระทรวง โดยให้ตัดกฎหมายว่าด้วยการพนัน กฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนออก จึงคงเหลืออยู่เพียง 16 ฉบับ
อีกทั้งในปี พ.ศ. 2556 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่ง ตร. ที่ 419/2556 ปฏิเสธอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในการเข้าร่วมสอบสวนหรือควบคุมการสอบสวนเพื่ออำนวยความเป็นธรรมในคดี ถึงแม้ว่าทางอัยการสูงสุดจะรองรับอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอดังกล่าว และมีหนังสือเวียนสั่งการให้อัยการจังหวัดส่งสำนวนการสอบสวนกลับ หากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอซึ่งได้ใช้อำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนดังกล่าวแล้ว แต่พนักงานสอบสวนไม่เสนอสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอเป็นผู้เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง/ควรสั่งไม่ฟ้องมายังอัยการ เป็นเหตุให้สำนวนเสียหายและมีข้อโต้แย้งกันอยู่จนถึงในปัจจุบัน
ทว่ายังไม่พอ ในปี พ.ศ. 2557 หลังจากที่มีการประชุมซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีข้อเสนอขอแก้ไขอำนาจแย้งคำสั่งของอัยการ กรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน ข้อเสนอดังกล่าวจึงตกไป ทว่าในวันเดียวกันตอนกลางคืน ได้มีประกาศ คสช. ที่ 115/2557 ออกมาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเฉพาะการเพิ่มเติมมาตรา 145/1 ที่ให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคแย้งคำสั่ง กรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง แทนผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งในกรณีนี้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์โจษจันกันว่า ด้วยความเร่งรีบยืมมือ คสช. จึงทำให้การแก้ไขไม่ครอบคลุมคดีในเขตอำนาจศาลแขวงและศาลเยาวชนและครอบครัว ที่ปัจจุบันยังคงเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการทำความเห็นแย้งอยู่
นอกจากนั้นยังไม่รวมถึงความพยายามที่จะตัดอำนาจสืบสวน (จับกุม) ของฝ่ายปกครอง หรือการไม่ต้องการให้ฝ่ายปกครองเข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพกรณีวิสามัญฆาตกรรม โดยสรุปจากที่กล่าวมาทั้งหมด คือ ความพยายามที่จะลิดรอนหรือตัดบทบาทอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองออกจากกระบวนการยุติธรรมของไทย
ความพยายามที่ว่านี้คือการรวบอำนาจ (?) เพื่อลิดรอนฝ่ายปกครองในกระบวนการยุติธรรมหรืออย่างไร อยากให้ช่วยขยายความเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนมากขึ้น?
ส่วนตัวผมมองว่า การลิดรอนอำนาจของฝ่ายปกครองในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยบกพร่องและบิดเบี้ยวอย่างทุกวันนี้ เป็นการผูกขาดหรือการแย่งอำนาจไว้ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ปิดกั้นฝ่ายปกครองซึ่งเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดองค์กรหนึ่ง หรือการตัดทอนอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอซึ่งเป็นตำแหน่งที่กฎหมายและระบบการบริหารราชการแผ่นดินจัดวางไว้ให้เป็นคนกลางในการประสานและบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับประชาชน
การกีดกันไม่ให้ฝ่ายปกครองเข้ามาเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม
ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์
หรือได้ใช้อำนาจเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมได้
นี่คือ ความคิดที่ผิดมหันต์
โดยความผิดเช่นว่านี้ หากเกิดจากความไม่รู้ประวัติศาสตร์ ไม่เข้าใจระบบและโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินของไทย หรือบทบาทของฝ่ายปกครองในปัจจุบันว่า ฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างไร ตลอดจนมีศักยภาพแค่ไหนอเพียงไร ก็เป็นสิ่งที่ยังอภัยให้ได้ แต่หากเกิดจากอคติหรือองค์ความรู้ที่ไม่รู้แจ้งเห็นจริง หรือเพราะความเห็นแก่อำนาจ หรือเกิดขบวนการรวบอำนาจขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง และลิดรอน ตัด หรือไม่ยอมให้ฝ่ายปกครองเข้ามามีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตศรัทธาเช่นนี้ ก็คงต้องถือเป็นเวรกรรมของประเทศและน่าเสียดายยิ่งนัก
ผมในฐานะนักกฎหมายซึ่งอยู่ในองค์กรของฝ่ายปกครอง เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยศักยภาพและจุดแข็งของฝ่ายปกครอง ซึ่งเราได้แสดงจุดยืนและยึดมั่นในปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” มาตลอด ตั้งแต่ พ.ศ. 2435 ก่อตั้งกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันก็ 128 ปีมาแล้ว เรายืนยันเคียงข้างประชาชนมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ฝ่ายปกครองจึงควรจะต้องเข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นชั้นสืบสวน สอบสวน หรือกระบวนการยุติธรรมทางเลือกต่างๆ ก็ตาม
ดร.รัฐวิช มีข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครองในกระบวนการยุติธรรม?
ผมขอเสนอว่า ควรจะมีการยกเลิกมาตรา 145/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ในส่วนภูมิภาคผู้ว่าราชการจังหวัดกลับมาเป็นผู้มีอำนาจทำความเห็นแย้ง กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องตามเดิม และควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอสามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ ในการร่วมสอบสวนหรือควบคุมการสอบสวนเพื่ออำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน อย่างน้อยก็ในคดีที่ประชาชนร้องขอความเป็นธรรมได้ ตลอดจนบทบาทในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมกับฝ่ายปกครองต่อไป ท่านใดเห็นด้วยกับผมได้โปรดสนับสนุนด้วยครับ
ผู้ให้สัมภาษณ์: ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนการสอบสวนคดีอาญา กรมการปกครอง