Articles

มรดกยุคสงครามเย็นที่ชื่อว่าการก่อการร้ายโดยรัฐ

ธีทัต จันทราพิชิต
13 มิถุนายน 2563


หากเราต้องการจะเข้าใจว่าเหตุใดรัฐไทยปัจจุบันถึงมีหน้าตาแบบทุกวันนี้ สิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือ การทำความเข้าใจอิทธิพลของสงครามเย็นที่มีต่อพัฒนาการของรัฐไทย และแม้ทุกวันนี้สงครามเย็นจะสิ้นสุดไปเกือบสามทศวรรษ แต่สงครามเย็นก็ยังมีผลต่อการตัดสินใจในด้านความมั่นคงของรัฐไทยอยู่ไม่เสื่อมคลาย และไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่หนึ่งในมรดกที่ประเทศไทยได้รับเป็นอย่างมากจากสงครามเย็นคือ กลวิธีการเคลื่อนไหวที่สามารถเรียกได้เต็มปากว่ามีลักษณะเป็น “การก่อการร้ายโดยรัฐ(state terrorism)”

โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงการก่อการร้ายภาพจำมักจะเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐ แต่ในความเป็นจริงการก่อการร้ายไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐเท่านั้น เพราะตัวแสดงที่เป็นรัฐก็สามารถก่อการร้ายได้ไม่ต่างกัน โดยศัพท์ภาษาอังกฤษของการก่อการร้ายคือ terrorism ซึ่งมีรากศัพท์ผูกกับคำว่าterrorหรือความหวาดกลัว การก่อการร้ายจึงเชื่อมโยงกับการทำให้หวาดกลัวอย่างเลี่ยงไม่ได้

 อันที่จริงแล้วความหมายของคำว่า “การก่อการร้าย” ในระยะแรกเป็นความหมายที่ผูกติดกับการกระทำของรัฐมากกว่าตัวแสดงภายนอกรัฐเสียด้วยซํ้า โดยมีการใช้ครั้งแรกในสมัยยุคสมัยแห่งความหวาดกลัว (Reign of Terror) โดยรัฐบาลฝรั่งเศสในยุคปฏิวัติ[1]ที่นำมาสู่การตายของคนจำนวนมหาศาล ทว่าเนื่องจากพลวัตของโลกคำว่าการก่อการร้ายค่อยๆ เป็นที่เข้าใจกันในหมู่คนทั่วไปถึงการกระทำที่สร้างความหวาดกลัวโดยตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในช่วงศตวรรษที่19ทิ้งไว้แต่มิติของรัฐในฐานะตัวแสดงที่คอยปกปักษ์พิทักษ์ความปลอดภัยของประชาชน ไม่ใช่ผู้สร้างความหวาดกลัวโดยตัวเอง

 สำหรับประเทศไทย การก่อการร้ายกลายเป็นที่รู้จักในช่วงทศวรรษที่ 2510 โดยถูกใช้อธิบายตัวแสดงทางการเมืองที่ไม่ใช่รัฐ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่คำว่าการก่อการร้ายเริ่มปรากฎในสังคมไทย เราก็พบว่าหลายครั้งรัฐไทยได้กระทำสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวไม่ต่างจากขบวนการก่อการร้ายเสียด้วยซํ้า โดยเฉพาะเมื่อต้องต่อกรกับขบวนการคอมมิวนิสต์ 

 เนื่องจากความพยายามของสหรัฐอเมริกาเพื่อยับยั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียต ทำให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความมั่นคง ทำให้ประเทศไทยเรียนรู้วิธีจัดการคอมมิวนิสต์จากองค์กรความมั่นคงของสหรัฐ แน่นอนลักษณะของการจัดการกับคอมมิวนิสต์ที่ถูกจัดตั้งโดยองค์กรความมั่นคงของสหรัฐอเมริกานั้นจะมีลักษณะที่ดูโหดร้ายรุนแรง และน่าหวาดกลัว จนเข้าข่ายสิ่งที่เรียกกันว่าก่อการร้ายโดยรัฐ

 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามักถูกกล่าวหาเป็นรัฐที่ทำการก่อการร้าย หรือเป็นผู้ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายโดยรัฐมาโดยตลอด โดยเฉพาะในหมู่นักคิดปัญญาชนฝ่ายซ้าย

 โนม ชอมสกี (Noam Chomsky) ศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำคณะภาษาศาสตร์และปรัชญา สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) เคยให้สัมภาษณ์ถึงการแทรกแซงในประเทศอื่นเพื่อยับยั้งภัยคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกาเพื่อไม่ให้ประเทศเหล่านั้นตกไปอยู่ในมือพวกรัสเซีย โดยไม่เลือกวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มฆ่า การทำให้อดอยาก ไปจนถึงการใช้แรงงานเยี่ยงทาส [2]

ตัวอย่างการเข้าแทรกแซงของสหรัฐในช่วงสงครามเย็นมีเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะกรณีในลาตินอเมริกา หรือประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ซึ่งประเทศหลังอาจสามารถพูดได้ว่าการสนับสนุนกองทัพอินโดนีเซียโดยสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดเหตุสังหารคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนหลักแสนไปจนถึงหลักล้าน โดยที่สหรัฐนิ่งเฉย และไม่แสดงท่าทีใดๆ ทั้งสิ้น[3]

กรณีการกระทำที่เรียกได้ว่าเป็นการก่อการร้ายโดยรัฐของประเทศไทยก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับสหรัฐไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทั้งด้านอาวุธและทรัพยากรให้แก่ตำรวจในช่วงทศวรรษที่ 2490[4]จนนำมาสู่ยุคสมัยแห่งการเป็นรัฐตำรวจที่คอยกำจัดศัตรูทางการเมืองของประเทศไทย หรือการก่อตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)[5]ซึ่ง กอ.รมน.จะมีบทบาทในการจัดตั้งกลุ่มรักชาติหัวรุนแรงอย่าง นวพล กับ กระทิงแดงในเวลาต่อมา[6]ขณะเดียวกันหน่วยงานความมั่นคงอย่างกองทัพก็มีวิธีคิดที่มุ่งจัดการภัยคอมมิวนิสต์ด้วยกลวิธีแบบทหารที่เต็มไปด้วยความป่าเถื่อน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำชำเรา กระทั่งการปล้นสะดม[7]ยุทธวิธีเพื่อนำมาสู่ความมั่นคงดังกล่าวทำให้เกิดเหตุการณ์อย่าง “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” คือ การเผาผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ให้ตายทั้งเป็น[8]

แม้ว่าสงครามเย็นจะผ่านมาเกือบสามสิบปี แต่ความคิดของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยก็ยังยึดติดอยู่กับการจัดการคอมมิวนิสต์ เห็นได้จากวิวาทะของพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2561 และพ.ศ. 2562[9]ที่เป็นโวหารที่เต็มไปด้วยกลิ่นของสงครามเย็น รวมถึงการฟื้นคืนชีพขององค์กรอย่าง กอ.รมน. คือ ตัวอย่างวิธีคิดที่มองว่าทุกเหตุการณ์วิฤกตทางการเมืองที่ดำเนินมากว่าสิบปีมีลักษณะเหมือนสงครามเย็นที่มีภัยคุกคามจากภายนอกเข้ามาประชิด มรดกของวิธีคิดเช่นนี้ทำให้เกิดกรณีอุ้มหายคนจำนวนมาก แม้แต่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่เว้น รวมถึงการสร้างความหวาดกลัวด้วยวิธีการต่างๆ การปิดข่าว และการสร้างความแตกแยกเพื่อปลุกมวลชนมากำจัดคนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง 

            สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เหตุการณ์อุ้มหาย อันเป็นตัวอย่างของการก่อการร้ายโดยรัฐเพื่อความมั่นคงลดลงจึงต้องเป็นการปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงไปจนถึงรากฐานความคิด เพราะสิ่งสำคัญสำหรับความมั่นคงไม่ใช่แค่ชาติ แต่คือสิ่งที่ทำให้ชาติเกิดขึ้นที่เรียกว่า “ประชาชน”


[1]Duncan, K. (2011). A Blast from the Past: Lessons from a Largely Forgotten Incident of State-Sponsored Terrorism. Perspectives on Terrorism, 5(1), 3-21. Retrieved June 9, 2020, from http://www.jstor.org/stable/26298499

[2] Dieterich, H. (1985). Global U.S. State Terrorism: An Interview With Noam Chomsky. Crime and Social Justice,(24), 96-109. Retrieved from http://www.jstor.org/stable/29766271

[3] Beech, H. (2017, October 18). U.S. Stood By as Indonesia Killed a Half-Million People, Papers Show. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/10/18/world/asia/indonesia-cables-communist-massacres.html

[4]คริส เบอเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557).ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: มติชน หน้า 228

[5]เรื่องเดียวกัน, หน้า 278

[6]เรื่องเดียวกัน,หน้า 289

[7]เรื่องเดียวกันหน้า 277

[8]นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (ม.ป.ป.). เหตุการณ์ถีบลงเขา เผาลงถังแดง. เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2_%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87

[9] อภิรัชต์ คงสมพงษ์ : ชี้นักธุรกิจการเมือง นักวิชาการฝักใฝ่คอมฯ “คุกคามความมั่นคง”. (11 ตุลาคม 2562). เข้าถึงจากhttps://www.bbc.com/thai/thailand-50009884

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

%d bloggers like this: