ณพจักร สนธิเณร
29 มกราคม 2563

การเมืองไทยหลัง #การเลือกตั้ง62 ที่เริ่มปรากฏเค้าลางที่ชัดเจนว่ากระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยซึ่งก็คือการเลือกตั้ง และกระบวนการทางรัฐสภายังไม่สามารถบรรเทาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศลงไปได้ วาทกรรมใหม่ที่แบ่งกลุ่มทางการเมืองเป็นฝ่ายเผด็จการ กับฝ่ายประชาธิปไตย ขยายไปสู่การแบ่งฝ่ายในสังคมเช่นเดียวกัน ร่วมกับเงื่อนไขต่างๆ เช่น จึงเริ่มปรากฏ #การเมืองลงถนน การเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนน หรือการชุมนุมที่นำโดนนักการเมืองกลับมาอีกครั้งภายใต้การนำของพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกจับตาอย่างคาดหวังผลจากพี่ใหญ่ที่มากด้วยประสบการณ์อย่างพรรคเพื่อไทย #สู้ไม่ถอย #กลัวที่ไหน ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 62 แล้วมีหรือที่มิตรรักแฟนเพลงอย่างผู้สนับสนุนพรรคประชารัฐจะทนนิ่งเฉยอยู่ได้
เมื่อเราตื่นแต่เช้ามืดไปที่สวนรถไฟ #วิ่งไล่ลุง กิจกรรมวิ่งแสดงออกความคิดทางการเมืองสร้างสรรค์ที่เป็นกระแส (แม้ผู้จัดงานจะขออนุญาตเป็นกิจกรรมออกกำลังกาย) มีเวทีกลางที่พิธีกรดำเนินรายงาน เชิญชวนให้ผู้มาวิ่งมีความรู้สึกร่วมในการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของตนเองในครั้งนี้ การเสียดสี อย่างเช่น ‘วิ่งไปเขย่งไปแบบกกต.’ หรือนาฬิกาจับเวลาวิ่งที่มีคำเขียนว่า ‘ยืมเพื่อนมา’ ไม่ว่าจะเป็น เรียกสีสัน และความสนใจของคนทั่วไป เป็นมุกแบบที่เรามักจะเห็นกันได้ในงานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ แม้จะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในการจัดงานครั้งนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรณิกา วาณิช จากพรรคอนาคตใหม่ก็ได้มาปรากฏตัวเป็นผู้ร่วมนำวิ่ง ร่วมกับบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ซึ่งเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก ทว่ายังมีความวุ่นวายที่ทางทีมผู้จัดงานยังไม่สามารถจัดการได้ดีเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับสื่อมวลชนที่ต้องการถ่ายภาพ หรือเจ้าหน้าทีอาสาที่ไม่สามารถควบคุมผู้เข้าร่วมที่มีจำนวนมากได้
หรือเราจะนั่งรถไฟฟ้าไปที่สวนลุมฯ #เดินเชียร์ลุง การกลับมาของการชุมนุมทางการเมือง ของกลุ่มผู้ชุมนุมชาวกรุงเทพฯ (ศิษย์เก่ากปปส.) ก่อนการรัฐประหาร 57 สาเหตุที่เรียกว่าการกลับมาเพราะผู้จัดกิจกรรมนี้สื่อสารอย่างตรงมาตรงไปว่า นี่คือการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกของการชุมนุมกลุ่มนี้คือต้องการส่งเสียงสนับสนุนไปยังนายกรัฐมนตรี “ลุงตู่” ซึ่งจัดขึ้นได้อย่างประสบความสำเร็จตามมาตรฐานของนักจัดการชุมนุมใหญ่แบบกปปส. ด้วยประสบการณ์การชุมนุมครั้งก่อนที่ยาวนานกว่า 6 เดือน การแบ่งหน้าที่เป็นหัวใจสำคัญ เราจะเห็น เบญญา นันทขว้าง เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่คอยดูแลการชุมนุม นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่มกลุ่มรักษาความปลอดภัย (การ์ด) กลุ่มอำนวยการ (การลงทะเบียน แจกของ การรักษาความสะอาด ฯลฯ ) กลุ่มหมอและพยาบาล และกลุ่มการบันเทิง (อาหารดี ดนตรีไพเราะ) จะขาดไปเสียก็แต่โรงครัว กปปส. ที่มีทั้งอาหารปักษ์ใต้อาหารอีสานจากพ่อครัวแม่ครัวฝีมือดี กิจกรรมการแสดงออกและการเดินขบวนนำโดยบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่แต่ละคนต่างก็ได้เคยปะทะกับฝ่ายตรงข้าม (ในโซเชียล) มาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็น หฤทัย ม่วงบุญศรี นพ.เหรียญทอง แน่นหนา และร้อยเอก ทรงกลด ชื่นชูผล (ผู้กองปูเค็ม)
แล้วเราควรจะไป #วิ่งไล่ลุง หรือ #เดินเชียร์ลุง การสร้างความแตกต่างแบบ แบรนด์-รอยัลตี้ ของ 2 กลุ่มการชุมนุมครั้งนี้ เต็มไปด้วยการใช้สัญลักษณ์เพื่อแสดงออกที่แตกต่างกัน เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความแตกต่างของมวลชนที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังนักการเมืองของตน ถ้าเราไป #วิ่งไล่ลุง สินค้า และอุปกรณ์ประกอบฉากจำนวนมากในงาน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ ป้ายตกแต่งทั่วงาน ที่ต่อต้านรัฐบาลประกอบกับการเปิดดนตรีเพลงแร็พ (ที่พยายามจะสื่อความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง) แบบ #ประเทศกูมี ที่ทำให้คิดว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงประเทศแบบที่เรียกว่า #ชังลุงไม่ชังชาติ แต่ถ้าไป #เดินเชียร์ลุง เราก็จะเห็นการสัญลักษณ์ในทิศทางตรงกันข้าม คือ เชียร์ลุง รักลุงตู่ อยากให้ลุงตู่อยู่ยาว บนเสื้อและหมวกที่สกรีนว่า “เดินเชียร์ลุง” เราจะเจอกับผู้ชุมนุมที่มาเป็นครอบครัวและสวมเสื้อหรือเครื่องแต่งกายเพื่อแบบ กปปส. ที่ตกแต่งตัวเองด้วยเครื่องประดับและโบว์ลายธงชาติ
คำตอบที่ค้นพบคือ ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน ไม่ว่าเราจะสนับสนุนใคร ไม่ว่าวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมาเราจะเลือกไป #วิ่งไล่ลุง หรือ #เดินเชียร์ลุง เราจะไม่เหงาอย่างแน่นอน จากการสังเกตการณ์เราไม่พบถึงความแตกต่างอย่างสุดขั้วของการชุมนุมทั้ง 2 แห่ง ในลักษณะของการจัดกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าเราจะไปที่สวนรถไฟหรือสวนลุมฯ เราก็จะเจอกับกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกับเรา ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่ดีว่า ที่จริงแล้วความแตกต่างทางอุดมการณ์หรือกลุ่มการเมืองในสังคมไทย ยังไม่ได้ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งระหว่างรุ่น (วัย) แบบ #clashofgeneration ที่สำคัญคือเมื่อเรากลับไปใช้ชีวิตประจำวันก็อย่าเผลอชักสีหน้าใส่เพื่อนที่ติดเข็มกลัดเดินเชียร์ลุง หรือเพื่อนแขวนเหรียญตาใสแล้วกัน #peaceout
There’s no content to show here yet.