ศิปภน อรรคศรี

ประชาธิปไตยไต่เส้น (?): แนวคิด “ห้วงโอกาสแห่งประชานิยม” และ “ประชาธิปไตยแบบไต่เส้น”
ของ Chantal Mouffe
ดังเช่นในบทความส่วนแรกที่ได้กล่าวถึงแล้วว่า โครงการทางปัญญาของ Chantal Mouffe ปรากฎผ่านข้อเสนอสำคัญคือ การย้อนพินิจแก่นแท้ของแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยทั้งสองข้อ ได้แก่ หลักความเท่าเทียมกัน (equality) และหลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน (popular sovereignty) ซึ่งตั้งแต่ห้วงเวลายุคสงครามเย็นเป็นต้นมา หลักการทั้งสองข้อดังกล่าวถูกกดทับด้วยอำนาจนำของแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่มี Margaret Thatcher (1925 – 2013) นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษเป็นแนวหน้าของการทำการเมืองแนวเสรีนิยมใหม่ เพื่อลดอำนาจรัฐ, เพิ่มอำนาจตลาดเสรี, ปรับใช้แนวนโยบายสาธารณะให้เป็นการโอนกิจการของภาครัฐสู่เอกชน (privatization) ประกอบการปัจจัยสำคัญที่เสรีนิยมใหม่ส่งผลต่อการถดถอยของประชาธิปไตย เนื่องจากเสรีนิยมใหม่มีบทบาทต่อการขยายขอบเขตความเป็นปัจเจก และลดความเป็นการเมือง (depoliticize) โดยมีการเปลี่ยนผ่านวิธีคิดจากประชาธิปไตยที่มวลชนมีส่วนร่วมทางการเมือง สู่แนวคิดที่นักวิเคราะห์นโยบายที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามามีบทบาทตัดสินใจแทนประชาชนส่วนมาก ที่มีเวลาและอาจมีองค์ความรู้เฉพาะด้านอย่างไม่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้เอง ในงาน “For a Left Populism (2018)” ของ Mouffe จึงได้พยายามรื้อฟื้นแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยที่อำนาจยึดโยงกับประชาชนโดยตรง ส่งผลให้เกิดแนวคิดสำคัญที่ Mouffe เสนอไว้สองข้อ ได้แก่ “ห้วงโอกาสแห่งประชานิยม (The Populist Moment)” และ “ประชาธิปไตยแบบไต่เส้น (radical democracy)” หลังจากนั้นจึงจะเป็นการสำรวจความสำเร็จจากการนำแนวคิดข้างต้นไปใช้ในบางประเทศ
สู่สนามการเมืองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ผ่านกรอบคิด “ห้วงโอกาสแห่งประชานิยม”
เมื่อข้อถกเถียงที่ Mouffe ให้ความสำคัญคือ การรื้อฟื้นหลักอำนาจอธิปไตยของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย เช่นนั้นแล้วสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการถกเถียงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงก็คือ การนิยามต่อ “ประชาชน” ซึ่ง Mouffe เสนอข้อวิจารณ์อย่างน้อยสองประการ เพื่อวิจารณ์รูปแบบของการเมืองมวลชนฝ่ายซ้ายไม่ว่าทั้งสายมาร์กซิสม์ (Marxism) หรือสังคม-ประชาธิปไตย (social-democracy) ที่ไม่สามารถอธิบายเรื่องการเมืองที่ประกอบด้วยการต่อต้านอำนาจในหลากหลายรูปแบบในปัจจุบันได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเรื่องการเมืองอัตลักษณ์ทางเพศ, การเมืองอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ หรือการเมืองสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ปัญหาประการแรกที่ Mouffe ตั้งข้อสังเกตต่อจุดอ่อนของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายก็คือ ยังคงยึดติดกับมุมมองแบบผู้นิยมในสารัตถะ (essentialist perspective) และสารัตถะในความหมายนี้ก็คือ การเชื่อแนวคิดเรื่อง “สารัตถะนิยมแห่งชนชั้น” (class essentialism) ซึ่ง Mouffe อธิบายอย่างรวบรัดว่า ตัวแสดงในสังคมล้วนเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ในการผลิต โดยตำแหน่งแห่งที่ของตัวแสดงนั้นเองที่จะกำหนดผลประโยชน์ที่จะได้รับ (Chantal Mouffe, 2019, p. 2) เพื่อให้พรรคฝ่ายซ้ายในยุคปัจจุบันปรับตัวให้สอดคล้องกับการขยายของความต้องการของมวลชน จึงส่งผลให้ Mouffe เลือกที่จะต่อยอดแนวคิดการมีสารัตถะไปสู่กรอบคิดแบบ “ไม่ยึดติดในสารัตถะ” (non-essentialist) เพื่อขยายขอบเขตของความหลากหลายของผู้ที่จะต่อสู้กับการกดขี่จากการครอบงำของแนวคิดเสรีนิยมใหม่และภาวะหลังการเมืองที่ประชาชนออกห่างจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งนี้ประกอบกับการเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 เป็นต้นมา และกระบวนการครอบงำของเสรีนิยมใหม่กำลังถูกท้าทายนี้เอง ขบวนการต่อต้านอำนาจเชิงสถาปนาก็ได้ขยายตัวมากขึ้นจากทั้งผู้ที่สมาทานอุดมการณ์แบบฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาก็ตาม Chantal Mouffe เรียกห้วงโอกาสเช่นนี้ว่า “ห้วงโอกาสแห่งประชานิยม” (populist moment)
นอกจากนั้นประการที่สอง ระบอบประชาธิปไตยเองต้องปรับตัวท่ามกลางความตึงเครียดสองด้าน เพราะว่าในระหว่างที่ประชาชนรวมตัวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้สอดคล้องกับเสียงของมวลชน ขณะเดียวกันระบอบประชาธิปไตยก็กำลังเผชิญกับภาวะ “หลังประชาธิปไตย (post-democracy)” ที่เป็นความตึงเครียดของแนวคิดเสรีนิยมที่ลดทอนการเมืองแบบประชาธิปไตยให้อยู่ในโอวาทของเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เป็นตัวชี้นำสังคมการเมือง ส่งผลให้การเมืองที่เน้นมวลชนแบบเดิมนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งสังเกตได้จากนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษของ ค.ศ.1990 ขบวนการประชานิยมฝ่ายขวาจัดเกิดขึ้นทั่วโลก อาทิ มวลชนที่สนับสนุนพรรค FPÖ แห่งออสเตรีย หรือประชาชนผู้นิยมพรรค Front National แห่งฝรั่งเศส เป็นต้น ปัญหาต่อสุขภาวะของระบอบประชาธิปไตยจึงตามมา เพราะว่าการระดมมวลชนแบบขวาจัดนั้นอุดมด้วยใช้ศัพท์แสงความเป็นชาติอย่างอัดแน่นเพื่อต่อสู้กับฉันทามติทางสังคมที่พวกเขารู้สึกว่าถูกกีดกันและเป็นความพยายามในการเอาชนะภาวะหลังการเมือง
อย่างไรก็ตาม ทางออกจากปัญหาทั้งสองในข้างต้นยังมีอยู่ ซึ่งเป็นการ “เอาชนะอำนาจนำของเสรีนิยมใหม่” ดังนั้นแล้ว ห้วงโอกาสแห่งประชานิยมจึงเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมที่ประชานิยมโดยประชาชนฝ่ายซ้ายจะไปยังพรมแดนทางการเมืองเพื่อเผชิญหน้ากับคณาธิปัตย์ เพื่อที่จะสะท้อนความต้องการอันหลากหลายของประชาชนในการต่อต้านรูปแบบของการกดขี่ และก่อให้เกิดห่วงโซ่แห่งความเท่าเทียมของผู้ที่เป็นรองทางอำนาจ ซึ่งพวกเขา/เธอเหล่านั้นสามารถตอบโต้ได้กลับผ่านวิถีทางระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้คำถามถัดมาคือ แล้วระบอบประชาธิปไตยควรปรับตัวในลักษณะใดจึงจะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ขยายตัวขึ้นภายใต้ความหลากหลาย ?
อะไรคือ “ประชาธิปไตยแบบไต่เส้น” (democracy radicalization) ? แล้วจะไต่ไปทำไม ?
เมื่อ Mouffe เสนอให้มอง “ประชาชน” ในฐานะกลุ่มของความหลากหลายที่มารวมตัวกันเพื่อเปล่งเสียงต่อสู้กับอำนาจนำ ดังนั้นเมื่อประชานิยมฝ่ายซ้ายได้แผ่ขยายแนวคิดเพื่อรวมความหลากหลายต่อต้านอำนาจการกดขี่ เช่นนี้ตัวระบอบประชาธิปไตยเองก็จำเป็นต้องพัฒนารูปแบบปรับตัวให้เข้ากับความก้าวหน้าทางความคิดของผู้คนเช่นกัน ดังนั้น Mouffe จึงได้นำเสนอแนวคิด “ประชาธิปไตยแบบไต่เส้น” ในความหมายของการไต่เส้นเพดานทางความคิดให้เกิดประชาธิปไตยที่พัฒนาสถาบันการเมืองประชาธิปไตยให้มีความถอนรากและเป็นพหุนิยม เพื่อนำไปสู่ “การเปลี่ยนผ่านทางอำนาจนำ” ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับการรื้อฟื้นหลักเสรีภาพและความเท่าเทียม ซึ่งแน่นอนว่าคำอธิบายลักษณะนี้ก่อให้เกิดอย่างน้อยสองข้อสังเกตตามมา
ประการแรก ถ้าเช่นนั้น Mouffe กำลังหมายความถึงการปฏิวัติของฝ่ายซ้ายหรือไม่ ? แน่นอนว่า “ไม่” เนื่องจาก Mouffe ได้อธิบายยุทธศาสตร์ของประชานิยมฝ่ายซ้ายที่ต้องการไต่เส้นระบอบประชาธิปไตยว่า เป็นความพยายามช่วงชิงอำนาจนำนิยมใหม่ภายในกรอบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ แล้วให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ในการหลอมรวมเอาเจตจำนงร่วมของประชาชนเพื่อเปลี่ยนผ่านอำนาจนำใหม่ให้เกิดการจัดรูปใหม่ของตำแหน่งแห่งที่ของเสรีนิยมกับประชาธิปไตยที่เคยถูกปัดเป่าโดยเสรีนิยมใหม่ และแปรเปลี่ยนให้ประชาธิปไตยกลับขึ้นมามีความสำคัญเป็นแนวหน้า ซึ่งแน่นอนว่าสถาบันการเมืองก็จำเป็นต้องถูกปรับปรุงไปตามกระบวนการประชาธิปไตยเช่นกัน (Ibid, p. 45)
ข้อสังเกตอีกประการที่น่าสนใจ Mouffe เสนอว่าแนวคิดการไต่เส้นประชาธิปไตยแบบที่เธอเสนอนั้นไปไกลกว่าทางลวงสองแพร่ง (false dilemma) ระหว่าง “ปฏิรูป” (reform) และ “ปฏิวัติ” (revolution) หากแต่การผลักดันประชานิยมแบบซ้ายนั้นสามารถเป็นไปได้ด้วยกระบวนการแบบประชาธิปไตย ดังนั้นแล้วประชาธิปไตยไต่เส้นในทัศนะของ Mouffe ในที่นี้กล่าวโดยสรุปจึงเป็นการต่อสู้ของประชาชนเพื่อความเท่าเทียม เป็นการต่อต้านร่วมกันต่อรูปแบบอันหลากหลายของการกดขี่ ด้วยวิธีการที่ยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตย (Ibid, p. 49) แล้วกรณีดังกล่าวใช่ว่าจะไกลเกินจริง (อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎีของ Mouffe เอง) ดังสังเกตได้จากการเกิดขึ้นของพรรคที่ยึดมั่นในประชานิยมแบบซ้ายที่ระดมผู้คนจากเจตจำนงร่วมที่ต้องการขับเคลื่อนประชาธิปไตยแบบไต่เส้นให้เป็นการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์หัวก้าวหน้าภายใต้กลไกของระบอบประชาธิปไตยเอง ซึ่งพรรคเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น พรรค Podemos ในสเปน หรือพรรค Syriza ในกรีซ หรือกรณีของพรรคอนาคตใหม่ (หรือพรรคก้าวไกลในขณะนี้) ในประเทศไทย เองก็เช่นกัน
สุดท้ายสำหรับส่วนที่สองของบทสำรวจนี้ สิ่งที่ Mouffe พยายามสร้างกรอบทฤษฎีประชานิยมแบบซ้าย ด้วยแนวคิดสนับสนุนหลักสองประการ ทั้ง “ห้วงโอกาสแห่งประชานิยม” และ “ประชาธิปไตยแบบไต่เส้น” แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เขียนแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องพินิจอย่างจริงจังก็คือ โครงการทางปัญญาว่าด้วยประชานิยมแบบซ้ายของ Mouffe นั้นไปไกลกว่าโครงการทางปัญญาของสายมาร์กซิสจริงหรือ หรือในทางกลับกันแล้วได้ส่งผลให้ขบวนการฝ่ายซ้ายที่กำลังต่อสู้ภายใต้กระบวนการก่ออำนาจนำของเสรีนิยมใหม่หลงทาง ถ้าเช่นนั้นฝ่ายซ้ายยุคใหม่หลงทางได้อย่างไร และการละเลยแนวคิดเรื่อง “ทุน” จะส่งผลร้ายอย่างไรต่อขบวนการ ในส่วนนี้จะมีการอภิปรายต่อไปในส่วนสุดท้ายที่เป็นข้อวิจารณ์ต่องาน “For a Left populism” ของ Chantal Mouffe
บรรณานุกรม
- Mouffe, C. (2019). For a Left Populism. Brooklyn and London: Verso.