ธีทัต จันทราพิชิต
5 มิถุนายน 2563
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการรวมกลุ่มเป็นจำนวนมาก การพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทในวันที่ 27 พ.ค. 2563 จึงเป็นที่จับตามองว่าจะดำเนินการตามนโยบาย social distancing และมาตรการป้องกันอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุดท่ามกลางสมาชิกผู้แทนราษฏรที่ต้องมารวมตัวกันเกือบ 500 คน และเป็นไปได้หรือไม่ว่าช่องทางดิจิตอลจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้นกับการเมืองการบริหารประเทศ ดังปรากฏในกรณีศึกษาต่างประเทศอย่าง สหราชอาณาจักร และประเทศแคนาดา ที่ได้ทดลองนำการประชุมสภาเข้าสู่ความเป็นดิจิตอลมากยิ่งขึ้น
สหราชอาณาจักรและการทดลองจัด ‘Hybrid’ House of Commons ที่จำกัดให้สมาชิกเพียง 50 คนเข้าประชุมที่เวสมินเตอร์ ส่วนสมาชิกจำนวนอีก 120 คนสามารถเข้าประชุมได้โดยใช้โปรแกรม Zoom ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในแง่การประชุม และแง่ของการดำเนินตามมาตรการ Social Distancing ทว่าสีสันการประชุมอันเป็นลักษณะเด่นของสภาอังกฤษกลับหายไป สิ่งที่ต้องแลกมากับ Virtual Parliament สำหรับสหราชอาณาจักรอย่างน้อยจึงเป็นเรื่องของบรรยากาศในการประชุมที่ชวนดึงดูดให้มีผู้เข้าชมอยู่ตลอด
ในกรณีของประเทศแคนาดาที่ได้มีการจัดประชุม Virtual Parliament เต็มรูปแบบมาแล้วต้องเผชิญกับปัญหาเชิงเทคนิคจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตของผู้เข้าร่วมมีปัญหา ผู้เข้าร่วมไม่คุ้นชินกับโปรแกรมอย่าง Zoom จนไม่รู้จักวิธีเปิดไมโครโฟน กระทั่งไม่ได้ยินเสียงของผู้เข้าร่วมประชุม
นิยามโดยคร่าวของ Virtual Parliament คือ กลวิธีที่ผนวกเอาหลักการเว้นระยะห่างทางสังคมผสานเข้ากับการดำเนินการกิจกรรมทางการเมือง โดยใช้เทคโนโลยีในการช่วยจัดการประชุมผ่านโปรแกรมต่างๆ คล้ายคลึงกับการประท้วงผ่านสังคมออนไลน์ของผู้ชุมนุมชาวฮ่องกง แต่มีความเป็นกลไกเชิงสถาบันมากกว่าเพราะเป็นการเมืองในรัฐสภา
เมื่อวันที่ 18 ม.ย. 2563 มีประกาศพระราชกำหนด ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563[1] เพื่อรองรับการปรับตัวไปสู่ความเป็นดิจิตอลมากยิ่งขึ้นภายใต้สภาวะการณ์วิกฤตในปัจจุบันนี้ มาตรา 4 ได้ให้คำนิยามแก่ “การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” ว่าคือ การประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมที่ได้กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ทว่าในมาตรา 5 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าพระราชกำหนดนี้ไม่ใช้บังคับแก่ (1) การประชุมของสภาผู้แทนราษฏร วุฒิสภา และรัฐสภา จึงทำให้การประชุมสภาเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 นั้นต้องปฏิบัติตามแบบแผนที่เคยทำมา
แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่มีมีแนวคิดในเรื่องของการจัด Virtual Parliament แต่การประชุมสภาสมัยที่ 1 ประจำพ.ศ. 2563 นับว่าเป็นการประชุมสมาชิกผู้แทนราษฎรที่พิเศษกว่าการประชุมสภาโดยทั่วไป เนื่องจากภายใต้มาตรการ Social Distancing เพื่อการลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินในครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยบรรยากาศของความห่างเหินระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็นการที่สมาชิกผู้แทนราษฎรต้องนั่งเว้นระยะห่างคนละหนึ่งเก้าอี้ การลดจำนวนผู้ติดตามทั้งของสมาชิก และผู้ชี้แจ้ง ทั้งผู้เข้าร่วมประชุมยังต้องโดนบังคับใส่หน้ากากอนามัย ยกเว้นในกรณีที่ต้องอภิปรายเพื่อจะสามารถได้ยินเสียงได้อย่างชัดเจน
ในแง่ของการ Social Distancing การประชุมสภาคราวนี้อาจนับว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็แลกมากับปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกที่ทำได้น้อยลงไปตามลำดับ แต่ปัญหาไม่ได้หมดแค่นั้นเพราะการที่ผู้คนไปรวมตัวในสถานที่ที่เดียวกัน แล้วหวังจะไม่ให้มีปฏิสัมพันธ์เป็นไปได้ยากโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เราจึงพบว่าหลายครั้งสุดท้ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายๆ คนก็ไม่ได้มีความระมัดระวังมากเพียงพอที่จะดำเนินการตามมาตรการ Social Distancing ได้อย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้แล้วยังมีปัญาในเรื่องของระบบเสียงภายในห้องประชุม ซึ่งสืบเนื่องจากห้องประชุมพระสุริยันที่ใช้เพื่อการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 นั้นเป็นห้องประชุมใหม่ ปัญหาขัดข้องในเชิงเทคนิค อาทิ ระบบกระจายเสียงที่ก้องมากเกินไปในห้องประชุม และไมโครโฟนที่ทำงานไม่เสถียรเท่าที่ควร จนสมาชิกหลายคนต้องลุกขึ้นแจ้งต่อประธานสภาหลายครั้ง นอกจากนี้หนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังได้แจ้งความประสงค์ให้ทางรัฐสภานั้นหาวิธีกระจายเสียงให้ทั่วถึงไปยังห้องต่างๆ ในรัฐสภาแห่งนี้ เพื่อให้เพื่อนสมาชิกที่อยู่นอกห้องประชุมนั้นสามารถติดตามการประชุมได้แม้ว่าตัวจะไม่อยู่ในห้องพระสุริยันก็ตาม
การประชุมสมัยแรกของปี 2563 ที่ผ่านมานั้น สมาชิกจำนวนมากเลือกที่จะเข้าประชุม แต่ไม่อยู่ในห้องประชุม เนื่องจากข้อบังคับประชุมสภา พ.ศ. 2562[2] ข้อ 25 ที่กล่าวไว้ว่า สมาชิกต้องลงชื่อเข้าประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดจึงจะครบองค์ประชุม ทว่าไม่ได้มีข้อกำหนดให้สมาชิกทุกคนเข้าร่วมการประชุมตลอดเวลา จึงเห็นที่ว่างในห้องประชุมจำนวนมากแม้ว่าจำนวนผู้ลงชื่อจะมีมากก็ตาม สิ่งที่ปรากฏย่อมไม่ใช่เหตุการณ์ใหม่ในประวัติศาสตร์ของการประชุมสภาของไทย ทว่าเมื่อเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ให้ความสำคัญต่อการบริหารกลุ่มคนจำนวนมากแล้วจึงเกิดเป็นคำถามต่อการประชุมสภาของสมาชิกผู้แทนราษฏรว่าจะยังคงดำเนินการแบบเดิมต่อไปได้หรือไม่ การประชุมสภาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงคำถามที่ว่า
1. สมาชิกจำนวนมากเลือกที่จะไม่อยู่ในห้องประชุมตลอดเวลา อาจจะกล่าวได้ว่าสืบเนื่องจากมาตรการ Social Distancing จึงกระจายไปนั่งยังบริเวณห้องอื่นๆ ภายในรัฐสภาแทน และจะเข้ามายามที่จำเป็นจะต้องอภิปรายเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ยังได้แจ้งความประสงค์ต่อประธานสภาให้ติดตั้งเครื่องมือเพื่อที่จะรับฟังการประชุมจากห้องอื่นๆ ฉะนั้นแล้วจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดประชุมเพื่อไม่ให้เหล่าสมาชิกต้องมารวมตัวกันที่รัฐสภาเพื่อก่อให้เกิดความเสี่ยง แม้จะมีการกระจายตัวไปยังห้องต่างๆ ที่ไม่ใช่ห้องประชุมแต่ความเสี่ยงของการรวมตัวของคนกว่า 400 ชีวิตในที่เดียวกันนั้นก็ยังเสี่ยงมากที่จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อหรือไม่?
2. การเว้นที่นั่ง หรือการใส่แมส สามารถลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้จริงหรือ? เมื่อสังเกตจากการถ่ายทอดสดการประชุมสภาจะเห็นว่าเหล่าสมาชิกรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เดินพูดคุย เข้าออกจากห้องประชุมเหมือนในสถานการณ์ปกติ มีเพียงแค่ช่วงเวลาที่นั่งเพื่อฟังการอภิปรายภายในห้องเท่านั้นที่มีการเว้นระยะห่างกันพอสมควร
เมื่อพิจารณาดูแล้ว การนำการประชุมสภาเข้าสู่ฐานความเป็นออนไลน์มากยิ่งขึ้นอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อยกระดับความพยายามในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ หากแต่ปัญหาและข้อกังวลของการย้ายจากฐานออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังในกรณีตัวอย่างของประเทศแคนาดาที่เผชิญกับปัญหาทางเทคนิค การประชุมสภาที่ผ่านมาของไทยแม้จะเป็นการเข้าประชุมแบบดั้งเดิมแต่ยังมีอุปสรรคในเรื่องเสียงอยู่ไม่น้อย จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่าถ้ายิ่งย้ายไปสู่การเป็น virtual parliament จะยิ่งมีปัญหาและอุปสรรคมากกว่านี้หรือไม่
นอกจากเรื่องของปัญหาขัดข้องทางเทคนิดแล้ว ในอีกแง่หนึ่ง การประชุมอยู่บ้านทำให้ความเป็นทางการของผู้เข้าร่วมจะลดลงไปไม่มากก็น้อย การประชุมแบบ Virtual Parliament จึงยังไม่สามารถแทนที่การประชุมสภาที่ต้องพบปะกันทางกายภาพได้อย่างสมบูรณ์ และยังมีปัญหาเรื่องอื่นๆ ที่ต้องคิดต่อไป อาทิ การลงคะแนนเสียงกรณีผ่านร่างกฎหมายหรือญัตติต่างๆ แต่แม้จะมีข้อเสียอยู่ก็จริง เราก็ไม่สามารถปฏิเสธไได้ว่าการประชุมสภาแบบ Virtual Parliament ก็ยังเป็นทางเลือกในการประชุมสภาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในยามวิกฤตที่ต้องอาศัยมาตรการ Social Distancing เพื่อรักษาความปลอดภัย เช่นในขณะนี้
อ้างอิง
Castle, S. (2020, April 15). For the Foreseeable Future, U.K. Parliament May Meet in Cyberspace. Retrieved from https://www.nytimes.com/2020/04/15/world/europe/uk-parliament-cyberspace.html
Coronavirus: Speaker outlines plans for ‘virtual’ Parliament. (2020, April 14). Retrieved from https://www.bbc.com/news/uk-politics-52282817
Hoyle, L. (2020, April 29). Challenging times: How to get a virtual Parliament up and running during the coronavirus pandemic. Retrieved from https://www.wfd.org/2020/04/29/challenging-times-how-to-get-a-virtual-parliament-up-and-running-during-the-coronavirus-pandemic/
Tumilty, R. (2020, April 29). COVID-19 Canada: First ‘virtual parliament’ brings accountability with a few technical headaches. Retrieved from https://nationalpost.com/news/politics/covid-19-canadian-politics-first-virtual-parliament-brings-accountability-with-a-few-technical-headaches
UK Parliament (2020, April 16). House of Commons takes historic first step towards virtual proceedings from https://www.parliament.uk/business/news/2020/april1/hybrid-house-of-commons/
[1] ‘พระราชกำหนด ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563’ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนที่ 30 ก หน้า 20 ณ วันที่ 18 เมษายน 2563 สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0020.PDF
[2] ‘ข้อบังคับ การประชุมสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2563’ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 216 ง หน้า 23 ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2562 สืบค้นจาก https://library2.parliament.go.th/giventake/content_give/force-hr2562.pdf